เด็กกับของเล่น และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
การเล่นกับเด็กเป็นของคู่กัน แต่ต้องยอมรับว่าหลายครั้งที่การเล่นก็เป็นตัวการที่ทำให้ลูกเจ็บตัว หรือร้องไห้โวยวายบู๊แย่งของกันเองจนทำให้วงแตก เรามาป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเจ้าตัวเล็กกันเถอะ
การเล่นเป็นเหตุ
ขาดทักษะ...เล่น เจ้าตัวเล็กบางคนออกอาการคึกคักเมื่อเห็นเพื่อนวัยเดียวกันเข้ามาเล่นด้วย แถมยังเดินเข้าไปกอดรัดฟัดเหวี่ยงจนล้มเผละไปด้วยกันทั้งคู่ นั่นเพราะลูกยังขาดทักษะ ยังแยกแยะไม่ออกว่า การเล่นกับ “คน” กับการเล่นตุ๊กตานั้นมันต่างกัน หรือบางครั้งก็หยิบปลั๊กไฟ
มาเล่นสนุกโดยไม่รู้ตัวว่าอันตรายอยู่ในมือ คุณพ่อคุณแม่ควรให้คำแนะนำเจ้าตัวเล็กด้วยนะคะ
ใช้กำลังแย่งของ เด็กวัยนี้ยัง “ขี้หวง” อีกต่างหาก อยากจะเล่นของคนอื่น แต่ถ้าใครขืนแตะของเล่นของหนูล่ะก็ไม่ไว้หน้าใครแน่ๆ ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่สอนให้เจ้าตัวเล็กรู้จักแบ่งปันและในช่วงแรกควรดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กๆ อาจแย่งหรือดึงของเล่นจากมือของอีกฝ่าย จนล้มคว่ำ หน้าหรือศีรษะกระแทกพื้นได้
ซ่อนแอบ... แม้ต่อมาเมื่อเขาอยู่ในวัย 5 ขวบขึ้นไป จะเริ่มรู้จักการแบ่งปัน การรอคอย และไม่ “บ้าพลัง”เหมือนที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็ยังไม่อาจเข้าใจได้ ในหลายๆ สถานการณ์ว่า กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะการเล่น...ซ่อนแอบในที่ไม่คุ้นเคย บ้างครั้งสนุกจนลืมว่าเรามาแอบที่ไหนและไม้สามารถออกจากตรงนั้นได้
อันตรายจากการเล่นป้องกันได้
จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย เช่น ไม่มีที่สูง ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีรถยนต์ ไม่มีของร้อน หรือ ไม่เสี่ยงต่อของหนักหล่นทับ ในพื้นที่ที่เด็กเล่น
เลือกของเล่นที่เหมาะสม ผู้ปกครองควรเลือกของเล่นที่เหมาะสม ไม่เสี่ยงต่อการอุดตันทางเดินหายใจ สารพิษ สิ่งของแหลมให้กับลูก
เพราะ “การเล่น” มีส่วนช่วยพัฒนาการทางสมอง เสริมสร้างความฉลาดทั้งทางปัญญาและอารมณ์ ผู้ใหญ่ควรส่งเสริมสนับสนุน ให้เด็กๆ รู้จักการเล่นอย่างเหมาะสม เพื่อให้เรื่องเล่นๆ ต่อยอดไปถึงการรู้จักเข้าสังคมและการเรียนรู้ของเด็กๆ