ยิ่งมีลูก ผู้หญิงยิ่งแก่เร็ว เรื่องนี้ชัวร์หรือเท็จเรามาเช็กกันด้วยผลวิจัยกันเลยว่า ผู้หญิงที่มีลูกแล้วจะดูแก่มากกว่าเดิม แถมยังดูแลตัวเองได้น้อยลงด้วย
เป็นแม่ไม่ง่ายเลยนะคะ ไหนจะแบกน้ำหนักเป็นสิบกิโล ไหนจะแพ้ท้อง เวลาคลอดก็แสนจะกังวลไปทุกอย่าง นี่ยังไม่รวมเรื่องหมดสวยในช่วงตั้งครรภ์อีกนะ บอกเลยว่า "ไม่ท้องเองไม่รู้หรอก" การเป็นแม่จึงเต็มไปด้วยความเสียสละที่ยากลำบากแต่ก็เต็มไปด้วยความสุขค่ะ
ทราบไหมคะว่าตอนนี้มีผลวิจัยออกมาบอกให้คนเป็นแม่อย่างเราต้องตะลึงมากขึ้นอีกว่า "การมีลูกหนึ่งคน จะทำให้แม่ต้องแก่ลงกว่าเดิมในระดับเซลล์ถึง 11 ปี"
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์จเมสันของสหรัฐฯ ศึกษาข้อมูลจากตัวอย่างเลือดของหญิงอเมริกันอายุ 20-44 ปี ราว 2,000 คน ที่เข้าร่วมในโครงการตรวจสุขภาพและภาวะโภชนาการระดับชาติระหว่างปี 1999-2002 โดยศึกษามุ่งเน้นไปที่การวัดความยาวของเทโลเมียร์ (Telomere) ซึ่งเป็นส่วนปลายของโครโมโซมที่เป็นเสมือนปลอกหุ้มปกป้องสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอในเซลล์เอาไว้
ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Human Reproduction ระบุว่า หญิงที่มีบุตรแล้วจะมีความยาวของเทโลเมียร์หดสั้นลงกว่าหญิงที่ไม่มีบุตรโดยเฉลี่ย 4.2% ซึ่งเป็นความยาวที่เท่ากับเทโลเมียร์ของหญิงที่มีอายุแก่กว่าถึง 11 ปี แสดงว่าเซลล์ของหญิงที่มีบุตรจะถูกเร่งให้ชราลงเร็วยิ่งขึ้น และยิ่งมีบุตรมากคนขึ้นเท่าไหร่ เทโลเมียร์ก็จะยิ่งสั้นลงเท่านั้น
ดร.แอนนา พอลแล็ก ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า ความยาวของเทโลเมียร์นั้นเชื่อมโยงกับสุขภาวะของร่างกายในระยะยาวรวมทั้งอายุขัยด้วย ซึ่งการที่หญิงมีบุตรมีเทโลเมียร์หดสั้นลงราว 4.2% นั้นน่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับว่าเซลล์ร่างกายแก่ชราลงในอัตราที่มากยิ่งกว่าการสูบบุหรี่หรือเป็นโรคอ้วนด้วยซ้ำ
"เรารู้มาก่อนแล้วว่าการมีบุตรนั้นเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือเบาหวานให้กับคนเป็นแม่ แต่ผลวิเคราะห์ล่าสุดนี้ยังชี้ว่าการตั้งครรภ์และคลอดลูกยังเร่งกระบวนการเข้าสู่วัยชราของเซลล์ให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้นอีกด้วย" ดร.พอลแล็กกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาล่าสุดนี้ขัดกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์ในแคนาดา ซึ่งวัดความยาวของเทโลเมียร์ในหมู่หญิงที่คลอดบุตรแล้วทารกรอดชีวิตที่ประเทศกัวเตมาลา โดยพบว่าหญิงเหล่านี้กลับมีส่วนของเทโลเมียร์ขยายยาวมากขึ้น
ดร.พอลแล็กอธิบายในส่วนนี้ว่า "ผลการศึกษาผู้หญิงในชุมชนสองแห่งที่มีสภาพทางสังคมวัฒนธรรมแตกต่างกัน อาจทำให้ได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกันได้ เพราะการที่เทโลเมียร์หดสั้นลงอาจไม่ได้มาจากการคลอดบุตรโดยตรง แต่การที่แม่ชาวอเมริกันมีความเครียดมากกว่า เพราะไม่มีเครือข่ายทางสังคมสนับสนุนรองรับการเลี้ยงดูบุตรเหมือนแม่ชาวกัวเตมาลา อาจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เทโลเมียร์หดสั้นลงก็เป็นได้ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมในเรื่องนี้ต่อไป"
ขอบคุณข้อมูลจาก: www.bbc.com/thai