แม่ให้นมกินน้ำหวาน ของหวานจะช่วยให้น้ำนมแม่มีรสหวาน ลูกกินอร่อยจริงไหม หรือยิ่งกินหวาน แม่นั่นแหละอาจจะเสี่ยงเบาหวานซะเอง เรามีคำตอบค่ะ
จากการศึกษาเรื่องนมแม่ของต่างประเทศว่าแม่ที่กินอาหารที่มีความหวานแตกต่างกัน จะมีปริมาณแลคโตสในน้ำนมเหมือนหรือต่างกันอย่างไร พบว่า กลุ่มแม่ที่กินอาหารรสหวาน ปริมาณแลคโตสและความหวานในน้ำนมแม่ไม่ได้แตกต่างกับกลุ่มแม่ที่ไม่กินอาหารรสหวาน ดังนั้น ไม่ว่าแม่จะชอบกินอาหารรสหวานแค่ไหน ก็ไม่ได้ส่งผลต่อปริมาณแลคโตสและรสชาติในน้ำนมแม่ ลูกยังคงได้ประโยชน์จากความหวานธรรมชาติของนมแม่เหมือนกันค่ะ
ความหวานของนมแม่มาจากน้ำตาลที่เรียกว่า แลคโตส โดยร่างกายจะผลิตน้ำนมมาจากอาหารที่สะสมอยู่ ซึ่งประโยชน์จากความหวานหรือแลคโตสในนมแม่จะให้พลังงานกับลูก ช่วยเรื่องการเจริญเติบโตและระบบการย่อยที่ดีให้กับลูกด้วย ดังนั้น ไม่ว่าแม่จะกินหวานแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้สารอาหารในนมแม่ลดน้อยลง กระบวนการผลิตนมแม่จะคัดสรรสารอาหารที่ดี มีประโยชน์ และเหมาะสมให้กับลูกเองโดยธรรมชาติเสมอ
ยิ่งแม่กินของหวานแม่แค่ไหน รสชาตินำนมก็ไม่ได้หวานขึ้นนะคะ แต่กลับเกิดผลเสียกับคุณแม่เอง เช่น ร่างกายเผลาผลาญไม่ทัน กลายเป็นไขมันสะสม คอเลสเตอรอลสูง และภาวะเบาหวาน
การกินอาหารที่มีรสชาติหวาน ๆ หรืออาหารบางชนิดที่มีกลิ่น ไม่ได้ทำให้รสชาตินมแม่เปลี่ยนไป แต่อาจเกิด “กลิ่น” ในนมแม่ได้ค่ะ ถ้าแม่กินอาหารที่มีกลิ่นแรงชนิดใดชนิดหนึ่งบ่อย ๆ หรือซ้ำ ๆ เช่น กล้วยหอม เครื่องแกง ผักบางชนิดที่มีกลิ่นแรง กลิ่นต่างๆ เหล่านี้อาจเข้าไปสู่ในน้ำนมแม่ และจากงานวิจัยบอกว่า การที่นมแม่มีกลิ่น เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะลูกที่กินนมแม่ที่มีกลิ่นต่างๆ เขาจะเกิดความคุ้นเคยกับกลิ่น พอโตขึ้นถึงเวลากินอาหารเสริม เด็กกลุ่มนี้จะรับอาหารเสริมที่มีกลิ่นแปลก ๆ ได้ดีกว่าเด็กที่กินนมผสม สามารถกินอาหารเสริมที่หลากหลาย ยอมรับการกินผักที่มีกลิ่นแปลกๆ ได้ดีกว่า เพราะเขาเคยชินกับกลิ่นในน้ำนมแม่มาก่อน ถือเป็นผลดีค่ะ