ถ้าอยากฝึกลูกควบคุมอารมณ์ พ่อแม่ต้องฝึกก่อน เพราะการเรียนรู้การจัดการอารมณ์ที่ดีที่สุดคือจากพ่อแม่ และอย่าให้ลูกต้องสุขตลอดเวลา เด็กเรียนรู้จากอารมณ์ลบและความทุกข์ได้ โดยมีพ่อแม่อยู่เคียงข้าง
ฟังวิธีการฝึกให้ลูกรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง โดย The Expert ศ.นพ.วีรศักดิ์ ชลไชยะ หัวหน้าสาขาพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถ้าอยากจะฝึกลูกต้องฝึกที่พ่อแม่หรือว่าคนเลี้ยงก่อน เพราะว่าหลายครั้งการที่เด็กแสดงอารมณ์อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคนที่อยู่รอบตัว แต่ละบ้านก็แตกต่างกัน บางวัฒนธรรมหรือบางคนก็อาจจะรู้สึกว่าเราไม่ได้อยากพูด หรือบอกแสดงความรู้สึกอารมณ์อะไรออกมา แต่จริงๆ แล้วการจะรับมือกับอารมณ์ของลูกผมอยากให้พ่อแม่มองอย่างนี้ว่า ทุกคนมักจะชอบอารมณ์ลูกในด้านบวก ดีใจ ยิ้ม น่ารัก เราอยากให้ลูกเราอารมณ์ดีตลอดเวลา ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่มีทาง อยากให้มองว่าลูกสามารถเรียนรู้จากอารมณ์เชิงลบได้ อารมณ์เชิงลบถ้าเรียนรู้ได้ดี มันทําให้เขาพัฒนาตัวเองแล้วทําให้เขาสามารถจัดการกับอารมณ์เชิงลบไม่ว่าจะเป็นโกรธ เสียใจ ผิดหวังอะไรต่างๆ ได้ เมื่อเขาโตขึ้น
สิ่งสําคัญเลยก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะเข้าไปช่วยเขา พ่อแม่ต้องคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน หลายครั้งก็คือเราต้องสูดหายใจเข้าลึกๆ เลย เพราะว่าบางครั้งพอเราคุมอารมณ์เราไม่ได้ มันจะยิ่งทําให้เราใส่อารมณ์เราเข้าไปกับลูกมากขึ้น เลยทําให้อารมณ์เชิงลบของเขามันเกิดนานขึ้น ลองนึกภาพอารมณ์เชิงลบเหมือนไฟ คําพูดหรืออะไรต่าง ๆ น้ําเสียงของเราเข้าไป มันจะเหมือนเรากําลังโยนน้ํามันเข้าไป หรือเราโยนพวกฟืน พวกกระดาษเข้าไป ให้มันยิ่งเผาไหม้มากขึ้น ไฟเวลามันเกิดขึ้นมันต้องดับได้
ดังนั้นเราควรจะต้องเริ่มฝึกตั้งแต่ไฟมันเริ่มน้อยๆ ลูกหงุดหงิดอะไรนิดหน่อย จริงๆ ต้องเริ่มรู้แล้วนะครับว่าเป็นยังไง แต่ก่อนที่จะมาถึงอารมณ์เชิงลบ ถ้าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านพอทราบแล้วรู้natureลูกเราอย่างที่เมื่อกี้กล่าว เรื่องของพื้นอารมณ์ เช่น เป็นเด็กที่แบบอะไรนิดนึงก็ไม่ได้ ถ้าเราป้องกันได้ก็จะดี ยกตัวอย่างเช่น สมมติวันนี้เราไปเที่ยวกัน เรารู้เลยว่าไปเที่ยวที่นี่ มันจะต้องมีตัวกระตุ้นตรงนี้ ถ้าสมมติว่าลูกเดินผ่านตรงนี้ ลูกจะต้องอยากได้แน่นอน อย่างนี้ครับเราต้องรู้เขารู้เรา ดังนั้นวันนี้ก่อนออกจากบ้านเราต้องเตรียมการเลยครับ ลูกวันนี้เราจะออกไปข้างนอกไปซื้อของ แล้วก็เราจะแวะไปตรงนี้ๆ ไปถึงนี่เราจะทําอะไรบ้าง เสร็จแล้วเรากินอาหารเสร็จกลับบ้าน วันนี้เราไม่แวะซื้อของเล่นนะ ก็เป็นการป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอารมณ์เชิงลบแบบนั้น
แต่ถ้าเมื่ออารมณ์เกิดขึ้นแล้ว สิ่งสําคัญก็คือคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องนอกจากตั้งสติเแล้ว เราจําเป็นที่จะต้องพูดบอกอารมณ์ลูกหรือว่าสะท้อนอารมณ์ อันนี้เป็นคีย์เวิร์ดสําคัญ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ทํางานผมคิดว่าพ่อแม่จํานวนมาก อาจจะไม่ค่อยพูดบอกอารมณ์อย่างนี้กับลูก การพูดบอกอารมณ์ของลูก เช่น ลูกกําลังเสียใจ ลูกโกรธ ลูกหงุดหงิด แต่สิ่งสําคัญคือพ่อแม่ต้องพูดบอกอารมณ์เขาด้วยน้ําเสียงที่ค่อนข้างกลางๆ เพราะลูกสามารถจะจับอารมณ์ความรู้สึกของพ่อแม่ได้หมดมันจะยิ่งทําให้อารมณ์เค้าเกิดขึ้นมากขึ้นได้
การที่เราพูดบอกอารมณ์ของลูกออกมาหรือการสะท้อนอารมณ์ของลูก ไม่ได้แปลว่าจะทําให้อารมณ์ของลูกสงบลงทันที ต้องดูลักษณะนิสัยลูกเราด้วยนะครับ การที่เราพูดอย่างนี้วัตถุประสงค์เพื่อทําให้เด็กรับรู้ได้ว่า พ่อแม่หรือคนเลี้ยงเข้าใจว่าตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร ดังนั้นเราก็แค่พูดบอกและสะท้อนอารมณ์ออกมา แต่คุณพ่อคุณแม่บางท่านก็เล่าให้ผมฟังว่า บางทีพอบอกไปลูกยิ่งหงุดหงิดร้องกว่าเดิม แสดงว่าเขาอาจจะไม่ชอบสไตล์แบบนี้ก็ได้ก็แล้วแต่บ้าน บางครั้งเราก็อาจจะพูดให้น้อยลงหรือรอจังหวะและแค่บอกเขานะครับว่า ลูกกําลังโกรธ หงุดหงิดเดี๋ยวลูกอยู่ตรงนี้ก่อน พออารมณ์ดีเราค่อยคุยกันนะ
แต่สิ่งสําคัญที่ผมอยากจะเน้นนะครับว่าเมื่อไหร่ก็ตามลูกมีพฤติกรรมที่เรียกว่าก้าวร้าวโดยแสดงอารมณ์ออกมามากขึ้นแล้วทําร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่นหรือทำลายข้าวของ จําเป็นที่จะต้องช่วยให้เขาสงบให้ได้ไว ถ้าลูกยังเล็กให้จับมือแล้วพูดว่าลูกกัดแม่ไม่ได้ น้ําเสียงนิ่ง ชัดเจน หรือหากกำลังดิ้นโวยวายละวาด บางบ้านถึงขั้นเอาผ้าห่มมาพันตัวลูก คือทําอย่างไรก็ได้ให้เขาสงบ แม้จะดิ้นไปดิ้นมา แต่สุดท้ายถ้าเขารู้ว่าพ่อแม่เอาจริง เขาจะค่อยๆสงบเอง ซึ่งก็ไม่ง่ายสำหรับคุณพ่อคุณแม่นะครับ แต่ว่าต้องฝึกเขาเพราะว่าไม่อย่างนั้นถ้าเขาไม่เคยถูกควบคุมแบบนี้จากภายนอกเขาจะไม่สามารถควบคุมตัวเองจากภายในได้ อย่างที่กล่าวไปใน epก่อนหน้านี้
ดังนั้นเวลาเขาโกรธโมโหเขาอาจจะไปทําร้ายเพื่อนหรือไปกัดเพื่อน ถ้าอารมณ์รุนแรงถึงขั้นก้าวร้าวจําเป็นที่จะต้องช่วยให้เขาสงบแล้วพอลูกสงบเสร็จ เราถึงค่อยอธิบายหรือสอน บ้านเราส่วนใหญ่ที่ผมเจอคุณพ่อคุณแม่มักจะชอบสอนหรืออธิบายเยอะมากเลย แต่เวลาที่อารมณ์ไม่พร้อม สมองส่วนอารมณ์ตอนนั้นมันกําลังทํางานเยอะอยู่ สมองส่วนเหตุผลจะยังไม่มา ดังนั้นต้องรอให้สมองส่วนอารมณ์ทํางานได้ดีแล้วก็คุมได้ก่อน แล้วสมองส่วนเหตุผลเขาจะเปิดใจรับฟัง ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่สอนอะไรเขาก็จะเริ่มฟังมากขึ้น
พออารมณ์สงบจริงๆ บางคนอาจจะไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาเพราะว่าบางคนรู้สึกว่าเหมือนเป็นการกระตุ้นต่อไป แต่ผมคิดว่าเราสามารถที่จะเรียนรู้จากสิ่งนี้ได้นะครับก็คือพอเขาอารมณ์ดีจริงๆ เช่น ผ่านการเล่นอะไรไปค่อยค่อยคุยกัน เช่น เมื่อกี้ลูกโกรธมากเลย ที่ไม่ได้ซื้อของเล่นอย่างที่บอก งั้นครั้งหน้าถ้าลูกโกรธเราทํายังไงกันดีนะ อันนี้ก็เป็นอีกวิธีขั้นตอนต่อๆไปในการที่จะฝึกหรือสอนให้ลูก เรียนรู้ว่าเวลาโกรธ เขาจะรับมือจัดการกับอารมณ์โกรธยังไงบ้าง เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจจะสาธิตว่าถ้าแม่โกรธเรามาเล่นเกมกันดีกว่า ถ้าเวลาพ่อแม่โกรธพ่อแม่ทํายังไงกันบ้าง เช่น นับ1 ถึง 10 แม้ลูกจะยังไม่หายโกรธ เราก็ชมระหว่างทางที่เขากําลังคุมอารมณ์อยู่ หลายครั้งบางทีลูกร้องโวยวายแต่ว่าเริ่มสงบลงก็ชมได้
แต่ต้องบอกว่าเด็กเล็กอายุ3-5ปี บางทีเรายิ่งพูดเหมือนบางคนจะเหมือนเติมเชื้อไฟ ลูกบางคนจะรู้สึกเหมือนว่าเกือบจะได้แล้ว แปลว่าพ่อแม่กําลังมาง้อแล้ว เราต้องเล่นใหญ่อีกนิดนึง ดังนั้นพ่อแม่ต้องรับรู้นะครับว่าบางทีไฟมันไม่ได้ดับสนิทแบบนี้ บางทีพอดับปุ๊บเราพูดไปนิดนึงเหมือนเราจะไปช่วยนะครับ เพราะเด็กบางคนขึ้นแล้วค้างนานลงไม่เป็น พอเราไปช่วยปรากฏร้องขึ้นมาอีกเหมือนเดิม เราก็ใช้หลักการเหมือนเดิมคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อนแล้วค่อยไปจัดการที่ลูก
ปัจจุบันมีหนังสือนิทานเยอะมากเลย เด็กๆโดยเฉพาะวัยที่เขาเริ่มฟังนิทานเยอะๆ เราสามารถจะเอาหนังสือนิทานเหล่านี้มาสอนเขาได้เลย สามารถพูดแล้วก็คุยกัน เพราะว่าในหนังสือนิทานบางทีจะมีวิธีพูดบอก เช่น เวลาโกรธเราทําอะไรได้บ้าง เช่น เป่าลูกโป่งแล้วปล่อยให้มันลอยไป เปลี่ยนเรื่องไปวาดรูประบายสี ปั้นดินน้ํามัน ปั้นแป้งโดว์
1.พ่อแม่ต้องพัฒนาสติหรือบางคนเรียกว่าเจริญสติของตัวเอง ทุกคนมีเวลา 24ชั่วโมงเท่ากันแต่เราให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆไม่เท่ากัน บางทีแค่เราอยู่เฉยๆไม่ดูโซเชียลไม่อะไร หายใจเข้าออกลึกๆก็ได้ คือแต่ละคนอาจจะมีวิธีการอยู่กับตัวเองแตกต่างกันให้ตัวเองมีช่วงเวลาสงบ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามเรารู้จักตัวเองได้ดีพอทําให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองได้ไว แล้วพอเรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองได้ไว เวลาลูกเกิดอารมณ์อะไรที่ไม่โอเค เราก็เข้าไปจัดการหรือรับมือได้อย่างมีสติมากขึ้นนะครับ
2.เป็นแบบอย่างที่ดี หลายครั้งเลยครับเด็กเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ บางคนพ่อแม่ก็เป็นสไตล์ขี้งอนไม่ต้องแปลกใจเลยครับ ดังนั้นมันก็คงหลีกเลี่ยงกันได้ยาก เพราะว่าลูกไม้ก็หล่นใต้ต้นอยู่แล้ว ดังนั้นอะไรก็ตามที่คิดว่าไม่ดีก็ไม่ต้องทำให้ลูกเห็น พ่อแม่เองก็สามารถบอกอารมณ์ตัวเองกับลูกได้นะครับ เช่น ตอนที่น้องอารมณ์ไม่ดีแบบนี้แม่ก็อารมณ์ไม่ดีเหมือนกัน แม่เนี่ยขนาดตัวแม่เองเป็นผู้ใหญ่บางทีแม่ยังคุมอารมณ์ยากเลย เพราะฉะนั้นสําหรับน้องเนี่ยแม่คิดว่ายิ่งยากขึ้นเนาะ งั้นเดี๋ยวเรามาช่วยกันดีกว่าว่าเราทํายังไงกันดี
การที่คุณพ่อคุณแม่บอกอารมณ์ของตัวเองกับลูกก็จะทําให้เหมือนเราเป็นตัวอย่างด้วยนะครับว่าเราทํายังไง ดังนั้นเนี่ยเวลาเราอารมณ์ หงุดหงิด ไม่พอใจอะไรต่าง ๆ นอกจากเรามีสติเรารับมือกับอารมณ์ได้ดีคุณพ่อคุณแม่ต้องทําให้เห็นนะครับว่าเราจะต้องทําอย่างไรได้บ้าง ที่จะไม่แสดงออกทางอารมณ์ที่รุนแรงให้ลูกเห็น
3.ไม่ลงโทษลูกด้วยความรุนแรง หลายครั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นเนี่ยมันไม่ได้เกิดจากการตีอย่างเดียวหรือทําร้ายลูกอย่างเดียวแต่ว่ามันเกิดจากคําพูดยิ่งเราโกรธคําพูดเรา บางทีมันเชือดเฉือนยิ่งทําร้ายมาก บางทีบาดแผลกายหายแล้วแต่บาดแผลทางใจมันยังคงอยู่ตลอดไป ซึ่งหลายๆ ท่านก็คงไม่ได้อยากเห็นลูกเรา จําเราได้ในด้านไม่ดี ซึ่งตรงนี้มันไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเป็นนางฟ้าตลอดเวลาสําหรับลูก แต่ว่าอย่างน้อยเราควรจะมีโมเมนต์ที่ดี มากกว่าโมเมนต์ที่ไม่ดี มันไม่มีทางเป็นไปได้ที่เราจะมีโมเมนต์ที่ดีทั้งหมด แต่อย่างน้อยมีโมเมนต์ที่ดีกับมากกว่าไม่ดี อย่างน้อยมันก็เป็นต้นทุนที่จะทําให้ลูกรับรู้ได้ว่า เวลาเขาไม่พอใจ หงุดหงิด โมโหต่อไปเขาจะมาหาใครได้บ้าง ดังนั้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่กับลูก เป็นเกราะป้องกันเลยสําหรับการเกิดปัญหาทางด้านอารมณ์ต่อไปในอนาคต
โดยธรรมชาติวัยรุ่นต้องการค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเองว่าจะพัฒนาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน ดังนั้นเป็นธรรมชาติที่เขาจะต้องไปหาเพื่อนติดเพื่อนมากกว่าติดพ่อแม่ ดังนั้นเขาจะค่อยๆ เรียนรู้ไปว่าเพื่อนคนนี้เป็นยังไง คนนี้นิสัยเป็นยังไง ถ้าเรายิ่งสนิทกับลูกมากตั้งแต่ตอนเล็กๆ มีอะไรเขาก็จะกล้ามาเล่าให้เราฟัง ซึ่งอันนี้เป็นจังหวะที่ดี แม้กระทั่งขับรถรถติด แล้วลูกเล่าเรื่องเพื่อน เราก็ฟัง เป็นยังไงบ้างล่ะลูก แล้วลูกคิดว่ายังไง จริงๆ การworkกับลูกวัยรุ่นเนี่ยง่ายมากเลยฟังให้เยอะแล้วตัดสินให้น้อย พยายามอย่าไปตัดสินคือควรจะต้องเข้าไปอยู่ในโลกของลูกด้วย เทรนด์อะไรใหม่ๆ เราก็ฟังกับเขาไปด้วยจะทําให้ลูกเปิดใจมากขึ้น
เมื่อเกิดอารมณ์เชิงลบอย่ามองว่าเป็นศัตรูของลูก คนเราทุกคนลองนึกภาพของตัวเรากว่าคนเราจะเติบโตมาถึงขั้นนี้เราต้องเจอทั้งอารมณ์เชิงบวกเชิงลบ การที่เรารับมือกับอารมณ์เชิงลบได้ดีเราได้ทําให้ลูกเรียนรู้ในชีวิตจริงนะ เพราะชีวิตจริงเราต้องเจอกับสิ่งที่ผิดหวัง เสียใจ ไม่ได้ดั่งใจ หงุดหงิด อะไรต่างๆ ยิ่งถ้าลูกเรียนรู้รับรู้อารมณ์ตัวเองได้ไว แล้วเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ได้อย่างดี มันจะยิ่งทําให้เขาเนี่ยสามารถค่อยๆ เติบโตมากขึ้น มีภูมิต้านทานทางด้านทางจิตใจหรืออารมณ์ มันต้องผ่านการฝึกฝนโดยเขาแค่อาศัยพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูที่เปรียบเสมือนเขาเรียกเป็นนั่งร้าย เป็นโครงสร้างที่คอยค้ําจุนพยุง เพื่อไม่ให้โครงสร้างนั้นมันหล่นลงมา
ไม่จําเป็นที่เวลาลูกเผชิญกับความไม่โอเค ไม่พอใจแล้วเราต้องเข้าไปช่วยจัดการทุกอย่างเพราะสุดท้ายแล้วลูกก็สามารถเรียนรู้จัดการด้วยตัวเองได้ระดับหนึ่ง แล้วเราควรจะต้องชื่นชมยินดีกับเขาด้วย เราเองมีหน้าที่รับฟังและอาจจะช่วยเติมในจุดที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้เพื่อทําให้ลูกเรียนรู้ที่จะคิดถึงวิธีต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นเนี่ยครับเราเป็นแค่นั่งร้านแต่สุดท้ายลูกจะภูมิใจนะครับ สิ่งสําคัญคือลูกจะภูมิใจว่า ฉันเองก็สามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ แล้วเด็กที่มีภูมิต้านทานแบบนี้ผมคิดว่า เขาจะห่างไกลจากพวกโรคหรือภาวะที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล
เช็กเบื้องต้นลูกมีปัญหาด้านอารมณ์ คีย์หลักๆ คือถ้าลูกเบื่อไม่อยากทําอะไรที่เคยอยากทําเหมือนเดิม เช่น ลูกชอบวาดรูป เล่นกีฬา แต่จู่ๆ ไม่อยากเล่น เบื่อ แสดงว่าลูกอาจจะถึงขั้นที่ อาจจะมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ หรือลูกมีอารมณ์เศร้า ซึ่งแบบนี้พ่อแม่ต้องพอจะรู้แนวโน้มว่าลูกมีลักษณะพื้นฐานเป็นอย่างไร ถ้าเมื่อไรก็ตามลูกแบบเก็บตัว อยากอยู่คนเดียว เศร้าหรือถ้าอารมณ์เศร้าอาจจะสังเกตยาก แต่เขาจะมาด้วยอารมณ์หงุดหงิด อะไรนิดหน่อยก็ขึ้นง่าย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะรีบพาไปปรึกษาคุณหมอ
Apple Podcast: https://apple.co/3m15ytB
Spotify: https://spoti.fi/3cvAVcX
Youtube: https://bit.ly/3cxn31u