ไวรัสซิกาอันตรายอย่างมากกับแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ไวรัสซิกาทำร้ายทารกอย่างไร และป้องกันได้ไหม เรามีคำแนะนำค่ะ
โรคไข้ซิกาเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2490 ในป่าซิกา ประเทศยูกันดา ซึ่งไวรัสซิกาเป็นอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single-stranded RNA) อยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) จำพวกเดียวกับ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค
ระยะฟักตัวของโรค จะหลังจากได้รับเชื้อไวรัสซิกา แสดงอาการได้เร็วที่สุด 3 วัน และช้าที่สุด 12 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงประมาณ 4-7 วัน โดยอาการที่เห็นได้ชัดเจนคือในช่วง 2-5 วันแรก
ทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิกาจะพบการเกิด ภาวะศีรษะเล็กได้ เกิดความผิดปกติได้แม้มารดาไม่มีอาการผิดปกติ โดยไวรัสจะเพิ่มจำนวนขึ้นภายในเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทตั้งต้นถูกทำลาย ทำให้เซลล์สมองของทารกที่ติดเชื้อไม่มีการเจริญเติบโต เกิดสมองพิการแต่กำเนิดส่งผลต่อการได้ยิน การมองเห็น พัฒนาการและสติปัญญา
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนที่จำเพาะเจาะจงกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา การรักษาหลักคือการรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการปวดพาราเซตามอล เป็นต้น
ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้ยากำจัดแมลงหรือยาทาป้องกันยุงกัด นอนในมุ้ง และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยการทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง หรือปิดฝาภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำได้ หากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ หรืออาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที