สถิติของเด็กพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่ จากตัวของโรคและความผิดปกติจากสมอง เพราะเราเข้าใจว่า คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกคนพิเศษ ต้องใช้ความเข้าใจ รวมถึงต้องการวิธีการ และแนวทางการดูแลลูกคนพิเศษ
“รักลูกเป็นพิเศษ” จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญ รศ. ดร. นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ มาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่
EP04 เราชวนมารู้จักหนูคนพิเศษและเข้าใจหนูน้อย LD ให้มากขึ้น เพื่อไขความข้องใจ แบบไหนใช่ LD หรือไม่ใช่?
เป็นลักษณะของการตระหนักของสังคมในยุคนี้ว่าความบกพร่องหรือความล่าช้าในเรื่องของพัฒนาการเป็นสิ่งที่พ่อแม่ให้ความสนใจค่อนข้างมาก ประกอบกับเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคในกลุ่มนี้ได้มีการเปลี่ยน เพราะฉะนั้นถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าความชุกของโรคในกลุ่มพัฒนาการล่าช้ามีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีงานวิจัยพูดถึงว่าความชุกของโรคนกลุ่มนี้พบได้ราวๆ เกือบร้อยละ 20 ของเด็กวัยเรียน ถือว่าค่อนข้างเยอะ เพราะถ้าเราตีในชั้นเรียนหนึ่งประมาณ 40-50 คน ร้อยละ 20 นี้ถือว่ามีปริมาณพอสมควรในชั้นเรียนเลย ในไทยเองก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น
เพียงแต่การทำวิจัยตรงนี้ของประเทศไทยเองอาจจะมีข้อมูลของแต่ละโรคไม่ชัดเจนมากนัก ตัวอย่างเช่น ในกรณีของโรคสมาธิสั้นเคยมีงานของคุณหมอทวีศิลป์ (นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน) สมัยที่ท่านเป็นผู้อำนวยการสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ท่านเคยศึกษาไว้ว่าความชุกของสมาธิสั้นในประเทศไทยอยู่ราวๆ ร้อยละ 8 ของเด็กวัยเรียน ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ เมื่อกี้ร้อยละ 20 คือทุกโรครวมกัน
ลักษณะของเด็กที่เราใช้คำว่าเด็กพิเศษ คือ เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ต้องการความช่วยเหลือบางอย่างเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นๆ มักหมายถึงเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าในบางด้าน หรือในทุกด้าน ก็แล้วแต่โรคจะมีลักษณะอย่างไร
บางโรคอาจจะต้องการความช่วยเหลือเรื่องการติดต่อสื่อสาร บางโรคเป็นเรื่องของพัฒนาการล่าช้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวเอง หรือบางโรคก็จะเป็นปัญหาเรื่องของระบบประสาทพื้นฐาน เช่น การมองเห็น การได้ยิน เป็นต้น
หลักการของการเกิดโรคในกลุ่มเด็กพิเศษ จริงๆ เกิดมาจากปัญหาของระบบประสาท ก็คือ เป็นโรคนี้จริง แต่ปัจจุบันเราพบสภาวะที่ชอบใช้คำว่า เทียม จริงๆ แล้วลักษณะว่าจะเป็น ออทิสติกเทียม หรือ สมาธิสั้นเทียม ไม่มีโรคแบบนี้อยู่จริงนะ เพียงแต่เป็นลักษณะของการใช้คำใกล้เคียงกับตัวโรคหลัก แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวเด็ก แต่เกิดจากแนวทางการเลี้ยงดูที่ทำให้ตัวเด็กเองซึ่งไม่ได้เป็นโรคแต่มีอาการคล้ายกับการเป็นโรคได้ คือเหมือนเป็นปัญหาจากการเลี้ยงดูทำให้เกิดอาการคล้ายๆ กับเป็นโรคซึ่งจริงๆ ไม่ได้เป็น
เพราะฉะนั้นเด็กที่มีสภาวะ เทียมทั้งหลาย เมื่อได้รับการปรับการเลี้ยงดู เด็กจะสามารถดีขึ้นได้ไวเพราะตัวเค้าเองไม่ได้เป็นโรค ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้พฤติกรรมบำบัดหรือกิจกรรมส่งเสริมลูกได้
ต้องอ้างอิงที่เขาสำรวจกันในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกเช่นเดิม ตัวงานวิจัยมักออกมาจากตรงนั้นเยอะ อย่างที่หมอได้บอกแล้วว่าเราพบว่าเด็กที่มีปัญหาในเรื่องของพัฒนาการในวัยเรียนเจอได้เกือบๆ ร้อยละ 20 ครึ่งหนึ่งเป็นโซนสมาธิสั้น อยู่ประมาณร้อยละ 8 ถึงร้อยละ 9
อันดับสองรองลงมาคือกลุ่มLD คือกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องของการเรียนรู้ ซึ่งเราจะคุยรายละเอียดกันต่อไป แล้วก็จะเป็นโรคอื่นๆ อีก อย่างออทิสซึ่ม ก็จะเจออยู่ราวๆ ประมาณ 2% แล้วก็จะเป็นกลุ่มโรคผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมองเห็นผิดปกติ หรือปัญหาการได้ยิน อันนี้จะอยู่ราวๆ ที่น้อยกว่าร้อยละ 1 แล้วก็โรคอื่นๆ อีกสักกลุ่มหนึ่ง
LD เป็นการเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษย่อมาจากคำว่า Learning Disability กลุ่มที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เองมักมีปัญหา 1 ใน 3 แบบ คือ มีปัญหาเรื่องของการอ่าน มีปัญหาเรื่องของการเขียน และมีปัญหาเรื่องของการคำนวณ เป็นทักษะสำคัญในเรื่องของการเรียนรู้
เพราะฉะนั้นเด็กกลุ่มนี้เองเวลามีปัญหาในเรื่องการอ่าน การเขียน หรือการคำนวณ มันจะส่งผลกระทบการใช้ชีวิตในโรงเรียนของเขาเยอะมาก เพราะทักษะ การคำนวณ การอ่าน การเขียน ต้องใช้กับทุกวิชา เพราะฉะนั้นลักษณะของเด็กกลุ่มนี้เองเราจะพบว่าในช่วงแรกเขาจะดูปกติ แต่พอเรียนไปสักพักเด็กก็ต้องมีความเหนื่อย และมีความพยายามในการเรียนมากขึ้น
ถ้าเขามีปัญหาเรื่องการอ่านเขาก็อาจจะอ่านไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น พออ่านไม่ได้เขาก็เสียโอกาสในการเรียนรู้สิ่งอื่นๆ ตามไปด้วย หรือในเด็กบางคนที่คำนวณเลขไม่ได้
ตัวอย่างของเด็กกลุ่มนี้ บางคนใช้วิธีท่องจำวิชาคณิตศาสตร์ คือจำไปเลยว่า 1 บวก 1 เท่ากับ 2 แต่ไม่ได้มาจากความเข้าใจคือจำเอา
การวินิจฉัยภาวะ LD คือเขามีศักยภาพในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การเขียน หรือคำนวณ ต่ำกว่าชั้นเรียนจริงอย่างน้อย 2 ชั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเขาอยู่ ป.4 ผลการเรียนของเขาในเรื่องของการคำนวณอยู่ในระดับเด็ก ป.2 หรือต่ำกว่าเขาก็เป็น LD ในเรื่องการคำนวณ
ในกรณีของการอ่านเด็ก ป.5 อ่านได้เท่ากับเด็ก ป.2 อันนี้ก็ลักษณะ LD ที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน ซึ่งจะรู้ก็ต่อเมื่อลูกเราเข้าระบบการเรียนการสอน คุณครูจะบอกว่าเขาเขียนหนังสือไม่ได้นะ เขาอ่านไม่ได้นะ หรือเขาคำนวณเลขไม่ได้
เพราะเกณฑ์การวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องเทียบกับรูปแบบการศึกษาปกติ ฉะนั้นโรคพวกนี้เองตอนเด็กๆ เราจะไม่รู้ ต้องรอเด็กเข้าระบบการศึกษาก่อน ถึงจะพอสังเกตได้ว่าเขามีความบกพร่องในด้านตรงนี้ ในสมัยก่อนเด็กหลายคนที่เป็นเด็กเก่งใช้การท่อง ถึงไม่เข้าใจก็จะท่องไว้ก่อน ซึ่งทำได้ระดับหนึ่ง พอถึงระดับหนึ่งก็จะทำไม่ได้
อย่างเช่นเด็กอาจจะท่อง 1 บวก 1 เท่ากับ 2 เพราะฉะนั้น 11 บวก 11 เท่ากับ 22 แต่ถ้าพอเค้าเจอ 66 บวกกับ 66 เกิดปัญหาทันที เพราะต้องมีการทดเลข ต้องข้ามหลัก เขาจะทำไม่ได้ เขาจะงง ส่วนใหญ่ก็มักจะต้อง ป.3-4 ก็เริ่มสังเกตเห็นแล้ว และเป็นปัญหาเรื่องของการอ่านที่อ่านไม่ได้
LD มีจุดที่ต่างจากสมาธิสั้น และออทิสติก ในเชิงของกลไก เพราะเราเข้าใจกลไกการเกิดLDค่อนข้างน้อย ถึงแม้จะเจอค่อนข้างเยอะในกลุ่มประชากร แต่เนื่องจากมันมีความแตกต่างกัน แล้วเด็กกลุ่มนี้เองเป็นโรคที่เพิ่งมีความตระหนักในช่วงหลังๆ เพราะฉะนั้นข้อมูลการวิจัยเองยังไม่เยอะ
ปัจจุบันเราอาจจะพบว่าเกี่ยวข้องกับสมองหลายๆ ส่วน ที่ทำหน้าที่ในการแปลผล เรื่องของการประสมคำต่างๆ เรื่องของการคำนวณ ซึ่งเป็นความล่าช้าในการพัฒนาสมอง วิธีที่จะช่วยคือ ก็ต้องมีการใช้งานบริเวณนี้ให้เยอะขึ้นเพราะสมองของเรามีหลักการอยู่แค่ว่าถ้าต้องการให้ทำงานได้ก็ต้องใช้งานบ่อยๆ เพียงแต่เด็กไม่ถนัดด้านนี้เค้าก็ไม่อยากจะใช้งาน
ฉะนั้นก็จบตรงที่ว่าจะต้องมีการจัดรูปแบบการศึกษาพิเศษให้กับเด็กกลุ่มนี้ ต้องมีการจัดสถานการณ์ที่เขาจะต้องมีการฝึกโดยที่จะไม่เป็นลักษณะการเรียนปกติในชั้นเรียน เพราะจะเรียนไม่ทันเพื่อน
รูปแบบการเรียนปกติในชั้นเรียนถูกสร้างมาสำหรับเด็กปกติ อาจจะค่อนข้างลำบากสำหรับเด็กLD เพราะฉะนั้นตรงนี้เองจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างคุณครูและผู้ปกครองในการ Set ชั้นเรียนที่มีคนเรียนค่อนข้างน้อย อาจจะเป็นกลุ่มเรียนหลังเลิกเรียน หรือลักษณะการเรียนตัวต่อตัว
จริงๆ แล้วเด็กLDเรียนรู้ได้ แต่ต้องใช้เวลามากขึ้นในบางด้าน เช่น เรื่องของการอ่านก็ต้องมีการฝึกการอ่านให้มากขึ้น เรื่องคำนวณเองก็ต้องมีการฝึกตรงนั้นมากขึ้น ซึ่งเมื่อฝึกซ้ำๆ เด็กจะค่อยๆ ได้ขึ้นมาทีละนิด ทีละนิด
พ่อแม่ต้องพยายามกระตุ้น พยายามให้ใช้ทักษะตรงนั้นให้บ่อยขึ้น เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์เองพอทำอะไรได้ไม่ดีก็ไม่อยากทำ แต่ตรงนี้พ่อแม่จะมีบทบาทสำคัญมากในการให้กำลังใจเขา พยายามบอกเขา พยายาม สู้ๆ นะลูก ต้องทำให้ได้เพราะต้องนี้เองถ้าหนูทำได้พ่อแม่จะภูมิใจในตัวหนูมากๆ เลย และหนูเองก็จะสามารถตอบคำถามของคุณครูได้ คุณพ่อคุณแม่จะมีบทบาทสำคัญในการเชียร์ของเขา ให้เขารู้สึกว่าเขาเองมีความภาคภูมิใจในตัวเอง
สำหรับเด็ก LD ไม่จำเป็นต้องกินยา ถ้าเขาไม่ได้มีภาวะร่วมด้วย ต้องอธิบายก่อนในบางครั้งโรคเรื่องของพัฒนาการล่าช้า บางทีเจอมากกว่า 1 โรคในคนๆ เดียว ยกตัวอย่างเช่น LDเจอกับสมาธิสั้นได้ ถ้าเขาเป็นสมาธิสั้นเขาต้องกินยาคุมอาการสมาธิสั้น พอสมาธิสั้นเขาดีขึ้น LDจะฝึกง่ายขึ้น แต่ถ้าเป็นLDเฉยๆ ไม่ต้องกินยา ไม่มียาสำหรับLD แก้ปัญหาจากการฝึก จากการสอนเป็นหลัก
ถ้าถามว่าเมื่อไหร่ถึงจะกลับไปเป็นปกติ ต้องเป็นกรณีๆ ไปเพราะLD ก็มีระดับ ที่เมื่อสักครู่บอกLD เจอร้อยละ 7 จากอเมริกา พบว่าส่วนหนึ่งเป็นกรณีแบบเล็กน้อย ฝึกไม่นานก็พอกลับเข้าชั้นเรียนได้พอไปเรียนได้ แต่ถ้าในกรณีที่เป็นปานกลางหรือว่าเป็นรุนแรง คงต้องใช้เวลามากขึ้นในการที่จะกลับเข้าสู่ชั้นเรียน
ในสมัยก่อนมีเด็กที่เป็นLD โตขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นแต่ใช้วิธีการท่องจำขึ้นมาเรื่อยๆ บางทีด้วยระบบการศึกษาที่ไม่ได้มีเรื่องของการสอบตก เด็กก็จะถูกเลื่อนชั้นขึ้นมาเรื่อยๆ โดยที่เขาอาจจะไม่ได้ผ่านขึ้นมาจริงๆ
โรคพัฒนาการของสมองเมื่อเด็กโตขึ้น บางทีมันค่อยๆ ดีขึ้นได้ แต่เขาจะเสียโอกาสระหว่างทางในการเรียนรู้ เช่น แทนที่เขาจะเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ เขาอาจจะเรียนรู้ได้ด้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะว่าอ่านหนังสือแล้วเขาไม่สามารถสะกดคำ ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ หรือไม่สามารถเขียนอะไรต่างๆ ออกมาได้ตามที่ควรจะเป็นเพราะว่าเสียทักษะตรงนั้นไป
เพราะฉะนั้นเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ เหมือนกับเขาเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ในช่วงวัยเด็ก การได้รับโอกาสในการเรียนรู้ก็ไม่เท่ากับเพื่อน พอเป็นผู้ใหญ่อาการพวกนี้จะดีขึ้นบ้างจากพัฒนาการทักษะ เรื่องของการคำนวณอาจจะดีขึ้นตามวัยแต่ก็คงไม่เต็มศักยภาพที่ควรจะได้รับ
ฝึกฝน
สำคัญมากๆ เราต้องพยายามฝึกให้เด็กทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบ และไม่ถนัด พอฝึกแล้ว สิ่งที่เราจะฝืนใจทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบก็คือ
กำลังใจ
จะเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่พ่อแม่ต้องให้ คุณครูด้วย คุณครูที่เป็นคนสอนต้องให้กำลังใจและชม เด็กกลุ่มนี้สอนได้นะ จริงๆ เด็กLDหลายคน IQ ปกติ หรือบางคนอาจจะสูงกว่าปกติด้วย เพียงแต่ว่ามีความบกพร่องเล็กๆ อยู่ในบางจุดที่ทำให้เขาขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพเขา ถ้าเขาสามารถแก้ได้ปุ๊บบางคนไปโลดเลย
เพราะ IQ กับเรื่องของความบกพร่องในสติปัญญาคนละเรื่องกัน เขาแค่บกพร่องในการอ่าน เขียน คำนวณ พอเราแก้ตรงนี้ได้ปุ๊บแต่ศักยภาพทางสมองของเขาเต็มที่อยู่แล้วมันไปได้เลย เราแก้แค่จุดเล็กๆ
สม่ำเสมอ
ทั้งเรื่องของการฝึกฝนและเรื่องของการให้กำลังใจ ต้องทำให้สม่ำเสมอ พ่อแม่ก็ต้องให้กำลังใจด้วยไม่ใช่ว่าตอนแรกๆ ก็เชียร์ดี ตอนหลังๆ ก็โอเคลูก เด็กก็เริ่มหมดกำลังใจ ต้องให้กำลังใจลูกไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเองตัวเด็กเองก็ต้องฝึกอย่างสม่ำเสมอ พอขึ้น ป.4 บทเรียนก็ยากกว่า ป.3 ป.5 ก็ต้องยากขึ้น
หลายๆ ครั้งที่เขาต้องการ Step Up ตัวเองเพื่อให้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาต้องการการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และต้องการกำลังใจจากผู้ปกครองและคุณครูอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ขึ้นอยู่กับช่วงอายุมากกว่า ถ้ากรณีเด็กเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องบอกเขา หรือบอกไปเขาเองก็อาจจะไม่เข้าใจ และงงว่ามาบอกเขาทำไม แต่โรคบางอย่างซึ่งอยู่ไปจนเด็กโต บางทีการบอกเขาก็อาจเป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องใช้การประเมินว่าตัวเองเอาสามารถรับรู้ได้มากน้อยแค่ไหน และการยอมรับกับเขา
โดยทั่วไปถ้าเป็นกรณีของเด็กโตแนะนำว่าให้บอก เพียงแต่การบอกต้องใช้ศิลปะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เองจะบอกก็ได้ หรือถ้าไม่มั่นใจหมอคิดว่ากุมารแพทย์ที่เป็นคนดูอย่างต่อเนื่องอาจจะเป็นคนที่เหมาะที่เป็นคนคุยกับเขาโดยตรงว่าเขาเป็นอะไร อย่างสมาธิสั้นเด็กส่วนใหญ่ก็เข้าใจนะ บางทีบอกเขาว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น เขาก็พอรับรู้ได้ เพียงแต่ว่าการบอกว่าเขาเป็นอะไรสักอย่าง
สิ่งที่เรากลัวมากคือเป็นการตีตราเขาว่าเขาไม่ปกติ ฉะนั้นหลายๆ ครั้งเราต้องมีการประเมินก่อนว่าตัวเด็กเองพร้อมที่จะรับข้อมูลตรงนั้นไหม แล้วก็อาจจะบอกเขาว่าบางอย่างเป็นแล้วก็หายได้ มันไม่อยู่กับตัวเขาตลอดเวลา อยู่ที่การสื่อสารของพ่อแม่
คำถามที่ว่าตอนเกิดมาก็ดูปกติดี ทำไมสุดท้ายถึงกลายเป็นเด็กพิเศษ มันเป็นผลจากอะไร เด็กพิเศษสาเหตุหลักๆ ที่เขามีปัญหาที่ต้องการความช่วยเชิงพัฒนาการจริงๆ แล้วเกิดจากการที่เขาเป็นแบบนั้นเอง คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งโทษตัวเองว่าเลี้ยงไม่ดี
เพราะว่าการที่เขาเป็นสมาธิสั้นนั่น คือเขามีปัญหาล่าช้าในการพัฒนาการของเขาในส่วนของการควบคุมตัวเอง ถ้าเขาเป็นออทิสซึ่ม นั่นคือวงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร เกี่ยวกับทักษะทางสังคมของเขามีปัญหา นั่นคือเขาเกิดมาพร้อมกับสิ่งตรงนั้น
การเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่อาจจะเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการอาจจะเด่นชัดขึ้น หรือแม้ปัจจัยในเชิงบวกที่ทำให้อาการน้อยกว่าที่ควรจะเป็นได้หมดเลย
เพราะฉะนั้นปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ แต่ขึ้นอยู่กับเรื่องของตัวเด็กเอง คุณพ่อคุณแม่ที่ทำได้คือการเลี้ยงดูเขาให้ดีที่สุด เพราะการเลี้ยงดูที่ดีจะช่วยทำให้อาการเบาลงได้ และที่สำคัญไม่ทำให้เกิดสภาวะที่คล้ายๆ กับตัวโรค
จริงๆ เด็กไม่ได้เป็นหรอกที่เราชอบใช้คำว่า เทียม มันจะช่วยลดภาวะตรงนี้ลงไปได้ด้วย ที่เราเรียกออทิสติกเทียม สมาธิสั้นเทียม ซึ่งไม่ใช้โรคจริงๆ มันเป็นปัญหาเรื่องของการเลี้ยงดู เช่น การเลี้ยงดูโดยที่มีปฏิสัมพันธ์กับแม่น้อย เด็กก็เลยมีอาการคล้ายๆ กับ ออทิสซึ่ม แต่ตัวเขาไม่ได้เป็นโรค เมื่อมีการปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติเลย
ติดตาม รักลูก The Expert Talk ทุกวันพฤหัสบดีที่ 1 2 และ 3 ของเดือน
ติดตามรายการรักลูก podcastได้ที่