โรคมะเร็ง แค่ได้ยินก็นำความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวงมาให้กับผู้ที่ต้องเผชิญโรคนี้แล้ว ยิ่งถ้ามาเกิดในสมอง โดยเฉพาะในเด็กตัวน้อยๆ คนเป็นพ่อแม่คงหวาดวิตกจนทำอะไรไม่ถูก... แต่ในทางการแพทย์ โรคมะเร็งในสมองของเด็กนั้น ถ้าพบและรักษาอย่างต่อเนื่อง สามารถหายขาดได้ค่ะ
รู้จัก...มะเร็งสมอง
มะเร็งหรือเนื้องอกในสมองเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากพันธุกรรมผิดปกติ หรือจากการที่แม่ได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายระหว่างการตั้งครรภ์ หรือระหว่างที่แม่ตั้งครรภ์มีสุขภาพไม่ดีก็อาจส่งผลต่อลูกได้ อาจพบได้ในเด็กอายุตั้งแต่ขวบปีแรก หรือบางรายมีอาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่ส่วนใหญ่จะพบในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต
โดยทั่วไปมะเร็งสมองไม่มีการแบ่งระยะของโรค แต่จะแบ่งตามชนิดของก้อนเนื้อที่พบว่าเป็นก้อนเนื้องอกธรรมดา หรือเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง
อย่างไรก็ตามการพบเนื้องอกในสมอง ไม่ว่าจะเป็นชนิดธรรมดาหรือมะเร็งก็เกิดความรุนแรงขึ้นได้ เนื่องจากสมองเปรียบเสมือนกล่อง เมื่อมีก้อนเนื้อใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเบียดและอัดแน่นอยู่ในสมอง ส่งผลให้สมองเกิดความดันสูงขึ้น ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ลักษณะอาการ
อาการโดยทั่วไปคือปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดรุนแรงจนอาเจียนพุ่ง ความดันในกะโหลกสูง และอาจส่งผลต่อระบบประสาทตา ทำให้มีอาการสายตาพร่ามัว มองไม่ชัดหรือมองภาพซ้อน หากเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ควบคุมการทรงตัว จะมีอาการแขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก เดินโซเซ บางรายอาจมีอาการตากระตุกหรือตาเขร่วมด้วย ถ้าอาการรุนแรงจะเกิดการชักและเกร็งขึ้นได้
สำหรับในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ เนื่องจากไม่สามารถพูดบอกได้ จึงควรสังเกตอาการดังนี้ มีศีรษะโตผิดปกติ กระหม่อมตึง เนื่องจากความดันในกะโหลกศีรษะสูง มีอาการซึมผิดปกติ ไม่ดูดนม มีอาเจียนพุ่ง ส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรง เนื่องจากกระหม่อมยังไม่ปิด สมองยังสามารถขยายได้อยู่ ก้อนเนื้อก็จะโตได้เรื่อยๆ ทำให้แสดงอาการช้า กว่าจะพบก้อนเนื้อก็มีขนาดใหญ่แล้ว จึงทำการรักษาได้ยาก
รักษาต่อเนื่อง...โอกาสหายสูง
วิธีการรักษาโรคมะเร็งสมองในเด็กมีหลายวิธีคือการผ่าตัด การฉายแสง และยาเคมีบำบัด ถ้าเนื้องอกนั้นเป็นมะเร็งหรือเป็นชนิดที่รุนแรง ต้องทำการผ่าตัด และรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ตามอาการของโรค
ซึ่งถ้าเกิดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สมองยังมีการพัฒนาจะพยายามหลีกเลี่ยงการฉายแสง เพราะอาจมีผลกระทบต่อสมองได้ อาจจะใช้ยาเคมีบำบัด จนกว่าจะมีอายุครบ 3 ปี จึงสามารถรักษาด้วยการฉายแสง ในเด็กเล็กบางรายอาจใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดก็ช่วยให้อาการดีขึ้นได้ และถ้าทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติตามแพทย์สั่ง ประมาณ 3 ใน 4 หรือ 50-75% ของผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ และมีชีวิตยืนยาว