ปวดท้องน้อยหลังคลอด อาการปกติหรืออันตรายที่แม่หลังคลอดต้องรู้
Q : ดิฉันเพิ่งคลอดลูกและทำหมันเลย รู้สึกเจ็บภายใน และท้องก็ไม่ยุบลงเลย อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วจะทำอย่างไรได้บ้างคะ อีกทั้งน้ำคาวปลาก็ไม่ค่อยออก เป็นเพราะดื่มน้ำเย็นหรือเปล่า แล้วควรดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างไร
กาญจนา / กทม.
A : อาการเจ็บตึงภายในเป็นอาการปกติที่พบได้หลังทำหมันค่ะ เพราะแพทย์จะเย็บผูกบริเวณท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง ทำให้เกิดอาการปวดตึงได้ เมื่อเวลาผ่านไปแผลเริ่มหาย อาการเจ็บตึงจะดีขึ้นได้เองค่ะ
ส่วนกล้ามเนื้อหน้าท้องที่มีการยืดขยายตัวออกมานานจากการตั้งครรภ์ 9 เดือน จะต้องใช้เวลาในการหดตัวกลับสู่สภาพเดิม ทั้งนี้ คุณกาญจนาจะต้องช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ และจะต้องเป็นท่าที่บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง ให้มีความกระชับและแข็งแรงมากขึ้น อาจจะเป็น sit up-sit down ซึ่งเป็นท่ามาตรฐานที่ใช้กันในการลดกล้ามเนื้อหน้าท้อง และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนนี้ค่ะ
โดยปกติมดลูกจะเริ่มเข้าอู่และคลำไม่พบทางหน้าท้องในช่วง 2 สัปดาห์ และลงไปอยู่ในอุ้งเชิงกรานในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ส่วนน้ำคาวปลาจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ ในช่วงหลังคลอด โดยช่วง 3 วันแรก น้ำคาวปลาจะมีสีแดงเข้มเหมือนเลือด เพราะเป็นส่วนของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ตายและลอกหลุดออกมา ในวันที่ 4-10 สีจะจางลงคล้ายสีน้ำเหลือง จากนั้นจะเป็นสีมูกขาวออกใสขึ้นเรื่อยๆ ในคุณแม่ที่ได้รับการผ่าตัดคลอดจะมีปริมาณคาวปลาน้อยกว่าคุณแม่ที่คลอดเอง เพราะในช่วงผ่าตัดคลอด แพทย์จะเช็ดในโพรงมดลูกทำให้น้ำคาวปลามีปริมาณน้อยลง ไม่เกี่ยวกับการดื่มน้ำเย็นเลยค่ะ
ในช่วงที่คุณกาญจนาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว ไม่เลี้ยงด้วยนมผสม จะไม่มีประจำเดือนมาเลยตลอดเวลา 6 เดือน เพราะการที่ลูกดูดนมแม่จะไปยับยั้งการตกไข่ได้ แต่หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว อาจมีไข่ตกและมีประจำเดือนมาได้ แม้ว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ตาม ถ้าคุณแม่ไม่ได้รับการทำหมันจึงจำเป็นต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย แต่ถ้าคุณกาญจนาไม่ได้ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เลย ประจำเดือนอาจจะมาได้เร็วที่สุดในช่วง 1 เดือนหลังคลอด เนื่องจากมีไข่ตกได้เร็วกว่าปกติค่ะ
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตลอดเวลา จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น คุณแม่มีรูปร่างที่สวยงาม กระชับและสมส่วนเร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นวิธีที่ลดน้ำหนักที่ดีวิธีหนึ่งในช่วงหลังคลอดด้วย น้ำคาวปลาก็จะหมดไปเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีค่ะ
ในสมัยไทยโบราณสตรีหลังคลอดจะต้องได้รับการ “อยู่ไฟ” หรือ “อยู่เดือน” เพื่อพักฟื้นและทำให้ร่างกายกลับสู่สภาพปกติในช่วงหลังคลอด บางคนเรียกหญิงที่อยู่เดือนหลังคลอดว่า “แม่กำเดือน” หรือ “อยู่กำ” แต่หมอว่าน่าจะเรียกว่า “อยู่กรรม” มากกว่า เพราะตามประเพณีดั้งเดิมมีข้อห้ามและข้อที่ต้องปฏิบัติมากมายหลายอย่าง ทำให้รู้สึกอึดอัด คล้ายมีกรรมเก่า เหมือนเป็นนักโทษถูกขังคุก เช่น ห้ามขึ้นลงบันไดเพราะกลัวว่ามดลูกจะเคลื่อนลงมา ห้ามสระผมตลอดเวลา 1 เดือน เพราะกลัวว่าจะปวดศีรษะ หรือปวดหลังได้เมื่ออายุมากขึ้น ต้องอาบน้ำต้มสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน ห้ามอาบน้ำเย็น เพราะจะมีอาการไม่สบายตัว นอกจากนี้ยังห้ามกินไข่ หน่อไม้ เพราะกลัวว่าแผลจะปูด เป็นหนอง ให้กินแต่ข้าวคลุกเกลือ อยู่ไฟเสียเหงื่อมาก และห้ามดื่มน้ำเย็นเพราะกลัวว่าจะไม่สบาย ซึ่งล้วนเป็นความเชื่อที่ผิดทั้งสิ้น
หลังคลอดคุณกาญจนาสามารถปฏิบัติตนได้ปกติ กินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ดื่มน้ำบริสุทธิ์ให้มากจะเป็นน้ำเย็นหรือน้ำอุ่นก็ได้ อาบน้ำสระผมให้สะอาด เพราะถ้าตัวสกปรกมีน้ำนม น้ำคาวปลาเปรอะเปื้อนตัวตลอดเวลา ก็จะทำให้ไม่สบายตัว เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่อทั้งตัวคุณกาญจนาและลูก พยายามขับถ่ายให้เป็นเวลา ดูแลอนามัยส่วนตัวให้ดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายหรือทำกายบริหารให้สม่ำเสมอ ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส เท่านี้คุณกาญจนาก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรง และสุขภาพจิตที่ดีในช่วงหลังคลอดแล้วค่ะ
รศ.พญ.สายฝน ชวาลไพบูลย์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล