จากข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวทั้ง พี่ฆ่าน้อง ลูกฆ่าพ่อแม่ ทำให้ผู้คนในสังคมหวาดกลัว และหวั่นใจกันว่า สังคมไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทำไมความก้าวร้าวรุนแรงของคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน เติบโต หรือเลี้ยงดูกันมาจึงมีมากขนาดนี้ ทางรักลูกขอสัมภาษณ์พิเศษ นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่จะมาให้คำแนะนำการเลี้ยงดูลูก ๆ ให้ห่างไกลกับการเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมความรุนแรงเมื่อโตขึ้นค่ะ
สาเหตุจากตัวเด็กเองที่เค้ามีพื้นฐานที่ควบคุมตัวเองได้ยาก อันที่สองอาจจะเป็นสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้หล่อหลอมให้เด็กควบคุมตัวเองได้ ทำให้เขามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว คือเด็กบางคนมีโอกาสที่ก้าวร้าว จากยีนส์ จากพันธุกรรม แต่สิ่งแวดล้อมที่ทำให้ก้าวร้าวก็คือสิ่งแวดล้อมไม่ได้หล่อหลอมให้เขามีพฤติกรรมที่ดี หรือสิ่งแวดล้อมอาจจะเป็นตัวกระตุ้น เช่นเขาอาจจะเป็นเด็กที่ควบคุมตัวเองได้ดี แต่สิ่งแวดล้อมอาจจะเป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมเหล่านั้น
สื่อต่างๆ ก็ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่หากเด็กดื่มด่ำ และถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา และมองเห็นว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เด็กก็อาจจะเกิดการเลียนแบบ ยิ่งถ้าเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดี ก็จะทำพฤติกรรมเลียนแบบตามสื่อที่เขาได้รับมา ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งแวดล้อม
เด็กจะเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ อยากได้อะไรก็ต้องได้ ไม่ได้ดังใจเวลาที่ถูกขัดใจก็จะมีอาการรุนแรงกว่าเด็กคนอื่นทั่วๆ ไป จะเป็นอันหนึ่งที่พอจะบอกได้บ้าง
ถ้าหากโตขึ้น เขายังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองให้มันเหมาะสมได้ ก็มีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรง แต่ว่าเด็กหลายคนถ้าหากว่าเขาไม่ได้แสดงอาการออกมาให้เห็นก็อาจจะมีความรู้สึกเก็บกด เก็บเอาไว้ แล้วพอวันหนึ่งที่เขามีโอกาสจะแสดงออกจากการถูกกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ รอบตัว ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในภาวะที่เขาถูกกระตุ้นได้เหมือนกันครับ
ถ้าเป็นเล็กๆ อย่าสอนด้วยคำพูดอย่างเดียว ต้องกำกับให้เขาเรียนรู้ด้วยว่าพฤติกรรมแบบไหนที่มันเหมาะสมไม่เหมาะสม เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกมีความรุนแรง หรือมีความรู้สึกที่ไม่สามารถจะควบความอารมณ์ความรู้สึกตัวเองให้เหมาะสมได้ พ่อแม่ต้องฝึกให้ลูกควบคุม
เราไม่ใช้คำว่าสอน เราใช้คำว่าฝึก เพราะถ้าสอนพ่อแม่มักจะพูดอธิบาย ซึ่งอันนี้จะไม่เพียงพอ ซึ่งวิธีฝึกจะมีการฝึกด้วยกระบวนการต่างๆ ซึ่งเรามักจะใช้หลักการของการปรับพฤติกรรมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่นถ้าลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเราก็บอกให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมอันนี้ดี โดยการชื่นชม ใช้วิธีการชื่นชมบอกเขาว่าอันนี้ดีแล้วนะ ควรจะทำต่อ ส่วนพฤติกรรมอะไรที่ไม่เหมาะสมเราก็ต้องตอบสนองอย่างเหมาะสม อย่างเช่น ถ้าหากว่าพฤติกรรมก้าวร้าวของเขาไม่ได้รบกวน ไม่ได้ทำร้ายคนอื่น ไม่ได้ทำลายข้าวของ ไม่ได้ทำร้ายตัวเอง เราก็อาจจะเพิกเฉยเสียให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่เหมาะสม ไม่สามารถจะเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการได้ แต่ถ้าหากลูกทำร้ายคนอื่น ทำลายข้าวของ เราก็ต้องจับลูก ฝึกให้ลูกควบคุมตัวเอง โดยการจับลูกแยกจากสิ่งตรงนั้นเพื่อไม่ให้ลูกทำลายข้าวของ ทำร้ายคนอื่น ทำร้ายตัวเอง แล้วก็ฝึกให้ลูกควบคุมตัวเองอย่างเหมาะสม พอลูกทำพฤติกรรมได้เราก็ชื่นชมให้ลูกรู้ว่าทำอย่างนี้ถูกต้องแล้ว เวลาพ่อแม่สอนลูกเล็กๆ อย่าใช้คำว่าสอนอย่างเดียว ความจริงการอธิบายให้เหตุผลอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องฝึกและควบคุมให้กระทำในสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นด้วยครับ