ลูกตัวเตี้ยเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พ่อแม่หลายคนกังวล พ่อแม่อยากเลี้ยงลูกให้แข็งแรงเติบโตสมวัยทั้งนั้น แต่ถ้าอยู่ไปๆ เจ้าตัวเล็กที่บ้านเกิดส่วนสูงหล่นเกณฑ์ ทั้งที่เมื่อก่อนส่วนสูงขึ้นปกติดี ปัญหาสำคัญเช่นนี้ รอช้าไม่ได้ค่ะ
พันธุกรรม เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ตัวเล็กมักจะมีรูปร่างเล็กตามเผ่าพันธุ์ เช่นเดียวกันกับเด็กที่เกิดจากพ่อแม่รูปร่างสูงก็มักจะสูงตามไปด้วย นอกจากนั้นพันธุกรรมยังเป็นตัวกำหนดขั้นตอนของการเจริญเติบโตด้วย
สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การรับประทานอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งมีการเจ็บป่วยเรื้อรังซ่อนเร้นอยู่ เช่น เด็กเป็นหอบ หืด ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทุกเดือน ต้องพ่นยา ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และระหว่างการป่วยต้องใช้พลังงานค่อนข้างสูงอาจทำให้เด็กเติบโตได้ไม่ดี
ฮอร์โมน ความผิดปกติของฮอร์โมนหลายชนิดที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กตัวเตี้ย ได้แก่ ภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
เชื้อชาติ คนเชื้อชาติตะวันตกจะมีความสูงมากกว่าทางตะวันออก
ความเครียด เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เนื่องจากมีผลทำให้การหลั่งของฮอร์โมนการเจริญเติบโตผิดปกติไป
สามารถทราบได้จากการวัดส่วนสูง แล้วนำไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานการเจริญเติบโตปกติ ถ้าความสูงมีค่าต่ำไปจากมาตรฐานที่ปกติก็ถือว่าเตี้ย หรือ ประเมินจากอัตราการเพิ่มส่วนสูงต่อปีดังนี้
อายุ (ปี) | อัตราการเพิ่มความสูง / ปี(ซม.) |
แรกเกิด- 1 |
25 |
1 - 2 |
10-12 |
2 - 4 |
6-8 |
4 - 10 |
5 |
การจะสังเกตว่าเด็กตัวเตี้ยหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยเฉพาะความสูงและลักษณะรูปร่างของพ่อแม่ บวกกับการติดตามดูกราฟการเจริญเติบโตของเด็ก ว่ามีการเพิ่มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของวัยหรือไม่ ไม่ใช่ประเมินจากการเทียบส่วนสูงกับเด็กๆ ในวัยเดียวกัน ซึ่งถ้าหากพ่อแม่เป็นคนรูปร่างเตี้ยอยู่แล้ว เด็กก็มีแนวโน้มที่เป็นคนตัวเตี้ย แต่หากเด็กที่เคยมีประวัติการเจริญเติบโตปกติดี แต่ส่วนสูงเกิดการหยุดชะงักหรือเพิ่มในอัตราที่ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยที่มีภาวะโภชนาการปกติดี นั่นอาจมาจากความผิดปกติฮอร์โมนการเจริญเติบโตภายในร่างกายของเด็ก
ฮอร์โมนเจริญเติบโต หรือ growth hormone เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่ให้เด็กมีการเจริญเติบโตปกติตามวัย และยังมีผลต่อกระบวนการสร้างน้ำตาลในกระแสเลือดด้วย ถ้าต่อมใต้สมองมีความผิดปกติ จะเป็นเหตุให้ต่อมดังกล่าวหยุดผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโตหรือผลิตได้น้อยลง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กเจริญเติบโตช้าและตัวเตี้ยได้
ฮอร์โมนเจริญเติบโตนี้จะถูกผลิตและหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมองขณะที่เด็กนอนหลับ และเมื่อออกกำลังกาย นอกจากนั้นฮอร์โมนดังกล่าวจะถูกผลิตในปริมาณที่มากขึ้นในระยะเข้าวัยรุ่น เนื่องจากฮอร์โมนเพศมีผลช่วยเสริมในการหลั่งฮอร์โมนเจริญเติบโต ดังนั้นแพทย์จึงมักจะแนะนำให้เด็กนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เด็กที่ขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตจะมีอาการเติบโตช้า อัตราการเจริญเติบโตน้อยไปกว่าค่าปกติดังกล่าวข้างต้น เสียงเล็กแหลม รูปร่างเตี้ยแต่จ้ำม่ำ ในเด็กผู้ชายอาจพบว่ามีอวัยวะเพศเล็กกว่าเด็กทั่วๆ ไป บางรายที่ขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตชนิดรุนแรงจะพบว่ามีโอกาสมีน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจเป็นเหตุให้เด็กชักจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อีกด้วย
เด็กที่ขาดฮอร์โมนชนิดอื่นก็ทำให้เด็กเตี้ยได้ ได้แก่ เด็กที่ขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งโดยปกติจะผลิตจากต่อมไทรอยด์ที่ตั้งอยู่บริเวณคอ นอกจากจะทำให้เด็กเตี้ยแล้วในบางรายจะมีพัฒนาการช้าร่วมด้วย นอกจากนั้นเด็กที่ขาดฮอร์โมนเพศ เนื่องมาจากความผิดปกติของรังไข่ในเด็กหญิง หรือ ความผิดปกติของอัณฑะในเด็กชายก็เป็นเหตุให้เด็กเจริญเติบโตช้าในระยะเข้าสู่วัยรุ่นได้
เด็กเตี้ยอาจจะมีเหตุจากโรคบางชนิดที่มีฮอร์โมนมากเกินไป ได้แก่ โรคของต่อมหมวกไตซึ่งสร้างฮอร์โมนสเตียรอยด์มากเกินไปเป็นสาเหตุทำให้เด็กเตี้ยแต่อ้วนได้ เด็กที่ได้รับยาที่มีสเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพราะการได้รับยาที่มีสเตียรอยด์มากเกินไปจะเป็นเหตุให้เด็กเตี้ยได้
พล็อตกราฟความสูงแล้วความสูงต่ำกว่าเกณฑ์ในช่วงอายุนั้นๆ
อัตราการเพิ่มส่วนสูงน้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีต โดยเฉพาะตั้งแต่ 4 ปีไปแล้วน้อยกว่าปีละ 5 ซม.
เด็กที่คลอดยาก คลอดแล้วต้องให้ออกซิเจน อาจมีปัญหาที่ต่อมใต้สมอง ซึ่งแสดงผลการเจริญเติบโตให้เห็นชัดเมื่ออายุ 1 ปีครึ่งขึ้นไป
ในกรณีที่เด็กคลอดออกมาแล้วตัวเล็ก เช่น ตอนแม่ตั้งครรภ์น้ำหนักขึ้น 13-15 กก. แต่ลูกออกมาหนักไม่ถึง 2.5 กก. และหากความยาวแรกเกิดต่ำกว่า 50 ซม. แสดงว่าน้ำหนักคุณแม่มากแต่ไม่ได้ส่งไปถึงลูกเลย ซึ่งเหตุผลที่โภชนาการผ่านไปถึงลูกไม่ได้ อาจเกิดปัญหาที่รกหรือไม่ หรือระหว่างตั้งครรภ์แม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่จัด และกินยากันชักเป็นประจำหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้จะบั่นทอนสุขภาพลูก อาจส่งผลให้เป็นเด็กตัวเล็กตลอดไปได้
แพทย์จะทดสอบฮอร์โมนโดยการตรวจเลือด เพื่อประเมินความสามารถของต่อมใต้สมองว่า สามารถผลิตฮอร์โมนได้มากน้อยเพียงใด หรือพิจารณาเป็นรายๆ ไป ว่าเด็กมีความผิดปกติที่ระบบไหน เช่น อาจผิดปกติระบบกระดูก วัดแล้วไม่ได้สัดส่วน ต้องดูระดับแคลเซียมและเกลือในร่างกาย ถ้าฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติก็อาจเตี้ยได้
นอกจากนั้นแพทย์จะตรวจวินิจฉัยทางรังสี ได้แก่ เอ็กซเรย์ที่ข้อมือเพื่อประเมินดูการเจริญเติบโตของกระดูก และในบางรายจำเป็นต้องมีการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษ เพื่อดูลักษณะของต่อมใต้สมอง เด็กที่เป็นโรคเตี้ยเนื่องจากการขาดฮอร์โมน สามารถให้การรักษาได้โดยการให้ฮอร์โมนชนิดที่เด็กขาดทดแทนเข้าไป
แต่กรณีที่พิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่า เด็กไม่มีการขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต แพทย์จะไม่แนะนำให้การรักษาด้วยฮอร์โมนเจริญเติบโต เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังอาจจะทำให้เด็กเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงของการรักษาได้ ได้แก่ ระดับน้ำตาลสูง ภาวะบวมน้ำ ปวดศีรษะ เป็นต้น
รับประทานให้ครบทุกหมวดหมู่
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เฝ้าสังเกตดูอัตราการเพิ่มความสูงทุกปีว่าเป็นไปตามค่าปกติดังกล่าวหรือไม่
ถ้ามีอัตราการเจริญเติบโตที่น้อยกว่าปกติ ควรพาไปรับคำปรึกษาจากแพทย์
เหล่านี้คือสิ่งที่พ่อแม่ควรดูแลใส่ใจอย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นสิ่งที่ช่วยบอกให้ทราบถึงภาวะผิดปกติที่เกิดได้แต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้ปรึกษาแพทย์และหาทางดูแลรักษาได้ทันท่วงทีเพราะหากพาเด็กที่สงสัยว่าเตี้ยจากการขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโตไปพบแพทย์ก่อนที่เด็กจะเข้าสู่วัยรุ่น การรักษาจะได้ผลดีกว่ารอเมื่อเด็กโตแล้ว