การมองเห็นของทารกแรกเกิดยังพัฒนาไม่เต็มที่จึงยังมองเห็นไม่ชัด แต่มีความไวแสงสูง การมองเห็นของลูกทารกแรกเกิดมองเห็นชัดตอนกี่เดือน มาเข้าใจและเช็กสายตาลูกไปพร้อมกันค่ะ
การมองเห็นของทารก ทารกมองเห็นตอนกี่เดือน
สายตาของทารกมีความไวแสงสูง
ทารกแรกเกิดโดยเฉพาะในช่วงทารกอายุ 1 เดือน ดวงตาจะมีความไวต่อแสงสูงกว่าของผู้ใหญ่ถึง 50 เท่า เราจะสังเกตได้ว่า บางครั้งทารกแรกเกิดจะตื่นลืมตาแบบไม่เต็มที่เพราะสายตายังไวต่อแสงมาก บางคนเวลานอนห้องต้องมืดสนิทชนิดที่ไม่มีแสงหรือเงาแสงเลยเพราะเขาจะตื่นง่าย หรือ บางครั้งที่มีแสงเข้ามา เขาจะหลับตาปี๋ เบี่ยงหน้าหนี
ทารกมองเห็นตอนกี่เดือน
จริง ๆ แล้ว ทารกมองเห็นตั้งแต่สัปดาห์แรกเมื่อเกิดเลยค่ะ แต่ระบบประสาทตายังไม่พัฒนาไม่เต็มที่ ในช่วงแรกเขาจึงมองเห็นไม่ชัดแม้ว่าของเล่น หรือหน้าคุณแม่จะจ่อเข้าไปใกล้ก็ตาม ลองเทียบง่าย ๆ เหมือนตอนเราเพิ่งลืมตาตื่น ตาจะมีความพร่ามัวแล้วจะค่อย ๆ จูนกลับมามองชัดเหมือนเดิม การมองเห็นของลูกทารกก็คล้ายแบบนั้น เพียงแต่เขาจะต้องใช้เวลาแต่ละเดือนในการค่อย ๆ พัฒนาไปพร้อมกับการกระตุ้นของพ่อแม่ค่ะ
- การมองเห็นของทารกในสัปดาห์แรก
มองเห็นลวดลายต่าง ๆ แยกความสว่างกับความมืด เพ่งมองสิ่งที่อยู่ห่างออกไปได้ประมาณ 10 นิ้ว ถ้าไกลกว่านี้จะพร่ามัว ลูกยังไม่สามารกลอกตาได้ และสนใจมองหน้าคนเป็นพิเศษ
- การมองเห็นของทารกอายุ 1 เดือน
สามารถมองได้ไกลขึ้นคือประมาณ 15 นิ้ว มือลูกสามารถเอื้อมไปแตะสิ่งที่มองเห็นได้
- การมองเห็นของทารกอายุ 2 เดือน
แยกความแตกต่างของวัตถุได้ เริ่มมองวัตถุที่จุดกึ่งกลาง
- การมองเห็นของทารกอายุ 3 เดือน
ปรับระยะมองภาพใกล้ไกลได้ ตาทั้งสองข้างเคลื่อนไหวประสานกันได้ดี
- การมองเห็นของทารกอายุ 4 เดือน
การมองเห็นสมบูรณ์ขึ้น คือปรับภาพให้ชัดเจนได้
- การมองเห็นของทารกอายุ 5 เดือน
ลูกจดจำวัตถุได้ หันมองหาเสียงได้ มองสิ่งที่ผ่านหน้าไปเร็ว ๆ ได้
- การมองเห็นของทารกอายุ 6 เดือน
ลูกเริ่มมองเห็นวัตถุที่มีสีสันได้ จำหน้าคนได้ มองสิ่งของได้ไกล 6 เมตร และการเคลื่อนไหวของตาทั้งสองข้าง สามารถควบคุมและประสานงานได้ดี
ลูกทารกมองเห็นสีไหม สายตาลูกทารกจะเริ่มเห็นสีของสิ่งของเมื่อไหร่
ในช่วงสัปดาห์แรก สายตาทารกจะมองเห็นสิ่งของพร่ามัวเป็นสีดำ สีขาว และสีเทาเท่านั้น เนื่องจากเซลล์ประสาทในจอตาและสมองที่ควบคุมการมองเห็นสียังพัฒนาไม่เต็มที่ หลังจากหนึ่งสัปดาห์ไปแล้วเขาก็จะค่อย ๆ เริ่มเห็นสีมากขึ้น โดยจะมองเห็นสีโทนร้อนก่อนเป็นส่วนใหญ่ เช่น สีแดง สีส้ม สีเหลือง เป็นต้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่า ทำไมของเล่นของทารกจึงต้องมีสีสดใสมาก เพื่อช่วยกระตุ้นการมองเห็นที่ประสานกันทั้งความคมชัด แสง และสีนั่นเอง
วิธีกระตุ้นการมองเห็นของทารก
- คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธียื่นหน้าเข้าไปใกล้ ๆ ลูก เพื่อให้เขาพยายามจ้องมอง ใช้มือคว้า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเรื่องการกะระยะจากการมองเห็นด้วย
- หากมีโมบายห้อยเหนือที่นอน เน้นใช้สีสดใส หมุนหรือไหวได้ช้า ๆ เพื่อกระตุ้นให้สายตาลูกมองไปมาได้
- ของเล่นของลูกควรเน้นสีสดใส โดยเริ่มจากสีโทนร้อนก่อน เช่น สีแดง สีส้ม สีเหลือง เป็นต้น ช่วงลูกอายุ 2 เดือนขึ้นไป ค่อย ๆ เพิ่มสีอื่น เช่น สีน้ำเงิน สีเขียว สีฟ้า เป็นต้น
- อาจใช้วิธีกระตุ้นการได้ยินร่วมด้วย เช่น เขย่ากรุ๊งกริ๊งเพื่อให้ลูกหันและมองตามเสียง เป็นต้น
- ลองให้ลูกเอื้อมมือขว้างจับหน้าแม่ ของเล่น ซึ่งกระตุ้นการใช้สายตามองเห็น การกะระยะ และการทำงานของกล้ามเนื้อแขนและมือ