ท้องปุ๊บ เบาหวานมาปั๊บ แม่ตั้งครรภ์ต้องรับมืออย่างไรให้ลูกในท้องสุขภาพดี
คุณแม่ตั้งครรภ์คนไหนบ้างคะที่กำลังมีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งที่ก่อนตั้งท้องไม่เคยเป็นและไม่มีอาการของโรคเบาหวานเลยแม้แต่นิดเดียว โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์สามารถเกิดได้กับแม่ท้องทุกคนค่ะ และหากดูแลรักษาไม่ถูกต้อง อาจส่งผลต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ รวมถึงส่งผลต่อความเสี่ยงขณะคลอดด้วย
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มี 2 กรณี
- เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์กรณีแรก คือ คุณแม่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
- เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์กรณีที่สอง คือ เป็นเบาหวานเมื่อตั้งครรภ์แล้ว ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes) คือ เบาหวานที่ตรวจพบครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ โดยส่วนมากจะพบขณะตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2-3 คือ ช่วงประมาณ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งจะพบได้ประมาณ 2% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด
สาเหตุของการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน
- มีประวัติความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
- ความอ้วน (ดัชนีมวลกายหรือ BMI มากกว่า 25 กก./ตร.ม.)
- อายุที่เพิ่มขึ้น โดยคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงมากขึ้น
- การตั้งครรภ์ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลายชนิดที่เพิ่มขึ้น เช่น growth hormone, steroid hormone ซึ่งออกฤทธิ์ต้านอินซูลิน จึงทำให้แม่ท้องมีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและเป็นเบาหวานได้ในที่สุด
แม่ตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการบ่งบอกของโรค จะทราบก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจคัดกรอง โดยสูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงและกำหนดเวลาที่ควรตรวจคัดกรองเบาหวาน แม่ท้องบางรายที่มีความเสี่ยงมากๆ เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน มีน้ำหนักเกินตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือมีอายุ 30-35 ปี ก็อาจได้รับการตรวจคัดกรองตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ ส่วนคนที่มีความเสี่ยงไม่มากก็อาจได้รับการตรวจคัดกรองตามเวลาที่มีโอกาสเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น เช่น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป หรือในช่วง 24-28 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่แม่ท้องควรรีบพบแพทย์และฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์
การดูแลแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวาน
- สำหรับแม่ท้องที่เป็นเบาหวาน ไม่ว่าจะกรณีใดต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ ลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล เช่น ขนมปัง เค้ก ขนมหวาน น้ำอัดลม ผลไม้ที่มีรสหวานจัด พบคุณหมอตามนัดอย่างเคร่งครัด ซึ่งคุณหมอจะนัดแม่ถี่กว่าเคสปกติ
- อาจมีความจำเป็นต้องตรวจอัลตราซาวนด์บ่อยครั้งเพื่อตรวจการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ประเมินการทำงานของรก น้ำหนักของลูก และปริมาณน้ำคร่ำ หมั่นนับครั้งที่ลูกดิ้น ถ้าลูกดิ้นน้อยครั้งควรรีบปรึกษาแพทย์
- แม่บางคนถ้าควบคุมอาหารแล้วระดับน้ำตาลยังสูงอาจมีความจำเป็นต้องฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ถ้าแม่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ค่อยดีอาจจะเกิดภาวะลูกน้ำหนักตัวมาก คลอดยาก และอาจเกิดการบาดเจ็บขณะคลอดหรืออาจต้องผ่าตัดคลอด นอกจากนั้นอาจเกิดปัญหาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การหายใจผิดปกติหลังคลอดได้
- สำหรับแม่ที่ไม่ได้เป็นเบาหวานมาก่อน ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักจะหายเป็นปกติ แพทย์จะนัดแม่มาพบเพื่อตรวจเลือดโดยให้ดื่มน้ำตาล 75 กรัมและเจาะเลือดดู ถ้าผลเป็นปกติก็แสดงว่าหาย แต่ถ้าผลผิดปกติแม่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานซึ่งต้องได้รับการรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่องค่ะ