พฤติกรรม “Over Acting” เป็นการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ของเด็ก โดยเฉพาะวัย 1-3 ปี เช่น แสดงความเจ็บปวดมากเกินจริง ร้องคร่ำครวญ โวยวาย ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่มักแยกไม่ออกว่าลูกแค่เรียกร้องความสนใจตามธรรมชาติของวัย หรือมีปัญหาพฤติกรรมและพัฒนาการทางจิตใจกันแน่
เป็นธรรมดาของเด็กวัย 1-3 ปี ที่ยังดูแลตัวเองได้ไม่ดีและยังไม่มีเล่ห์เหลี่ยม โดยเฉพาะช่วง 1-2 ขวบ ที่มักเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จนพ่อแม่ต้องตามใจและทำตามที่เขาต้องการทั้งหมด ส่วนหนึ่งเพราะเขายังต้องการความช่วยเหลือ แม้ตัวเองจะเดินได้ วิ่งได้ แต่ก็ยังทำอะไรเองไม่ได้ทั้งหมด จึงเป็นธรรมดาที่จะเรียกร้อง หรือรู้สึกว่าหากร้องหรือทำอะไรในระดับที่มากกว่าปกติ ตัวเองจะได้รับความสนใจและการดูแลเป็นพิเศษนั่นเอง
เส้นแบ่งของพฤติกรรมที่ลูกเรียกร้องความสนใจตามปกติ และเรียกร้องมากเกินไปจนถือเป็นปัญหาพ่อแม่สามารถสังเกตได้ดังนี้ค่ะ
หากลูกเรียกร้องความสนใจ แล้วพ่อแม่ไม่ให้จนเขาหยุดไปเอง นั่นคือคาแร็กเตอร์และลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมปกติของลูก
หากลูกเคยได้รับการฝึกฝนวินัย รู้จักกฎระเบียบของการได้หรือไม่ได้สิ่งใดอย่างชัดเจนแล้ว พ่อแม่ใจแข็งแล้ว พอถึงเวลาลูกยังเรียกร้อง ไม่ยอมฟัง แบบนี้ถือว่าผิดปกติ
ส่วนในกรณีที่ลูกคล้ายกับมี 2 บุคลิก เช่น อยู่ที่บ้านเรียกร้องได้ แต่อยู่โรงเรียนไม่เรียกร้อง เป็นเพราะเขารู้ว่าเรียกร้องไปก็ไม่เป็นผล เขาก็ไม่ทำ ถือว่าปกติค่ะ ไม่ใช่ปัญหา แต่หากที่บ้านและที่โรงเรียนมีการตั้งกติกาชัดเจนแต่ลูกยังเรียกร้อง อันนี้อาจจะก่อปัญหาเรื่องการอยู่ร่วมกับเพื่อนได้ ต้องมาหาสาเหตุแล้วละค่ะว่าเป็นเพราะอะไร
ปรับพฤติกรรมเพื่อพัฒนาการที่ดี
ฝึกวินัยด้วยกฎที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ พ่อแม่หลายคนมักมีคำถามค่ะว่าเด็ก 1-3 ขวบเริ่มฝึกวินัยได้หรือยัง คำตอบคือสามารถฝึกได้ตั้งแต่วัยขวบกว่าๆ แล้วค่ะ เพราะเขาเริ่มเข้าใจภาษาได้ดีแล้ว จึงเริ่มฝึกวินัยโดยการกำหนดกติกา เช่น อันนี้ทำได้ เล่นได้ กินได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือการฝึกต้องสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างน้อย 3-6 เดือน ไม่ใช่วันนี้ไม่ให้กินขนมอันนี้แต่อีกวันลูกร้องโยเยเลยยอมให้กิน แบบนี้ไม่ได้ค่ะ แต่หากฝึกอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องแล้วลูกยังไม่ดีขึ้น อาจเป็นปัญหาจริงๆ ต้องพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อดูว่าเป็นปัญหาพฤติกรรมหรืออารมณ์ของลูกที่ทำให้ฝึกได้ยาก
สิ่งแวดล้อมต้องคงที่ หากที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ คนในบ้านต้องช่วยกันทั้งปู่ย่าตายาย รวมทั้งต้องระวังเรื่องลูกเลียนแบบสื่อ เช่น บอกว่าถ้าไม่ได้อย่างนี้จะฆ่าตัวตายเพราะจำมาจากทีวีหรือละคร ทั้งที่ยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าฆ่าตัวตายคืออะไร ไม่ได้ห้ามหรอกนะคะว่าเด็กไม่ควรดูทีวี แต่พ่อแม่ควรจะต้องอยู่ด้วยและคอยชี้แนะว่าสิ่งที่เขาเห็นคืออะไร ลูกจะได้เข้าใจว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ และต้องทำให้สภาพแวดล้อมทุกอย่างคงที่ เพราะหากสิ่งแวดล้อมไม่คงที่และมีสื่อต่างๆ ที่ลูกไม่เข้าใจ จะทำให้ลูกทำตามเพราะคิดว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการค่ะ
สอนด้วยเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ สิ่งสำคัญอีกอย่าคือตัวอย่างจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ เมื่อจะพูด จะสอนลูก ต้องไม่ใช้อารมณ์ แต่ใช้เหตุผลว่าที่ให้หรือไม่ให้เขาเพราะอะไร ไม่ใช้เสียงดังโวยวายในการบอกลูกเพราะเขาจะจำไปทำกับเพื่อนหรือคนอื่นๆ ได้ว่าหากอยากให้หยุดต้องโวยวาย
สังเกตตัวเอง ยอมรับฟังคนรอบข้าง หากลูกมีปัญหาพัฒนาการแบบ Over Acting จริงๆ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ทำพฤติกรรมเดียวกัน ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ฝึกแล้วก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง กรณีนี้คุณหมออาจต้องใช้ยาช่วยนะคะ เพราะลูกอาจมีปัญหาเรื่องการควบคุมตัวเอง พ่อแม่จึงต้องสังเกตจากการเลี้ยงดู และยอมรับฟังคนอื่น เช่น คุณครู ว่าเวลาที่เขาอยู่โรงเรียนเป็นอย่างไร ไม่ใช่ฝังชิพในใจไว้ว่าเราเลี้ยงดีแล้ว ถูกแล้ว ลูกปกติ ไม่เปิดใจยอมปรับพฤติกรรม ลูกก็จะยิ่งมีปัญหาพัฒนาการต่อเนื่องได้ค่ะ
สิ่งที่พ่อแม่ต้องใส่ใจอย่างมากเกี่ยวกับพฤติกรรม Over Acting คืออย่าทำให้ลูกไม่มั่นใจ หวั่นไหว และต้องการพึ่งพา ควรส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้การเติบโตและอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะสุดท้ายหากเขาพึ่งพาและช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องเรียกร้อง จะทำให้เขาอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขนะคะ