ห้ามอาบน้ำหลังคลอด ต้องกินยาขับน้ำคาวปลา หลังคลอดจะเป็นไข้ ฯลฯ มีความเชื่อหลังคลอดอะไรบ้างที่แม่ต้องรู้ว่าจริงหรือเท็จ เพื่อดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง
ไม่จริง การผ่าคลอดทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังหน้าท้องซึ่งเจ็บมากกว่า ส่วนแผลที่ช่องคลอดจากการคลอดธรรมชาติเป็นแผลบริเวณเยื่อบุ เหมือนในกระพุ้งแก้มหรือในลิ้น ซึ่งจะมีเลือดมาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก การซ่อมแซมของแผลจึงหายเร็วกว่า และการเจ็บปวดก็จะน้อยกว่า ส่วนการลดหุ่นไม่ว่าจะคลอดโดยวิธีใด การลดน้ำหนักจะลดเองตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ตามขนาดมดลูกที่เล็กลง รวมทั้งการดูแลร่างกายและกิจกรรมหลังคลอด เช่น เลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ ควบคุมอาหารหรือไม่ รวมทั้งเรื่องการออกกำลังกายด้วย
ไม่จริง เพราะแผลฝีเย็บบริเวณปากช่องคลอดเป็นแผลบริเวณเยื่อบุ ซึ่งจะมีเลือดมาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ทำให้แผลหายเร็ว ประมาณ 3-5 วันจะมีอาการปวดแผลฝีเย็บและแผลก็เริ่มติดกัน 5-7 วันแผลจะเริ่มหายสนิทดี อย่างมากที่สุดแผลจะหายสนิทเลยภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าอาการปวดแผลฝีเย็บนานกว่า 1 สัปดาห์ อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีก้อนเลือดคั่งอยู่ใต้แผล แผลแยก หรือแผลติดเชื้อ เป็นต้น
การดูแลแผลก็แค่ทำความสะอาดในขณะอาบน้ำตามปกติ ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งที่ปัสสาวะหรืออุจจาระ เช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดจากช่องคลอดไปทางทวารหนัก ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาอะไรเป็นพิเศษ อาบน้ำตามปกติวันละ 2 เวลาเท่านั้น
จริง เพราะหลังคลอดลูกแล้ว มดลูกจะค่อย ๆ หดรัดตัวเองเพื่อให้กลับมามีขนาดปกติ ในระหว่างที่มดลูกบีบตัวเพื่อให้หดตัวเล็กลง ก็จะทำให้เกิดอาการปวดที่มดลูกได้เป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ ในระหว่างให้นมลูกจะมีการหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซินซึ่งช่วยให้มดลูกหดตัวดีขึ้น และในขณะที่มดลูกหดตัว บีบตัว จะมีอาการปวดที่มดลูกเป็นธรรมดา ในระหว่างที่ให้นมอยู่จะมีอาการปวดมดลูกเป็นพัก ๆ ซึ่งกลไกตามธรรมชาตินี้ถือเป็นเรื่องปกติและมีประโยชน์ เพราะการบีบตัวของมดลูกนอกจากจะช่วยเรื่องการหดตัวของมดลูกแล้ว ยังช่วยขับน้ำคาวปลา และช่วยยับยั้งไม่ให้มีการตกเลือดหลังคลอดด้วย ดังนั้น ถ้าคุณแม่ปวดมดลูกก็ทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้
ไม่จริง การอยู่ไฟเป็นเพียงอุบายให้แม่ได้พักผ่อน และเลี้ยงดูลูกได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องนอนอยู่เฉย ๆ การอยู่ไฟมิได้ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวหลังคลอดได้เร็วขึ้นแต่อย่างใด
ส่วนความเชื่อเรื่องหนาวใน เป็นก็เพราะการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งมีสูงในระหว่างตั้งครรภ์ พอคลอดแล้วฮอร์โมนลดลงก็จะมีอาการหนาว และร้อนวูบวาบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ไฟหรือไม่ก็ตาม (และความรู้สึกนี้ก็จะเกิดอีกครั้งกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะขาดเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน เนื่องจากรังไข่หยุดทำงานนั่นเอง)
ไม่จริง เพราะไม่มีของสแลง มีแต่ห้ามกินของที่กินแล้วเป็นโทษต่อร่างกาย เช่น แอลกอฮอล์ ยาดอง ฯลฯ ซึ่งแม้ไม่ได้ท้องก็ไม่ควรกินอยู่แล้วเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพค่ะ
ไม่จริง เพราะน้ำคาวปลา คือเศษเนื้อเยื่อ เศษชิ้นส่วนต่าง ๆ เมือกต่าง ๆ ที่ปกคลุมบริเวณโพรงมดลูกหลังจากรกได้ลอกตัวออกไปแล้ว เยื่อบุเหล่านี้จะถูกขับออกมาโดยการบีบรัดตัวของมดลูกหลังคลอด และจะค่อย ๆ หมดไปภายใน 6-8 สัปดาห์ โดยไม่ต้องทำอะไร
ถ้าคลอดธรรมชาติ สิ่งที่จะช่วยให้เกิดการขับน้ำคาวปลาได้ดีไหลได้สะดวกขึ้น คือการเคลื่อนไหว ขยับตัวให้เร็วภายใจ 24 ชั่วโมง
หากผ่าคลอด หลังจากคลอดลูกและคลอดรกแล้ว คุณหมอจะพันผ้าก็อซที่นิ้วมือแล้วเช็ดทำความสะอาดมดลูก เพื่อให้มั่นใจว่าได้กวาดเอาชิ้นส่วนของรกออกมาให้หมด ไม่ให้มีเหลือตกค้างอยู่ ซึ่งเป็นการช่วยให้เยื่อบุหรือน้ำคาวปลาส่วนใหญ่หลุดลอกออกไปตั้งแต่เสร็จสิ้นการผ่าตัดแล้ว ดังนั้น หลังผ่าตัดหลังคลอดจะสังเกตได้ว่าน้ำคาวปลาหมดเร็วกว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และไม่มีความจำเป็นต้องกินยาใดๆ เพื่อไปขับน้ำคาวปลาอีก
จริง เพราะปกติน้ำคาวปลาในช่วง 2-3 วันแรก ส่วนประกอบหลักคือเศษเซลล์ที่ลอกออกมาจากโพรงมดลูก ซึ่งประกอบด้วยเม็ดเลือดเป็นส่วนใหญ่ จึงมีสีออกแดง ๆ ใน 3 วันแรก ช่วงวันที่ 4-10 สีแดงจะค่อย ๆ จางลง หลังจากวันที่ 10 ไปจนถึงน้ำคาวปลาหมด จะเป็นลักษณะใสขึ้นและมีสีเหลืองจาง ๆ บนขาว ๆ ไปอีกระยะหนึ่ง หากไม่เป็นไปตามนี้ เช่น ยังมีสีแดงมาก ๆ ยังมีเลือดสด ๆ อยู่ อาจเป็นภาวะของการตกเลือดหลังคลอด
ส่วนกลิ่นก็จะคาวนิดหน่อย แต่ถ้าเหม็นมากผิดปกติ ประกอบกับลักษณะของสีที่ผิดปกติ เช่น แดงมาก ๆ คือ ตกเลือด หากมีสีเขียว สีเหลือง มีกลิ่นเหม็นรุนแรง นั่นหมายถึงการติดเชื้อ เพราะฉะนั้นหากมีเลือดออก หรือเกิดการติดเชื้อต้องไปพบคุณหมอทันที
เหตุที่ไม่ควรนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ เพราะมดลูกที่อยู่ข้างในช่องท้องต่อกับภายนอกผ่านทางปากมดลูก โดยปกติแล้วปากมดลูกจะปิดสนิทซึ่งจะเป็นตัวยับยั้งไม่ให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปทำอันตรายในร่างกายได้ แต่หลังคลอดปากมดลูกจะเปิดเพื่อระบายน้ำคาวปลาออก เพราะฉะนั้นก็จะมีเชื้อโรคบางส่วนเข้าไปเจริญเติบโตได้เช่นกัน ดังนั้น หากนอนแช่น้ำ หากในอ่างอาบน้ำก็มีคราบแบคทีเรียเกาะอยู่ ก็จะยิ่งทำให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีการวิจัยโดยการนำอุปกรณ์ไปเพาะเชื้อทั้งบริเวณในโพรงมดลูกและในช่องคลอด ในช่วงที่มีน้ำคาวปลา ไม่ว่าจะเพาะตรงไหน จะพบแบคทีเรียเสมอ ซึ่งก็หมายความว่าน้ำคาวปลาทั่วๆ ไปย่อมมีความสกปรกอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปแช่น้ำ นอกจากพวกแบคทีเรียที่จะไหลเข้าไปในโพรงมดลูก ความสกปรกที่ไหลออกมาจากน้ำคาวปลาก็จะลอยอยู่ในน้ำ ก็ยิ่งไปปนเปื้อนตามผิวหนังได้ทั่วร่างกาย หากแบคทีเรียไปเกาะที่หัวนม เวลาให้นมลูกก็อาจติดเชื้อได้อีกด้วย
ไม่จริง เพราะการเคลื่อนไหวจะทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณแผล และทำให้การติดของแผลดีขึ้น เพราะเลือดจะพาเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นตัวกัดกินเชื้อโรคมาที่แผลด้วย ถ้ามีเม็ดเลือดขาวเยอะก็จะทำให้ป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อได้ดีขึ้น คุณแม่จึงควรเคลื่อนไหวให้ได้มากเท่าที่สามารถทำได้
ไม่จริง เพราะในช่วงหลังคลอด ปัญหาที่พบคือลำไส้เคลื่อนไหวตัวช้า ทำงานได้ไม่ค่อยดี มดลูกมีขนาดใหญ่ ไปกดทับทำให้อุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ไม่ค่อยดี ความปวดที่มดลูกหรือแผลฝีเย็บก็จะทำให้คุณแม่เคลื่อนไหวตัวได้น้อย พอเคลื่อนไหวตัวได้น้อยก็จะทำให้ท้องผูกมากขึ้น ยิ่งถ้าปวดแผลฝีเย็บมาก ก็จะพลอยไม่อยากเบ่งอุจจาระ ไม่ยอมเข้าห้องน้ำนานๆ จะทำให้ท้องผูก
ดังนั้น คุณแม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายตั้งแต่หลังคลอดใหม่ๆ เพราะจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวและช่วยลดอาการท้องผูก กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำมากๆ ก็จะช่วยลดอาการท้องผูกได้ แต่ถ้าคุณแม่กินได้ปกติแล้ว เคลื่อนไหวได้ดีแล้วยังมีท้องผูกอยู่ การกินยาระบายหรือใช้ยาระบายชนิดเหน็บทวารก็จะเป็นตัวช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ ลดความรู้สึกอึดอัดท้อง แต่การใช้ยาระบายต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมอ
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์
นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช