โรคพิษสุนัขบ้า รักษาไม่หาย อันตรายถึงชีวิต
โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคเป็นโรคติดเชื้อระบบประสาทจากสัตว์สู่คน สามารถติดต่อได้จากน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ เพียงแค่ถูกสัตว์มากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่เป็นบาดแผลก็ทำให้ติดเชื้อได้ นอกจากนี้เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้ายังแพร่เข้าทางเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก ปาก ของเราได้อีกด้วย
สััตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า
ในประเทศไทยโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่มักเกิดจากการถูกสุนัขกัด แต่ในความเป็นจริงแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น หมา แมว ค้างคาว ลิง ชะนี หรือสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก กระต่าย กระแต หนู หรือแม้แต่ วัว ควาย ก็มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน
โรคพิษสุนัขบ้ารักษาไม่หาย อันตรายถึงชีวิต
เมื่อถูกกัดหรือถูกข่วนจากสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า อาการที่เกิดขึ้นจะมีด้วยกัน 3 ระยะ คือ
ระยะเริ่มต้น มีเวลาประมาณ 2-10 วัน จะมีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ บางคนอาจมีอาการเสียแปล๊บคล้ายเข็มทิ่มหรือคันมากบริเวณที่ถูกกัด
ระยะที่มีอาการทางสมอง มักเกิดขึ้นภายใน 2-7 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก เพราะกล้ามเนื้อที่ลำคอและกล่องเสียงหดเกร็งตัว อยากดื่มน้ำแต่กลืนไม่ได้ทำให้มีอาการกลัวน้ำ ผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ประสาทสัมผัสจะไวต่อการกระตุ้น ทำให้ตกใจง่ายและสะดุ้งผวาเมื่อถูกลม หรือได้ยินเสียงดัง
ระยะสุดท้าย ผู้ติดเชื้อจะมีอาการหัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
เมื่อถูกหมาจรจัดหรือสัตว์เลี้ยงในบ้านกัด ข่วน หรือเลียแผล ต้องทำดังนี้
- ล้างแผลด้วยน้ำสบู่หลายๆ ครั้ง อย่างเบามือเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
- เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ เบตาดีน หรือ น้ำเกลือ ที่มีอยู่ที่บ้าน
- รีบไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนทันที
วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้ารักษาไม่หาย แต่สามารถป้องกันได้ โดย
- นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- สอนลูกไม่แหย่สัตว์เลี้ยง ไม่เหยียบหาง ไม่หยิบจานข้าวหรืออาหารขณะหมาหรือแมวกำลังกิน ไม่แยกสัตว์เลี้ยงที่กำลังกัดกัน และไม่ยุ่งกับสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีเจ้าของ
- ระวังเด็กๆ ไม่ให้เล่นคลุกคลีกับหมาแมวจรหรือสัตว์เลี้ยงที่ไม่แน่ใจว่าได้รับการฉีดวัคซีนหรือยัง
- ทิ้งขยะและกำจัดเศษอาหารให้ถูกวิธี ป้องกันหมาแมวจรมาคุ้ยเขี่ย ลดโอกาสที่บ้านเราจะเป็นแหล่งอาหารของสัตว์จรจัด ลดโอกาสที่สัตว์เหล่านี้จะไปกัดคนและช่วยป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้
- เมื่อพบเห็นสัตว์ทีมีอาการคล้ายโรคพิษสุนัขบ้า เช่น ซึม น้ำลายฟูมปาก นี้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อบต. อบจ. ทราบเพื่อดำเนินการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าไม่ให้แพร่ในชุมชน
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่สามารถเกิดได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงหน้าร้อนจะมีสถิติการป่วยมากกว่าเนื่องจากเป็นช่วงที่ตรงกับปิดเทอม มีเด็กอยู่บ้านและคลุกคลีกับสัตว์เยอะ จึงทำให้มีโอกาสเกิดโรคนี้มากขึ้นนั่นเองค่ะ
อ้างอิง : โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามคำแหง โรงพยาบาลสมิติเวช