ถ้ามองจากภายนอกเด็กได้ใช้ร่างกาย ไม่ว่าจะกล้ามเนื้อมัดใหญ่หรือมัดเล็ก แต่ถ้ามองเข้าไปในสมองของเด็กจะเห็นเลยว่า การปีนใช้ความคิดอย่างมาก เด็กไม่ได้ปีนแบบไม่คิด แต่เด็กคิดตลอดเวลา
ในแต่ละวันเด็กก็อาจจะตั้งเป้าหมายว่า วันนี้อยากจะปีนไปถึงตรงไหน ตรงกลาง ปีนไปกี่ขั้นแล้วพอ เป็นต้น ซึ่งกระบวนการตรงนี้คือการตั้งเป้าหมายด้วยตัวเอง
ที่มาของการตั้งเป้าหมายนั้นเกิดจากการที่เด็กประเมินตัวเองว่า “น่าจะทำได้” โดยคิดจากประสบการณ์เดิม เช่น เมื่อวานเคยปีนได้ 3 ขั้น วันนี้อยากปีนให้ได้ 6 ขั้น อันนี้คือการประเมินความสามารถตนเอง และเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเคยทำได้ว่าวันนี้น่าจะทำได้มากกว่านั้น วันรุ่งขึ้นอาจจะปีนไปถึงจุดสูงสุดก็ได้ ทั้งหมดนี้มาจากกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองของเด็กค่ะ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดเร็วมากกับการตัดสินใจไปตามเป้าหมายที่เด็กตั้งเอาไว้
นอกจากนั้นเด็กจะต้องคิดอีกว่าจะไปถึงเป้าหมายด้วยวิธีใด ต้องปีนแบบไหน เพราะฉะนั้นเขาจะเอาประสบการณ์เดิมมาใช้เพื่อให้ก้าวข้ามไปให้ได้ นอกจากนี้พอเริ่มปีนเด็กต้องโฟกัสมาก มีสมาธิ มีการจดจ่อกับมือกับเท้า จะปล่อยมือนี้แล้วไปจับอะไรต่อ เรียกว่าทุกจังหวะปีนมีการจดจ่อ มีการวางแผนการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
ปีนป่ายแบบปลอดภัย
ไม่ใช่แค่การปีนป่าย จริงๆ แล้วการฝึกให้ลูกได้คิดและแก้ปัญหา เริ่มได้ตั้งแต่เป็นทารก เช่นเวลาที่เด็กอยากได้ลูกบอลหรืออยากได้ขวดนม เด็กจะเกิดความมุ่งมั่นที่จะคว้ามาให้ได้ และจะค้นหาว่าตัวเองจะไปแบบไหนเพื่อจะไปหาเป้าหมาย ซึ่งถ้าตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่ทำให้หมด เด็กจะไม่เรียนรู้ที่จะทำอะไรด้วยตัวเองค่ะ
ถ้าอยากให้ลูกมุ่งมั่น มีเป้าหมาย ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ต้องให้เด็กได้คิดและแก้ปัญหาผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ลูกเล่นค่ะ