ในปัจจุบัน เราพบเด็กที่มีภาวะสายตาสั้น (Nearsightedness หรือ myopia) เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดย จะพบในเด็กชาวเอเชียมากกว่าทางฝั่งยุโรป อาจจะเริ่มพบได้ตั้งแต่ในวัยอนุบาลหรือประถมช่วงต้น และเด็กที่ตรวจพบว่ามีสายตาสั้นตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีความเสี่ยงที่สายตาสั้นมากในอนาคต (สายตาสั้นมาก คือ ค่าสายตามากกว่า -5.0 Diopter)
จักษุแพทย์หลายท่านพยายามศึกษาถึงสาเหตุของสายตาสั้นในเด็ก ซึ่งยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัด แต่หลายการศึกษาพบปัจจัยเสี่ยงที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ เชื้อชาติ (พบในเด็กเอเชียมากกว่าทางยุโรป โดยบางพื้นที่พบถึง 80%), ปัจจัยทางกรรมพันธ์ุ (เด็กที่พ่อแม่สายตาสั้นจะมีความเสี่ยงมากกว่าเด็กที่พ่อแม่สายตาปกติ), ภาวะสิ่งแวดล้อม (เด็กในพื้นที่เมือง สายตาสั้นมากกว่าเด็กในชนบท) และการใช้สายตาดูใกล้ๆนานๆ
สายตาสั้นสามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 5 – 18 ปี และส่วนมากค่าสายตาจะเพิ่มเร็วในช่วงอายุ 8-10 ปี วิธีสังเกตุว่าเด็กจะมีสายตาสั้น คือ ชอบหยีตาหรือหรี่ตามอง ชอบดูอะไรใกล้ๆมากกว่าของที่อยู่ไกลๆ บางคนต้องเดินเข้าไปดูโทรทัศน์ใกล้ๆ ก้มอ่านหนังสือหรือเล่นของเล่นใกล้ๆ เด็กบางคนมีปัญหาเรียนไม่ทันเพื่อนเนื่องจากมองกระดานเรียนไม่เห็น จดงานไม่ทัน หากบุตรหลานของท่านมีพฤติกรรมเหล่านี้ ประกอบกับมีกรรมพันธ์ุพ่อแม่สายตาสั้น ควรพามาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจประเมินสายตา
สายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia) เกิดขึ้นจากการเพ่งมองสิ่งที่อยูใกล้นานๆ เช่น เพ่งมองคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือเล่นเกมส์นานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อตามีการทำงานมากเกินไปจนเกิดการเกร็งค้าง มักเป็นชั่วคราว หากกล้ามเนื้อนี้คลายตัว สายตาจะกลับมาเหมือนเดิม การป้องกันภาวะสายตาสั้นเทียม คือ ควรมีการพักสายตาเป็นระยะๆเมื่อต้องใช้สายตาเพ่งมองใกล้ๆ เช่น พักสายตา 1 นาที ทุกๆครึ่งชั่วโมง และไม่ควรใช้สายตาในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอหรือจ้องมองตัวหนังสือที่มีขนาดเล็กมากเกินไป เนื่องจากจะกระตุ้นกล้ามเนื้อตาให้ทำงานหนัก
เมื่อสงสัยว่าเด็กจะมีสายตาสั้น แนะนำให้รีบพบจักษุแพทย์ ซึ่งในการวัดค่าสายตาเด็กบางรายอาจต้องหยอดยาเพื่อลดการเพ่งเพื่อให้ได้ค่าสายตาที่แท้จริง หากได้รับการยืนยันว่ามีสายตาสั้น ควรใส่แว่นเพื่อให้เด็กมีการมองเห็นที่ชัดขึ้น ทั้งนี้ จักษุแพทย์จะมีนัดตรวจติดตามค่าสายตาเป็นระยะๆ โดยค่าสายตาไม่ควรเพิ่มมากกว่า -0.5 Diopter ต่อ 6 เดือน ในเด็กบางรายที่ค่าสายตาเพิ่มขึ้นเร็ว จักุแพทย์อาจแนะนำให้หยอดยา 0.01% Atropine เพื่อชะลอภาวะสายตาสั้น แต่ยามีผลข้างเคียง คือ ม่านตาขยายทำให้ตาสู้แสงไม่ได้และภาวะภูมิแพ้ที่เยื่อบุตา นอกจากการหยอดยา ควรแนะนำให้เด็กมีกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 1-2 ชั่วโมง เนื่องจากมีการศึกษายืนยันว่ากิจกรรมกลางแจ้งมีผลต่อการชะลอภาวะสายตาสั้นได้ และแนะนำให้ควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือและ Tablet วันละไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง เฉพาะรายการที่มีประโยชน์กับเด็ก (ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้ดูหน้าจอทุกชนิด)
การดูโทรทัศน์และการเล่นโทรศัพท์มือถือในเด็ก การดูโทรทัศน์และเล่นโทรศัพท์มือถือนาน ๆ มีผลต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก เกิดปัญหาด้านสมาธิในการเรียน รบกวนวงจรการนอนหลับ และเกิดปัญหาโภชนาการเกินได้ในบางราย ตามคำแนะนำของ American Academy of Pediatrics กล่าวไว้ว่า
รักลูก Community of The Experts
พญ.ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ
จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตาผิดปกติ โรงพยาบาลพระรามเก้า