การเล่นจะช่วยพัฒนาร่างกายและจิตใจให้แก่เด็กทุกคน การที่เด็กได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน ได้กระโดดโลดเต้น ปีนป่ายต้นไม้ การทำกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านสังคม และด้านร่างกายช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ช่วยเรื่องการทรงตัว
นอกจากนั้นยังช่วยเรื่องการทำงานประสานกัน ระหว่างกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ด้วย เช่น กล้ามเนื้อแขน ขา มือ และการประสานการทำงานระหว่างมือและตา เช่น ปั้น พับกระดาษ วาดรูประบายสี เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังสามารถรับรู้ความในใจของเด็กผ่านการเล่นของเด็กได้ เพราะเด็กอาจจจะไม่สามารถอธิบายความกังวลใจ หรือความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้เหมือนผู้ใหญ่
การปล่อยให้เด็กได้เล่น เช่น วาดรูป หรือเล่นตุ๊กตา หรือเล่นของเล่นทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการใช้จินตนาการ เช่น หุ่นมือ บ้านตุ๊กตา บทบาทสมมติ กะบะทราย ฯลฯ จะช่วยบอกความในใจได้ว่าตอนนี้เด็กรู้สึกอะไรอยู่
การเล่นพัฒนาสมอง
การเล่นทุกรูปแบบล้วนมีผลต่อพัฒนาการของสมองเด็ก ซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องเปิดโอกาสและช่วยให้เด็กได้ เล่น หากแต่การทำให้การเล่นของเด็กมีคุณค่าอย่างแท้จริง พ่อแม่จะต้องมีความเข้าใจในหลักการสำคัญก่อน
1. การเล่นจะต้องเริ่มต้นโดยเด็ก คือ เด็กจะต้องเป็นคนเริ่มต้น ต้องเป็นคนนำ
หากเราจะเล่นด้วยหรือช่วยให้เด็กได้เล่น ต้องจำให้ขึ้นใจว่า จะต้องเล่นตามเด็กเท่านั้น
2. การเล่นนั้นจะต้องสนุกและมีความสุข
3. การเล่นจะต้องเหมาะสมกับวัยของเด็ก
4. การเล่นต้องมีความปลอดภัย
5. เพื่อนเล่น (หรือของเล่น) ที่ดีที่สุดของเด็ก คือ พ่อแม่
การเล่นจินตนาการกับการเล่นของเด็กวัย 3-6 ปี
การเล่นจะช่วยวางรากฐานการเรียนรู้และส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก การเล่นของเด็กๆ อาจเป็นเรื่องธรรมดาในสายตาผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว การเล่นนั้นถือเป็นส่วนสำคัญในชีวิต เพราะการได้เล่นถือว่าเป็นประสบการณ์ที่สนุกและท้าทาย ที่ช่วยวางรากฐานการเรียนรู้และช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ในทุกด้าน โดยอาจแบ่งการเล่น ดังนี้
การเล่นคนเดียว
เพราะพัฒนาการของเด็กจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง จะชอบนั่งเล่นคนเดียวมากกว่าการเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน บางครั้งพ่อแม่อาจจะเห็นเด็กนั่งพูดคุยกับตุ๊กตาเป็นเวลานาน
ตัวอย่าง : เล่นบทบาทสมมติ เป็นการเล่นสมมติว่าตัวเองหรือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นโน้นนี้ เช่น สมมติว่าตัวเองเป็นคุณหมอ คุณครู ตำรวจ หรือพยาบาล แล้วสมมติให้ตุ๊กตาเป็นนักเรียนหรืออื่นๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นจินตนาการอันกว้างไกลของเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่ไม่ควรปิดกั้น
Tip : อาจกำหนดพื้นที่ในบ้านให้เป็นมุมส่วนตัวของเด็ก ให้มีของเล่นหรือของประดับต่างๆ ให้เด็กได้มีอิสระในการเล่นตามลำพัง ได้คิดและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
การเล่นเป็นกลุ่ม
เด็กวัยนี้อาจยังไม่พร้อมเต็มร้อยที่จะมีเพื่อน แต่ก็จะเริ่มเข้าสังคมและเล่นกับกลุ่มเพื่อนมากขึ้น ระยะแรกๆ อาจจะเพียงเข้าไปนั่งใกล้กลุ่มเพื่อนๆ ที่กำลังเล่นอยู่ จากนั้นก็จะค่อยๆ เล่นกับเพื่อนได้ในที่สุด
ตัวอย่าง : เล่นบ่อทราย (สร้างเมืองหรือปราสาท) เล่นบทบาทสมมติ เช่น เล่นพ่อแม่ลูก เป็นการเลียนแบบบทบาทของพ่อแม่ หรือเล่นตามจินตนาการ โดยเอาเก้าอื้หลายๆ ตัวมาต่อกันเป็นรถเมล์ แล้วเล่นเป็นคนขับกับผู้โดยสาร การเล่นเหล่านี้เด็กจะเป็นคิดขึ้นเองตามแต่จินตนาการ จะได้ทักษะเรื่องการเข้าสังคม เรียนรู้เรื่องการแบ่งปัน การรอคอย
Tip : การเล่นกับเพื่อนในบางครั้งอาจมีการทะเลาะกันบ้างตามประสาของเด็กวัยนี้ ผู้ใหญ่ไม่ควรเข้าไปตัดสินปัญหาให้ ให้เด็กได้รู้จักคิดและแก้ปัญหาเองก่อน
การเล่นกับพ่อแม่
เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของบ้าน และรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้เล่นกับพ่อแม่ที่คอยตามใจเสมอ
ตัวอย่าง : เล่นต่อบล็อกไม้ ต่อภาพ ให้พ่อวาดรูปตุ๊กตา แล้วให้เจ้าหนูตัดกระดาษ เอามาเล่นสมมติเป็นคนหรือสิ่งของต่างๆ ก็ได้ หรือลองเอาเก้าอี้มาต่อกันแล้วใช้ผ้าห่มคลุม กลายเป็นถ้ำหรือเต้นท์ก็สร้างความสนุกตื่นเต้นไม่แพ้กัน เป็นการดัดแปลงจากสิ่งของธรรมดาๆ ให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ตามความคิดสร้างสรรค์ของเด็กทำให้มีของเล่นที่เล่นได้ไม่รู้เบื่อ
Tip : พ่อแม่อาจคอยกระตุ้น หรือแนะนำวิธีการเล่นใหม่ๆ ให้เด็ก แต่ต้องระวังไม่ให้การเล่นนั้นเป็นการเล่นแบบผู้ใหญ่ ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเด็ก เพราบางครั้งก็อยากเล่นคนเดียว บางครั้งก็อยากมีเพื่อนเล่นด้วย ที่สำคัญการเล่นสำหรับเด็กนั้นไม่ได้อยู่ที่ของเล่นราคาแพง เพียงพ่อแม่พลิกแพลงจากสิ่งของใกล้ตัวและวิธีการเล่นนิดหน่อย คอยเติมความรัก ความอบอุ่นอยู่ใกล้ๆ ให้รู้สึกปลอดภัยเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว
จินตนาการกับการเล่นของเด็กวัย 3-6 ปี
จินตนาการเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะในเด็กวัย 3 - 6 ปี เพราะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ การเล่นบทบาทสมมติ จะทำให้ผู้เล่นรู้สึกพึงพอใจในตัวเอง ในการเปลี่ยนความจริงให้เป็น ความปรารถนา เป็นการก่อรากฐานทางอารมณ์ และพัฒนาความคิดให้กว้างไกลออกไป อันเป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อมั่นในตนเอง
เด็กในวัยอนุบาล 3-6 ขวบนี้ ได้ไปโรงเรียน มีเพื่อน มีสังคม เริ่มอ่านหนังสือได้ ดูหนังเป็นเรื่องเป็นราวเข้าใจ และสามารถนำเรื่องราวมาปะติดปะต่อเข้ากับตัวเอง สร้างเรื่อง สร้างจินตนาการ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีมากน้อยแตกต่างกันไป
แม้จินตนาการจะเป็นส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตและเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม แต่พ่อแม่ก็ควรดูแลให้อยู่ในขอบเขตที่พอดี และสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกแห่งจินตนาการ
เมื่อใดที่เด็กเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง คิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่เหมือนในการ์ตูนที่ดู เช่น หยิบมีดในครัวออกมาวิ่งไล่ คล้ายจะออกรบเหมือนในหนัง ชก เตะ ต่อยคนอื่นแล้วภาคภูมิใจ หรือคิดว่าตัวเองมีความพิเศษ กระโดดตึกแล้วเหาะกลางอากาศได้ เหมือนยอดมนุษย์ในหนัง ถือว่าน่าเป็นห่วง
จินตนาการก่อผลร้ายในเด็ก
เด็กจะได้ฝึกความเป็นผู้นำ แต่ถ้าเขาโกรธหรือไม่พอใจ ก็อาจใช้อำนาจ ใช้กำลัง และหากบวกเข้ากับจินตนาการ หรือลอกเลียนแบบมาจากสื่อ ก็อาจจะเล่นรุนแรง ใช้กำลัง เตะต่อย พูดหยาบคาย ทำแล้วไม่คิดว่าผิด ก็จะส่งผลตอนที่เด็กโตขึ้น
การเลือกกิจกรรมจินตนาการที่เหมาะกับเด็กวัย 3-6 ปี
พ่อแม่คือบุคคลสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมเด็กให้จินตนาการในด้านบวกเพื่อให้เด็กเติบโตขึ้น เป็นคนดี เด็กเก่ง กล้าคิด กล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง
ของเล่นที่เหมาะสำหรับเด็กวัย 3-6 ปี
พ่อแม่จะต้องเลือกของเล่นให้เหมาะกับวัยของเด็ก สำหรับเด็กวัย 3- 6 ปี เริ่มอยากรู้อยากเห็น ช่างซักช่างถาม มีจินตนาการสูง มีพัฒนาการทางอารมณ์ซับซ้อนมากขึ้น เริ่มเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันได้ดีขึ้น ควรปล่อยให้เด็กได้เล่นกับเพื่อน อย่างเล่นตุ๊กตา เล่นต่อไม้บล็อก หรือปั้นแป้งเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ด้วยกัน เป็นต้น การเล่นนี้ก็จะช่วยพัฒนาการทางสังคม พัฒนาการทางภาษาได้เป็นอย่างดี
การเล่นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีประโยชน์สำหรับพัฒนาการของเด็กใน เพราะเป็นการวางรากฐานการเรียนรู้ให้เด็ก และของเล่น ก็มีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการเหล่านั้น จะต้องคำนึงถึงเหมาะสมกับวัยและความปลอดภัย เพื่อให้เด็กเล่นได้อย่างมีความสุข
การบูรณาการผ่านเสียงเพลง ช่วยเสริมพัฒนาการหลากหลายด้านให้เด็ก การฝึกกล้ามเนื้อมือ - เท้า ฝึกระเบียบวินัย ความคิดสร้างสรรค์ และฝึกสมาธิให้เด็ก สามารถฝึกได้ด้วยเสียงเพลง
เสียงเพลงและดนตรี เป็นอุปกรณ์สำหรับ ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก - มัดใหญ่ มีความคิดสร้างสรรค์ มีวินัย การทำงานเป็นกลุ่ม การกล้าแสดงออก และการฝึกสมาธิไปได้พร้อมๆ กัน เช่น
หมายเหตุ : การเรียนร้องเพลงสามารถปรับพฤติกรรมเด็กบางคนเป็นคนมีเหตุผล มั่นใจในตัวเอง และกล้าแสดงออก แต่ใจร้อน ถ้าเรียนร้องเพลงแล้วเขาใจเย็นขึ้น ได้ปรับตัวให้อยู่ร่วมกับเพื่อนได้ รู้จักคิดก่อนทำมากขึ้น และได้ฝึกเรื่องการพูด้วย พูดชัดชัดขึ้น และยังได้ฝึกเรื่องกฎเกณฑ์และวินัย
ของเล่นของเด็กปกติกับเด็กพิเศษเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างคือ วิธีการเล่น ซึ่งเด็กพิเศษแต่ละกลุ่มก็มีความต้องการในการเล่นต่างกัน และความถนัดไม่เหมือนกัน จึงต้องดูว่าเด็กพิเศษคนนั้นสนใจอะไร และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร
ของเล่นสำหรับเด็กพิเศษ สามารถเป็นของเล่นที่ประดิษฐ์ขึ้นเองก็ได้ หรือของเล่นตามธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน ดิน ทราย ใบไม้ หรือของเล่นที่ซื้อหาได้ตามท้องตลาด แต่ต้องใช้ความเข้าใจและใช้เทคนิควิธีการสอน ด้วยการใช้ของเล่นเป็นสื่อการสอนสำหรับเด็กพิเศษแต่ละคนให้เหมาะสม
ดังนั้นการเลือกของเล่นให้เด็กกลุ่มนี้ ควรเลือกให้ตรงตามความถนัด และความสนใจของเด็กเป็นหลัก
เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย
เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญาในระดับหนัก
เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น
เด็กออทิสติก
เด็กสมาธิสั้น
ประโยชน์ของการเล่น คือ การได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การวางแผน การลองผิดลองถูก การแก้ปัญหา การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เกิดการแลกเปลี่ยน ช่างคิด ช่างสังเกต กล้าแสดงออก และอื่นๆ โดยรูปแบบการเล่นที่เหมาะสมกับวัยต้องคำนึงความพร้อมด้านต่างๆ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และสังคม
เด็กวัย 3 - 6 ปี เรียกว่า พัฒนาทักษะต่างๆ ได้เกือบครบแล้ว ยิ่งพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ ในสมองส่วนที่เรียกว่า ลิมบิก(limbic) ก็พัฒนามากขึ้นจากประสบการณ์การเล่นที่ต่อเนื่องนี่เอง