ในปี 2564 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะยกให้เป็นปีแห่งการเดินหน้ายกระดับภาษาอังกฤษ ของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนสังกัด สพฐ.
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษว่าครูผู้สอนจะต้องมีพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับ A และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานความรู้ภาษาอังกฤษจะต้องอยู่ในระดับ B ตามตัววัดมาตรฐานสากล หรือ The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR)
และขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างการวางแผนให้ครูมีสมรรถนะความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมผ่านระบบออนไลน์ มีการทดสอบสมรรถนะและมีการไล่ระดับสมรรถนะด้านภาษา รวมถึงจะนำคะแนนภาษาอังกฤษมาเป็นค่าคะแนนให้ครูใช้เลื่อนวิทยฐานะด้วย เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้านภาษาให้แก่ครูมากขึ้น
ส่วนนักเรียนนั้น ทาง สพฐ.จะเริ่มฝึกการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยด้วยการสื่อสารภาษาคำศัพท์ที่เข้าใจง่าย ซึ่งครูผู้สอนจะต้องส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษในโรงเรียนให้มากขึ้น โดยจะต้องสอดแทรกภาษาอังกฤษในทุกกลุ่มการเรียนรู้วิชาหลักด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาษาอังกฤษนั้นสำคัญในยุคนี้มากๆ แต่หลายคนก็ตั้งคำถามว่าการที่ให้ครูพูดภาษาไทยคำ ภาษาอังกฤษคำนั้นจะช่วยให้ทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทยดีขึ้นจริงหรือไม่ ทั้งนี้จากเนื้อหาข่าวยังไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบการสอนหรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนว่าการสอดแทรกภาษาอังกฤษของครูในแต่ละรายวิชาจะเป็นอย่างไร บางโรงเรียนอาจจะมีหลักสูตรหรือตำราที่แตกต่างกันออกไป บางโรงเรียนอาจให้ครูผู้สอนส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียนให้มากขึ้น ซึ่งก็อาจจะขึ้นอยู่กับครูผู้สอนด้วยว่าจะใช้เทคนิคอะไร
อ้างอิง : ไทยโพสต์