ลูกอนุบาลเคยหยิบของเพื่อนใส่กระเป๋ากลับบ้านมาแบบไม่ตั้งใจบ้างไหมคะ?
เชื่อเลยว่าใครที่มีลูกอนุบาลต้องเจอประสบการณ์นี้กันมาแล้วเช่น ลูกหยิบดินสอ แก้วน้ำ ผ้ากันเปื้อน ตุ๊กตา หรือของชิ้นเล็กๆ ของเพื่อนติดใส่กระเป๋ากลับบ้านมาด้วย ถ้าใครเจอสถานการณ์แบบนี้ต้อง "ทำใจนให้เป็นกลาง" ลองทำตามคำแนะนำของเราค่ะ
1. เด็กๆ อาจใช้ของที่มีสี ลาย ขนาด คล้ายกัน จึงอาจสับสนเมื่อเก็บของใส่กระเป๋า
2. เด็กๆ อาจแลกกันเอง เช่น วันนี้ให้ยืมตุ๊กตาสลับกันเล่น เป็นต้น
3. ลูกอยากเล่นของเพื่อนเลยหยิบมาโดยไม่บอกเพื่อน
4. คุณครูกำลังสอนให้รู้จักรับผิดชอบของของตัวเอง แต่เด็กๆ ยังไม่คล่องจึงอาจสับสนในการแยกแยะของของตัวเอง
1. ในกรณีลูกหยิบสลับกับเพื่อนเพราะสี ลาย ขนาดคล้ายกัน คุณพ่อคุณแม่อาจแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มลายที่เป็นเอกลักษณ์ลงบนของของลูก เช่น ไดโนเสาร์ตัวโปรด รูปพิมพ์หน้าลูก เป็นต้น
2. ในกรณีที่ลูกบอกว่าแลกกันกับเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องคุยกันว่า น้องแลกของเล่นกันจริงไหมเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน และกำหนดวันส่งคืน โดยวันส่งคืนพ่อแม่ควรไปด้วยและให้ลูกแลกคืนกัน ซึ่งจะช่วยสร้างนิสัยเรื่องความรับผิดชอบให้ลูกได้มากขึ้นค่ะ
3. ในกรณีที่ลูกหยิบมาเพราะอยากเล่นโดยไม่บอกเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกฟังง่ายๆ เช่น ถ้าหนูหยิบของเพื่อนมาแล้วไม่บอก เพื่อนจะเสียใจนะ เหมือนเวลาที่คุณแม่หยิบของเล่นลูกไปเก็บแล้วลูกหาไม่เจอ หนูจะเสียใจใช่ไหม ถ้าหนูอยากเล่น หนูขอเพื่อนเล่นนะคะ หรือเอาของเล่นของเราไปแลกกันเล่นกับเพื่อนนะคะ"
4. ในกรณีที่คุณครูกำลังฝึกในเด็กๆ รับผิดชอบของของตัวเอง คุณครูและผู้ปกครองต้องแจ้งกันเป็นระยะว่ากำลังให้เด็กเรียนรู้เรื่องอะไร และอาจจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง เพื่อให้ผู้ปกครองเตรียมตัวว่าจะต้องเจอกับอะไร และช่วยดูแลกันได้ถูกต้อง เช่น ลูกอาจจะหยิบของสลับกับเพื่อนแน่นอน จะได้เตรียมสอนให้ลูกนำของไปคืนเพื่อนแล้วแลกของตัวเองกลับมา เป็นต้น
สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องจำให้ขึ้นใจคือ "ใจกว้าง" เข้าไว้ค่ะ และไม่ควรพูดคำต้องห้าม "ลูกขโมยของเพื่อนมาหรอ" เพราะเด็กหลายคนยังไม่เข้าใจคำว่า "ขโมย" ในความหมายที่มากเท่าผู้ใหญ่ค่ะ ดังนั้นการหยิบของเพื่อนมาโดยไม่บอก อยากเล่นบ้างเลยหยิบมา จึงอาจไม่ใช่การขโมยในความเข้าใจของลูก ดังนั้น "ห้ามตีตราลูกเราหรือลูกคนอื่น" ว่าขี้ขโมย แต่ควรสอบถามให้ชัดเจนว่าที่ลูกหยิบกลับมาเพราะอะไร เพื่อช่วยกันดูแลได้ถูกต้องค่ะ
ลูกอนุบาลยังต้องการเวลาในการเรียนรู้ จดจำ และพัฒนาอีกมากนะคะ ดังนั้นพ่อแม่ทุกคนคือหน่วยสนับสนุนที่จะต้องช่วยกันคลี่คลายและสร้างความเข้าใจระหว่างกันเอง และระหว่างเด็กๆ ให้มากค่ะ