ช่วงนี้สภาพอากาศบ้านเราเข้าสู่ฤดูฝนกันแล้ว แน่นอนว่านอกจากไข้หวัด ในหน้าฝนแบบนี้ยังมีเจ้ายุงตัวร้ายที่เป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ มาสู่เจ้าตัวเล็กได้ วันนี้
Rakluke.com ได้นำข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับโรคอันตรายจากยุงที่พบบ่อยในหน้าฝน ซึ่งได้แก่
ไข้เดงกี่ และไข้เลือดออกเดงกี่, ไข้สมองอักเสบเจ อี (Japanese Encephalitis), โรคมาลาเรีย (Malaria) มาฝากคุณแม่เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันเจ้าตัวน้อย
ไข้เดงกี่ และไข้เลือดออกเดงกี่ (Dengue fever และ Dengue Hemorrhagic fever)
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี สายพันธุ์ 2501 (Dengue virus 2501) โดยมี
ยุงลาย เป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายตัวเมียจะดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ช่วงที่มีไข้สูง ซึ่งจะมีเชื้ออยู่ในกระแสเลือด และเชื้อจะเพิ่มจำนวนในยุงนาน 8-10 วัน จากนั้นเชื้อจะไปสะสมอยู่ที่ต่อมน้ำลาย ของยุง เมื่อยุงลายกัดคนจะมีน้ำลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ปนออกมาด้วย ทำให้สามารถแพร่เชื้อให้คนที่ถูกกัดคนต่อไปได้ อายุขัยยุงลายชนิดนี้ประมาณ 30-45 วัน
อาการของโรค
- ไข้สูง มักมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า38.5 องศาเซลเซียส ไข้สูงเฉียบพลันและสูงลอยนาน 2-7 วัน
- ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดกระดูก
- อาจพบอาการเลือดออกง่าย มีจุดเลือดออกขึ้นตามตัว เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ ผู้ป่วยเพศหญิงอาจมีประจำเดือนออกมากผิดปกติ หรือมีรอยจุดแดงตามผิวหนังบริเวณที่มีการกดทับ
- อาเจียน ปวดท้องมาก
- อาจเกิดภาวะช็อก ปลายมือปลายเท้าเย็น เหงื่อออกตัวเย็น ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะ 4-6 ชั่วโมง ระดับการรับรู้สติสัมปชัญญะลดลง ผู้ป่วยเด็กเล็กอาจจะมีอาการร้องกวน กระสับกระส่าย
ทำอย่างไรเมื่อป่วยเป็นโรคไข้เดงกี่ หรือ โรคไข้เลือดออกเดงกี่
- ในช่วงที่มีไข้สูง ควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพราะการดื่มน้ำเปล่าจะทำให้ระดับเกลือแร่ในเลือดเสียสมดุลได้
- ลดไข้ ด้วยการเช็ดตัวบ่อยๆ และรับประทานยาลดไข้ แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล และรับประทานปริมาณยาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่เกินวันละ 8 เม็ด เพราะถ้ามากเกินไปจะทำให้ตับอักเสบได้
- หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง หรือการเคี้ยวอาหารที่แข็ง จนกว่าจะไม่มีอาการประมาณ 3-5 วัน เพราะอาจยังมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ทำให้มีเลือดออกง่าย
- ถ้าคนใกล้ชิดมีไข้สูง แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจอาการ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข้เลือดออกเช่นเดียวกัน
-
ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจเกิดผลเสียได้มากเช่น ยาทำให้ตับอักเสบมากขึ้น หรือเกิดแผลในกระเพาะอาหารจนทำให้เลือดออกในช่องท้อง
ไข้สมองอักเสบเจ อี (Japanese Encephalitis)
โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Japanese encephalitis virus (JEV) ที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากพบรายงานผู้ป่วยครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2476 และพบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยมี
ยุงรำคาญ เป็นพาหะนำโรค
อาการของโรค
- เริ่มจากอาการไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน มีอาการเหล่านี้นานประมาณ 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 2-3 วัน)
- จากนั้นจะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท เช่น ต้นคอแข็ง ซึมลง เพ้อ ชัก หมดสติ อัมพาต ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ร้อยละ 15 -30
- หลังจากนั้นไข้จะเริ่มลดลง อาการทางระบบประสาทอาจค่อยๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยจำนวน 1 ใน 3 หรืออาจสูงถึงครึ่งหนึ่งที่จะมีภาวะแทรกซ้อนหลงเหลืออยู่ เช่น สมองบางส่วนถูกทำลาย เกิดอาการชัก และความพิการตามมา รวมถึงอาจทำให้ระดับสติปัญญาถดถอยลง
ป้องกันการติดเชื้อไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis)
เด็กทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี (JE vaccine) ซึ่งอยู่ในโปรแกรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจอี ปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่
- วัคซีนชนิดเชื้อตาย สามารถรับการฉีดได้ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 1 ปีครึ่ง ส่วนการฉีดครั้งที่ 2 ให้ทิ้งระยเวลาห่างจากเข็มแรก 7-14 วัน และเข็มที่ 3 ฉีดห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ1 ปี และอาจต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 4-5 ปี อีกไม่เกิน 2 ครั้ง
- วัคซีนแบบชนิดเชื้อเป็น เข็มแรกฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี และเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 ปี โดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น
*หมายเหตุ: สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี มาก่อน ควรฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม
โรคมาลาเรีย (Malaria)
โรคมาลาเรีย หรือ ไข้จับสั่น หรือ ไข้ป่า เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม ยุงที่เป็นพาหะนำโรคนี้คือ
ยุงก้นปล่อง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ดีสำหรับป้องกันโรคมาเลเรีย
อาการของโรค
- มีไข้สูง หนาวสั่น
- เหงื่อออกมาก
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ท้องเสีย
- ภาวะโลหิตจาง
- อุจจาระเป็นเลือด
- อาการหมดสติไม่รับรู้ต่อการกระตุ้นต่าง ๆ หรือโคม่า
การป้องกันการติดเชื้อโรคมาลาเรีย (Malaria)
- การใช้ยาป้องกันมาลาเรียจะแตกต่างกันออกไปแต่ละประเทศ และยาที่ใช้สำหรับแต่ละประเทศจะเรียงลำดับตามตัวอักษรและเปรียบเทียบคุณสมบัติของยาไว้อย่างชัดเจน ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกสำหรับการเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสม
- ยาต้านมาลาเรียไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% เลือกใช้ยาเมื่อได้ประโยชน์จากยามากกว่าผลข้างเคียงจากการใช้ยา และต้องอาศัยวิธีการป้องกันของตนเองร่วมด้วย เช่น ใช้ยาทาไล่ยุง ใส่เสื้อแขนยาวหรือกางเกงขายาว และนอนในมุ้ง
- การใช้ยาต้านมาลาเรีย ต้องพิจารณาถึงปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นที่กำลังใช้อยู่ รวมไปถึงการตรวจสอบข้อควรระวังการใช้ยา เช่น การแพ้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- เมื่อได้ยาต้านมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพกับตนเองแล้ว ต้องใช้ยาก่อนการเดินทาง ซึ่งหากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- ควรใช้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด
- หลังจากกลับมาจากการเดินทางควรใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของโรค และระยะเวลาในการใช้ยาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของยา
- ในประเทศไทยโดยทั่วไปแพทย์มักไม่แนะนำให้รับประทานยาป้องกันมาลาเรีย เนื่องจากความชุกชุมของมาลาเรียยังไม่มาก แต่ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์สำหรับผู้ที่พบว่ามีไข้ภายใน 1 สัปดาห์-2 เดือน หลังออกจากป่าหรือพื้นที่เสี่ยง