มีหลักฐานทางการแพทย์จำนวนมากบ่งบอกว่า การขาดโฟลิกทำให้เกิดโรคหลอดประสาทไม่ปิด เช่น ผู้ป่วยที่ใช้ยาที่มีฤทธิ์ต้านโฟลิก เช่น ยากันชัก หรือยาเคมีบำบัดกลุ่ม Metrotrexate ที่มีส่วนประกอบของ Dihydrofolate reductase inhibitor เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดประสาทไม่ปิด และผู้หญิงที่มีลูกเป็น โรคหลอดประสาทไม่ปิด มักมีโฟลิกในเม็ดเลือดแดงต่ำ
โรคหลอดประสาทไม่ปิด เป็นความพิการแต่กำเนิดที่รุนแรง เกิดจากความบกพร่องของการปิดของหลอดประสาทที่ปลายด้านบนหรือล่างในสัปดาห์ที่ 3-4 หลังการตั้งครรภ์ และมีโอกาสเกิดได้กับประชากรทั่วโลก ในทวีปยุโรปมีความชุกประมาณ 1 ราย ต่อการเกิด 1,000 ราย
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทางการแพทย์รับรองว่า การเสริมโฟลิก ในช่วงก่อนตั้งครรภ์ และการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก จะช่วยลดการเกิด โรคหลอดประสาทไม่ปิดในทารกได้มากถึง 72%
ดังนั้นการให้โฟลิกเสริมกับผู้หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกจึงมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งยังหารับประทานได้ง่ายและราคาไม่แพง โดยแนะนำให้รับประทานโฟลิกวันละ 0.4 มิลลิกรัม อย่างน้อย 30 วันก่อนตั้งครรภ์และในไตรมาสแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด โรคหลอดประสาทไม่ปิดในเด็กทารก ได้แก่
ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงควรรับประทานโฟลิกวันละ 4 มิลลิกรัมอย่างน้อย 30 วันก่อนตั้งครรภ์ และในไตรมาสแรก โดยการรับประทานโฟลิกวันละ 0.4 มิลลิกรัม เป็นเวลานานเป็นปีนั้นไม่มีอันตรายใด ๆ ต่อสุขภาพ แม้ในประเทศที่มีการเสริมสารอาหารที่จำเป็นลงในอาหาร ทั้งนี้ประโยชน์ของการรับประทานโฟลิกเสริมไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยงของ โรคหลอดประสาทไม่ปิด แต่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ปากแหว่ง เพดานโหว่ ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย การคลอดก่อนกำหนด และ Autism ได้อีกด้วย
รักลูก Community of The Experts
พญ.พลอยนิล พุทธาพิทักษ์พงศ์
ศูนย์สูตินรีเวช ศูนย์วินิฉัยทารกในครรภ์ โรงพยาบาลพระรามเก้า