คุณพ่อคุณแม่ยุคนี้ที่มีลูกอยู่ในวัยอนุบาล คงเคยได้ยินหรือมีประสบการณ์เรื่อง ‘แฟนฉัน’ ของเด็กๆ มาไม่มากก็น้อย บางท่านก็อาจเห็นเป็นเรื่องน่ารักๆ ขำๆ แต่บางท่านก็แอบกังวลเล็กๆ เช่นเดียวกับคุณแม่ท่านนี้ค่ะ เราจะสอนลูกอย่างไร เพราะไม่อยากให้ลูกมีแฟนเร็วเกินไป
ก่อนอื่นคงต้องพูดถึงธรรมชาติของเด็กก่อนนะคะ โดยทั่วไปเด็กในวัย 4-5 ปี จะเริ่มมีความสนใจในเรื่องความแตกต่างของเพศ เริ่มสนใจและจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการแต่งงาน เรื่องความสัมพันธ์ของชายหญิงที่ทำให้คนตัวโตๆ เหล่านั้นได้เป็นคุณพ่อคุณแม่ แต่ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมากมายนะคะ
หลายๆ ครั้งจะเห็นเด็กๆ ในวัยนี้ชอบเล่นบทบาทสมมติให้เธอเป็นพ่อ ฉันเป็นแม่ หรือเล่นสมมติว่าเราเป็นแฟนกัน ซึ่งก็คงเป็นเพราะสนุกกับการเล่นเลียนแบบจากคนใกล้ตัว และยังมีสิ่งเหล่านี้ให้เห็นทางทีวีอยู่ทุกวี่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นหนัง ละคร ข่าวการสัมภาษณ์พี่ๆ นักร้องในดวงใจ หรือแม้แต่ในการ์ตูน... ใครๆ เขาก็มีแฟน
คุณแม่คุณพ่ออย่าเพิ่งวิตกจนเกินไปนะคะ เพราะในช่วงวัยนี้การที่เด็กๆ จะมีคนพิเศษ ไม่ว่าจะรักเป็นพิเศษ ชื่นชมเป็นพิเศษ ก็เป็นความพิเศษแบบของเด็กๆ ที่ไม่ได้มีพิษมีภัยใดๆ แต่เป็นการเรียนรู้ และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เด็กๆ จะมีความผูกพัน ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ความพิเศษเหล่านี้มักคงอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งแล้วก็ผ่านเลยไป
1. ไม่ควรแสดงและให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากนัก
2. ไม่ว่าจะเป็นการห้ามปราม
3. การเอามาล้อเล่นเป็นเรื่องสนุก
4. บางครั้งเห็นเป็นเรื่องน่ารักก็จับคู่ให้เสียเลย
เราเพียงแต่ให้ความใส่ใจกับการดำเนินชีวิตของลูก ให้เรื่องเหล่านี้อยู่ในสายตา แต่อย่าเอามาเป็นประเด็น จนทำให้เด็กๆ รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องพิเศษ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ใส่ใจ ใครๆ ก็สนใจ
สิ่งที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกเชื่อมั่นว่าเขาสามารถพูดคุย บอกเล่าความรู้สึกต่างๆ กับเราได้ทุกเรื่อง ต้องทำให้ลูกเชื่อมั่นว่าเราจะไม่เห็นเรื่องของลูก หรือความรู้สึกของลูกเป็นเรื่องตลกหรือไร้สาระค่ะ
ความผูกพันในแบบเด็กๆ เป็นความผูกพันที่งดงาม เป็นเรื่องน่าดีใจนะคะ ที่ลูกรู้จักรักและชื่นชมผู้อื่น รวมทั้งถูกรักและถูกชื่นชมโดยผู้อื่นเช่นกัน พยายามจัดสรรเวลา สร้างบรรยากาศของการบอกเล่า พูดคุย ให้เป็นวิถีของครอบครัว ทำให้ลูกเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถบอกเล่าพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ได้ในทุกๆ เรื่องและตลอดไปนั่นแหละค่ะ หัวใจสำคัญของการเรียนรู้อยู่ร่วมค่ะ
ข้อมูล : อาจารย์ ธิดา พิทักษ์สินสุข