สมองไม่ใช่แค่เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนผ่านการคิด การไตร่ตรอง แยกแยะผิดถูก อารมณ์ ความรู้สึก และสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ
สมองของทารกแรกเกิด เมื่อครบกำหนดคลอดจะมีน้ำหนัก 500 กรัม และมีเซลล์สมองประมาณ 1 แสนล้านเซลล์ โดยไม่มีการสร้างเพิ่มเติมอีก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่เหมาะสมของพ่อแม่นั้นมีอิทธิพลต่อการพัฒนาสมองอย่างยิ่ง
นพ.อุดม เพชรสังหาร จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง กล่าวถึงนิยามสมองดีและอารมณ์ดีว่า "อารมณ์ดีเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองรอดปลอดภัย แล้วมนุษย์ถึงจะเรียนรู้ หากไม่รู้สึกว่าปลอดภัย ก็จะไม่รับไม่เรียนรู้อะไรทั้งนั้น เช่นเดียวกับเด็ก การจะทำให้ลูกอารมณ์ดีก็ต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่"
เพราะการแสดงอารมณ์แจ่มใสร่าเริงให้เด็กรับรู้ ถือเป็นสัญญาณหนึ่ง ที่ทำให้เด็กรับรู้ได้ว่าเขาปลอดภัย เหมือนเวลาเราเห็นหมาแยกเขี้ยวกับหมากระดิกหาง ก็รู้ได้ว่าอันไหนคุกคามหรือเป็นมิตร เมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัยแล้ว ระบบลิมบิกก็ทำงาน ส่งให้ฮอร์โมนที่เป็นสุขเกิดขึ้น วงจรเกี่ยวกับความสุข (Reward Circuit) ก็ทำงาน พอเด็กมีความสุขการเรียนรู้ก็จะเกิด"
"Safety Need เป็นความต้องการสำคัญของเด็ก เมื่อเขารู้สึกปลอดภัย การเรียนรู้ของเขาก็จะเป็นการเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง
แต่หากไม่มีจะกลายเป็นการเรียนรู้เพียงเพื่อเอาตัวรอดจากอันตรายนั้น แต่จะไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เหมือนเด็กที่เรียนเก่ง IQ ดี จะกังวลอยู่กับเกรด จะไม่ค่อยมองสิ่งรอบตัว มีเพื่อนแต่จะไม่รู้ว่าคนนี้มาจากไหน เป็นคนยังไง ขณะเดียวกันก็จะคิดว่าเพื่อนคนนี้จะช่วยเราได้ยังไง มองอยู่แค่นี้ไม่มองเรื่องอื่นๆ เพราะเขาไม่มีความรู้สึกปลอดภัยในตัวเอง"
ด้วยเหตุนี้ นิยามคำว่าอารมณ์ดีของเด็กจึงเปลี่ยนไป จากที่วัดกันจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เปลี่ยนเป็นการสร้างความรู้สึกปลอดภัยอบอุ่น แล้วลูกจะเกิดความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือมิติที่ก่อให้เกิดพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ได้มากกว่า
1. นวดให้สบายตัว การนวดช่วยกระตุ้นให้โลหิตไหลเวียนได้ดี ช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่อนคลาย ลูกจะรู้สึกสงบสุขมากขึ้น และจะรับรู้ได้ถึงความรัก ความอบอุ่นที่ส่งผ่านมา ลูกก็จะอุ่นใจและมั่นใจว่าจะเติบโตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข
2. ฟังเพลงให้สบายใจ การเปิดเพลงจังหวะเบาๆ สบายๆ ให้ลูกฟัง จะช่วยเรียกความสนใจของลูกให้จดจ่ออยู่กับท่วงทำนอง สงบนิ่ง และไม่โยเย อีกทั้งดนตรียังเป็นหนึ่งในหลายวิธีที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมอง ทำให้เส้นใยประสาทแตกแขนงมากขึ้น ซึ่งพ่อแม่อาจจะร้องให้ลูกฟังเองก็ได้
3. จัดบ้านเพื่อลูกน้อย สภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดี จะทำให้ลูกอารมณ์ดี เนื่องจากมีอากาศถ่ายเท ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป มีพื้นที่ให้ได้สำรวจ ได้เล่นอย่างสนุกสนานและปลอดภัย
4. เล่นกับลูกบ่อยๆ ของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกวัยขวบปีแรกก็คือพ่อแม่ การเล่นแบบง่าย ๆ เช่น จ๊ะเอ๋ เก็บของ การเอาของเล่นสุดโปรดไปวางไว้ตรงหน้าให้ได้เอื้อม ไขว่คว้า เป็นการบริหารกล้ามเนื้อลำตัว แขน ขา และยังช่วยฝึกการใช้ประสาทตาให้สัมพันธ์กับมืออีกด้วย ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมทางร่างกายให้แข็งแรง ความพร้อมของกล้ามเนื้อบริเวณส่วนต่าง ๆ ไว้สำหรับการเคลื่อนไหว และมีความพร้อมทางอารมณ์ สำหรับการออกสู่โลกกว้างในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นต่อไป
5. พ่อแม่ก็ต้องอารมณ์ดี และมีการแสดงออกต่อลูกอย่างเหมาะสม สัมผัสลูกด้วยความอ่อนโยน พูดจาด้วยน้ำเสียงที่อบอุ่น และมีตอบสนองต่อความต้องการลูก เช่น เมื่อร้องก็มีคนมาโอบอุ้ม เมื่อหิวก็มีคนมาดูแล ลูกก็จะรู้สึกปลอดภัย และพร้อมต่อพัฒนาการต่าง ๆ ได้ดี