อยากมีลูกด้วยการอุ้มบุญทำได้มากน้อยแค่ไหนกับพ่อแม่และกฏหมายในประเทศไทย คนอยากมีลูกด้วยการอุ้มบุญ แม่ที่รับอุ้มบุญแทนคนอื่นก็ต้องรู้ไว้นะ
การอุ้มบุญ คือ การให้ผู้หญิงคนอื่นตั้งครรภ์แทนคู่สามีภรรยาที่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ โดยการนำไข่และเชื้ออสุจิของคู่สามีภรรยาที่ผสมกันแล้วฝังลงไปในมดลูกของแม่อุ้มบุญ เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น และเมื่อทารกคลอดออกมาก็จะถือเป็นลูกของคู่สามีภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับผู้ที่อยากมีลูกแต่มีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ การอุ้มบุญจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนอยากมีลูก แต่ในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 เกิดขึ้น เพื่อคุ้มครองเด็กจากการค้ามนุษย์ รวมไปถึงศีลธรรมและความรู้สึก ดังนั้นผู้ที่ต้องการมีลูกด้วยการอุ้มบุญจึงควรรู้ไว้ก่อนว่า จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้การอุ้มบุญไม่ผิดกฎหมาย
สามีและภรรยาจะต้องจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และภรรยาไม่สามารถมีบุตรได้ หากต้องการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนจะต้องมีสัญชาติไทย แต่หากแต่งงานต่างสัญชาติต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี
หญิงที่ตั้งครรภ์แทน ต้องไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบเชื้อสายของคู่สามีภรรยา
หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติที่สืบเชื้อสายเดียวกับสามีหรือภรรยา แต่หากไม่มีก็สามารถให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้
หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเคยมีบุตรมาก่อน และหากมีสามีอยู่แล้วก็ต้องให้สามียินยอม
การอุ้มบุญทำได้ 2 วิธี คือการใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภรรยา หรือการใช้ตัวอ่อนจากอสุจิสามีหรือไข่ภรรยาไปผสมกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น โดยมีข้อห้ามไม่ให้ใช้ไข่ของหญิงที่อุ้มบุญ
ห้ามไม่ให้มีการรับจ้างตั้งครรภ์หรือทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าใด ๆ
เด็กที่เกิดมาด้วยการอุ้มบุญจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของสามีภรรยาคู่ดังกล่าว
กรณีอุ้มบุญให้คู่รักชายรักชาย จะต้องใช้อสุจิของคนใดคนหนึ่ง นำมาปฏิสนธิกับไข่ที่อาจได้รับบริจาคมาด้วยวิธีการทำเด็กหลอดแก้วเช่นกัน แล้วให้หญิงอุ้มบุญตั้งครรภ์แทนจนกว่าจะคลอด อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย การอุ้มบุญให้คู่รักชายรักชายที่ต้องการมีบุตรยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับ
ในแง่ของจิตใจ แน่นอนว่าการตั้งครรภ์ย่อมเกิดสิ่งที่เรียกว่าความผูกพันขึ้นระหว่างแม่อุ้มบุญกับทารกในครรภ์ เพราะแม้ว่าจะเป็นทารกที่เกิดจากไข่และอสุจิของสามีภรรยาผู้ว่าจ้าง แต่ด้วยความผูกพันทางร่างกายที่ส่งถึงกันตลอดเวลาตั้งครรภ์ก็มักทำให้เกิดกรณีที่ว่า แม่อุ้มบุญรักทารกเหมือนลูกตัวเอง ผูกพันมากจนไม่ยอมมอบทารกให้แก่คู่สามีภรรยาจนเกิดการฟ้องร้องกันในที่สุด
เรื่องของการอุ้มบุญเป็นเรื่องที่พูดยากทั้งในแง่ของความต้องการ ธรรมชาติ และศีลธรรม เพราะสามีภรรยาบางคู่ก็ไม่สามารถมีบุตรเองได้ในทุก ๆ วิธี และการรับเด็กมาเลี้ยงก็อาจทำให้รู้สึกแคลงใจในหลาย ๆ เรื่องเพราะไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง การอุ้มบุญจึงอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายคนตั้งต้นคิดและศึกษาถึงผลดีผลเสียต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์มาเติมเต็มชีวิตครอบครัวให้สมบูรณ์
ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ การคิดคำนวณถึงความต้องการของตัวเอง รวมไปถึงในเรื่องของความรักความผูกพันในฐานะพ่อแม่และครอบครัว
คลิกอ่านข้อกำหนดอุ้มบุญได้ที่ >>> พรบ.อุ้มบุญ