ลูกหกล้มกลิ้งคว่ำกลิ้งหงายเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่มีแผลก็ไม่ต้องกังวลอะไร แต่ถ้าลูกตกจากที่สูง ล้มหัวฟาดแรง ๆ ไม่มีเลือดออกก็ต้องระวังค่ะ
ลูกหกล้มหัวกระแทกอย่านิ่งเฉย เลือดออกในสมองเสียชีวิตได้
การหกล้มของเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กวัย 1-2 ปี ถือเป็นเรื่องปกติเนื่องจากพัฒนาการสมอง การเดิน หรือทรงตัวยังไม่สมบูรณ์ รวมทั้งร่างกายที่พัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้มีโอกาสหกล้มได้ง่าย หากไม่ได้ล้มบ่อย ๆ หรือล้มแรงหัวกระแทกจนหมดสติก็ยังไม่เข้าข่ายที่เป็นอันตรายต่อลูก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกตกจากที่สูง หกล้มหัวฟาดพื้นแรง ๆ อาจเสี่ยงภาวะเลือดออกในสมองจนทำให้ลูกเสียชีวิตได้
ภาวะเลือดออกในสมองคืออะไร
ภาวะเลือดออกในสมอง คืออาการที่มีเลือดออกในสมอง ทำให้สมองบวมและความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ หากได้รับอุบัติเหตุจะต้องคอยสังเกตอาการอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตของเด็ก (และผู้ใหญ่) ที่ได้รับบาดเจ็บ
ทำอย่างไรเมื่อลูกหกล้ม
1. สังเกตขณะที่ล้มลูกร้องไห้หรือไม่ ถ้าร้องไห้ทันทีก็สบายใจได้ว่าลูกไม่ได้หัวฟาดพื้นรุนแรงจนหมดสติ เด็กบางคนอาจไม่ร้องไห้ แต่เขาอาจจะลุกขึ้นนั่งหรือเดินได้ ในกรณีที่ลูกไม่รู้สึกตัว ให้สังเกตว่าเขายังหายใจหรือไม่ ชีพจรเป็นอย่างไร ถ้าลูกไม่มีชีพจรต้องรีบ CPR โดยด่วนและรีบพาส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
2. ปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากมีรอยโนเหมือนลูกมะกรูดบริเวณที่ล้มกระแทกพื้นขึ้นมา ให้ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งหรือเจลประคบบริเวณที่ปูดโนอย่างน้อย 15 นาที เพื่อลดอาการบวม ในส่วนที่โดนกระแทก
3. ช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังลูกเกิดอุบัติเหตุให้คอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ่้ามีอาการ ซึม อ่อนแรง ชัก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ชัก เกร็ง กระตุก ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที
อาการผิดปกติเมื่อลูกหกล้มแรง ต้องไปโรงพยาบาลทันที
- เมื่อสลบและตื่นขึ้นมาโดยไม่มีอาการบ่งชี้ใดๆ ต้องคอยสังเกตอาการข้างเคียง เพราะลูกมีความเสี่ยงภาวะเลือดออกในสมองแม้ตอนแรกจะยังรู้สึกตัวปกติ แต่นานไปสมองอาจบวมมากขึ้นและลูกอาจเสียชีวิตได้
- ศีรษะมีแผลบวม โน ฉีกขาด
- มีก้อนบวมโตบริเวณหู
- บริเวณศีรษะมีรอยช้ำ
- ลูกมีอาการซึม
- ลูกไม่สามารถตอบสนอง ไม่ทำตามคำสั่งหรือพูดคุยได้
- อ่อนแรง เดินเซ
- มีอาการชักหรือช็อก
- มีเลือดไหลออกจากจมูกหรือหู
- เด็กมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน
- เด็กเล็ก ร้องกวนตลอดเวลา
อุบัติเหตุสำหรับเด็ก แม้ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ไม่ใช่ไม่บาดเจ็บ บางครั้งการบาดเจ็บของลูกเป็นการบาดเจ็บจากข้างในยิ่งเด็กเล็กที่ยังพูดไม่ได้ สื่อสารไม่เป็นต้องหมั่นสังเกตและรีบพาไปรักษาค่ะ จะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบา ลดโอกาสจากการเสียชีวิตได้