อยากให้แผลผ่าคลอดสวย ไม่มีรอยแผลเป็นต้องมีวิธีดูแลที่ถูกต้องเพื่อลดรอยแผลเป็น พังผืดไม่เจ็บแผล ต้องทำตามวิธีต่อไปนี้
7 วิธีดูแลแผลผ่าคลอด ทำยังไงไม่ให้มีรอยแผลเป็น แผลสวยหลังคลอดลูก
ทำไมแม่ท้องต้องผ่าคลอด
การผ่าคลอดเป็นการผ่าตัดคลอดทารกออกมาทางหน้าท้องบริเวณด้านล่างของมดลูกและจะทำในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น คุณหมอประจำตัวจะมีข้อบ่งชี้เพื่อใช้พิจารณาในการผ่าตัด ดังนี้
- ทารกมีขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับกระดูกเชิงกรานของแม่ ส่วนใหญ่ทารกมักเอาหัวลง ช่วงใกล้คลอดแพทย์จะตรวจขนาดศีรษะทารกเทียบกับกระดูกเชิงกรานของแม่ เพราะถ้าหัวใหญ่กว่ามากก็จะติดขัดจนอาจทำให้เกิดอันตรายทั้งแม่และลูกได้
- ท่าของทารกผิดปกติ คือไม่เอาหัวลง หรือมีส่วนนำมากกว่าหนึ่ง เช่น มีศีรษะพร้อมกับแขน หรือขา
- มีความผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างรอคลอด เช่น คุณแม่ปวดท้องคลอดอยู่นานก็ไม่ออกเสียที หรือระหว่างรอคลอดพบว่าการเต้นของหัวใจลดลง ทารกเริ่มมีปัญหาก็จะเปลี่ยนไปใช้วิธีผ่าตัด เนื่องจาก รวดเร็วและปลอดภัยที่สุด
- เคยมีการผ่าคลอดในครรภ์ครั้งก่อน
- คุณแม่มีอายุมาก ตั้งครรภ์ตอนอายุ35 ปีขึ้นไป สภาพร่างกายจึงไม่สมบูรณ์เท่าแม่อายุน้อย ทำให้แรงเบ่งไม่พอ
- ความต้องการของคุณแม่เอง ถ้าไม่มีเหตุผิดปกติ คุณหมอจะอธิบายถึงข้อดีและให้คลอดแบบธรรมชาติ ซึ่งหากคุณแม่ยืนยันความประสงค์ว่าจะผ่าตัดคลอด ก็สามารถทำได้เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่คุณหมอจะต้องตรวจสภาพร่างกายทั้งตัวคุณแม่เอง และทารกในครรภ์อย่างละเอียด เพื่อจะได้ไม่เกิดอันตรายทั้งลูกและแม่ค่ะ
รอยแผลผ่าคลอด 2 แบบ
- รอยแผลผ่าคลอดแนวตั้ง ปกติการผ่าคลอด จะต้องผ่าลงไปถึง 7 ชั้น โดยผ่าตัดเนื้อผ่านชั้นผิวหนัง จากนั้นก็ลงไปเจอไขมันใต้ผิวหนัง ตามด้วยเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มช่องท้อง ผนังเยื่อหุ้มมดลูก และกล้ามเนื้อมดลูกซึ่งเป็นชั้นสุดท้าย การผ่าตัดแนวตั้งจะผ่าจากใต้สะดือลงมาถึงช่วงกลางหัวหน่าว นิยมทำในอดีต เนื่องจาก การแพทย์สมัยนั้นยังไม่ทราบว่าสามารถผ่าแนวนอนได้ พราะเมื่อผ่าลงไปชั้นกลาง ๆ อย่างพวกชั้นเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ เยื่อช่องท้อง เส้นกล้ามเนื้อหน้าท้องจะเป็นแนวตั้ง แพทย์ในอดีตจึงเข้าใจว่าการลงแผลแนวตั้งจะช่วยแหวกกล้ามเนื้อได้โดยไม่ฉีกขาด
- รอยแผลผ่าคลอดแนวขวาง แนวนอน หรือบิกินีไลน์ เมื่อเทียบกับแบบแรกแล้วจะดีกว่าตรงที่ แผลเป็นน้อยกว่า เจ็บน้อยกว่า เนื่องจาก หน้าท้องของแม่ท้องจะมีความหย่อนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น แพทย์ก็จะลงแผลแนวนอนเพื่อเปิดผิวหนังเข้าไปข้างใน เมื่อถึงบริเวณชั้นของกล้ามเนื้อ ก็จะเปลี่ยนไปลงแนวตั้งเหมือนปกติ วิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อไม่ช้ำ และแผลบริเวณผิวหนังสวยกว่าแบบแนวตั้ง
7 วิธีดูแลแผลผ่าคลอด
- ในช่วง 3 เดือนแรก มีโอกาสสูงที่แผลผ่าคลอดจะกลายเป็นคีลอยด์ คือ มีลักษณะหนา นูน สามารถป้องกันได้โดยไม่ยกของหนัก หรือยืดเหยียดแผลมากจนแผลตึงเกินไป การยืดเหยียดจนแผลตึงทำให้ร่างกายปรับสภาพตัวเอง เนื่องจากกลัวว่าแผลจะหลุด จึงสร้างเส้นใยคอลลาเจนหนา ๆ เพื่อทำให้แผลแน่นขึ้น พอเส้นใยคอลลาเจนหนาเกินไปจึงกลายเป็นแผลนูนขึ้นมาเป็นแผลคีลอยด์ในที่สุด
- การทาครีมซึ่งมีส่วนผสมของเสตียรอยด์อ่อน ๆ หรือครีมที่มีส่วนผสมของวิตามินอี ก็สามารถช่วยลดการเกิดแผลเป็นได้ สำหรับคุณแม่ท่านไหนที่ให้นมลูกอยู่ก็ไม่ต้องกังวลใจไปว่าครีมที่ทาจะส่งผลต่อน้ำนม เพราะการทายาเป็นเพียงการใช้ยาภายนอก และเฉพาะที่ ไม่เหมือนการกินที่ตัวยาจะแทรกซึมไปทั่วร่างกาย
- ในช่วงที่ไหมรอยแผลผ่าคลอดยังไม่ละลาย ยังเจ็บแผล หรือมีน้ำซึมออกจากแผล ควรเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ เช่น การใช้พลาสเตอร์ปิดแผลกันน้ำ เพื่อลดการเปียกชื้นที่ทำให้แผลหายช้า หรือ อักเสบ
- ทาครีมบำรุงผิวที่มีมอยเจอร์ไรเซอร์สูง โดยควรทาหลังจากแผลผ่าคลอดแห้งแล้ว หรือไหมละลายแล้ว จะช่วยให้ผิวชุ่มชื้น มีความยืดหยุ่นสูง รอยแผลเป็นนุ่ม
- เลี่ยงการใส่กางเกงที่ขอบกางเกงแน่น หรือกดทับแผล
- พยายามขยับร่างกายให้เป็นปกติอย่างช้า ๆ ไม่หักโหม เพื่อลดการเกิดพังผืด ซึ่งมักจะทำให้แม่หลังคลอดเจ็บรอยแผลผ่าคลอดแม้แผลจะหายสนิทแล้ว
- แม่หลังคลอดควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยไม่มีข้อห้ามอย่างที่เข้าใจกันผิด ๆ เช่น ห้ามกินไข่ ห้ามกินข้าวเหนียม เพราะแผลจะหายช้า เป็นแผลเป็น ซึ่งจริง ๆ คุณแม่สามารถกินได้เลยค่ะ เนื่องจากอาหารเหล่านี้เป็นแหล่งโปรตีนที่ช่วยว่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ นั่นก็คือแผลผ่าคลอดนั่นเอง
โดยปกติหากเย็บแผลคลอดก้วยไหมละลาย คุณหมอจะแปะพลาสเตอร์กันน้ำให้ประมาณ 7 วันแล้วนัดมาดูแผลอีกครั้ง ซึ่งไหมละลายจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วจะละลายหายไปเอง และแผลผ่าคลอดจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์เพื่อสมานและหายดี แต่ในบางคนอาจใช้เวลาถึง 12 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับร่างกาย การดูแลแผลของคุณแม่แต่ละคนด้วย