เด็กออทิสซึมมีอาการและความพิเศษที่แตกต่างกันไป แต่หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจโลกของเขา จะช่วยให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ คุณหมอวรสิทธิ์ชวนมาฟังถึงวิธีการดูแลลูกคนพิเศษ “ออทิสซึม” เพื่อให้ลูกคนพิเศษของเราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้
“รักลูกเป็นพิเศษ” จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญ รศ. ดร. นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ มาตอบให้คุณแม่หายข้องใจกับอาการของลูกเราว่าแค่ซน หรือใช่สมาธิสั้น
ในปัจจุบันเราพบว่าออทิสติกมีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดจากความตระหนักของสังคมในการที่พาเด็กที่มีปัญหาในเรื่องของพัฒนาการในการสื่อสารหรือทักษะสังคมมาพบหมอได้เร็วขึ้น
ในขณะเดียวกันเองจุดที่สำคัญมากคือการเปลี่ยนเกณฑ์การวินิจฉัย คือเมื่อก่อนกลุ่มที่เรียกว่าออทิสติกมีหลายโรค ยกตัวอย่างที่เราอาจเคยได้ยิน Asperger ลักษณะของ Asperger คือออทิสติกที่ทักษะทางภาษาไม่เสีย หรือบกพร่องเล็กน้อย แต่มีปัญญาความผิดปกติในเชิงของทักษะสังคม แล้วก็ยังมีปัญหาเรื่องของพฤติกรรมบางอย่างที่ดูแตกต่างจากเด็กทั่วๆ ไป แต่ปัจจุบัน Asperger ไม่มีแล้ว ทุกอันเรียกว่าออทิสติก หรือออทิสซึมหมด แล้วก็โรคมีความรุนแรงต่างกัน
ปัจจุบันในการวินิจฉัยโรคก็จะมีการเปลี่ยนไปตามเกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคม ส่วนใหญ่เราใช้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ของทางจิตแพทย์อเมริกันเขาจะมีเกณฑ์กำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยโรค
ซึ่งเกณฑ์ล่าสุดให้รวมออทิสติกหรือออทิสซึมทุกอย่างเป็นโรคๆ เดียว แต่เป็นสเปกตรัม คือมีตั้งแต่รุนแรงน้อยถึงรุนแรงมาก แต่ทุกอันจะถูกวินิจฉัยรวมกันว่าเป็นออทิสซึมหรือออทิสติก
เพราะฉะนั้นความชุกของโรคก็เลยเพิ่มขึ้นเยอะ จากเดิมที่เมื่อก่อนจะแยกย่อย 1 2 3 4 กลายเป็นว่าตอนนี้รวมทุกอันเป็นอันเดียว เลยกลายเป็นช่วงนี้จะพบออทิสซึมเยอะขึ้น จากเดิมเราพบอยู่ที่ราวๆ ร้อยละ 1 จากเกณฑ์ใหม่เราพบราวๆ ร้อยละ 2.5 อันนี้ของประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนของประเทศไทยเท่าที่พบงานล่าสุดจากอาจารย์จากสถาบันเด็ก โรงพยาบาลเด็กท่านทำไว้อยู่พบราวๆ 0.5 แต่ยังเป็นเกณฑ์การวินิจฉัยแบบเดิมอยู่ ถ้าตอนนี้ทำใหม่น่าจะเพิ่มขึ้นแล้วตามเกณฑ์ใหม่
ออทิสซึมสังเกตได้เร็วกว่าสมาธิสั้น
เพราะอาการของออทิสซึมก็จะมีอาการ 3 อาการหลักด้วยกัน
1.การสื่อสาร
หรือถ้าจะเข้าใจว่าออทิสซึมคือเด็กที่พูดช้าเป็นการสื่อสารแบบหนึ่ง
แต่ในลักษณะของออทิสซึมหลักๆ คือการสนใจในการสื่อสารไม่มี ไม่อยากจะสื่อสารกับเรา ทั้งทางภาษาและทางไม่ใช้ภาษา
ยกตัวอย่าง ในเด็กหลายๆ คนที่พูดช้าเขาก็จะมีอย่างอื่นมาทดแทน เช่น พอเขาพูดๆ ไม่ได้ เขาก็ใช้ภาษามือ หรือมีท่าทางประกอบ
แต่เด็กที่เป็นออทิสซึ่มเขาจะไม่สนใจเรื่องการสื่อสาร คือจะไม่พูด ไม่มีการชี้ หรือจะไม่มีการติดต่อสื่อสารถ้าไม่จำเป็น
เพราะฉะนั้นแปลว่าออทิสซึ่มก็จะพบอาการบกพร่องเรื่องของการสื่อสาร
2.ทักษะสังคมมีความบกพร่อง
เขาจะมีปัญหาในการเข้าใจจิตใจของคนอื่น ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นเด็กไม่ดีนะ แต่ความสามารถในการเข้าใจจิตใจคนอื่น
เช่น ตอนนี้เพื่อนกำลังเสียใจ ตอนนี้เพื่อกำลังเข้ามาแหย่เล่น เป็นเรื่องที่ใช้สมองเยอะมาก
ในคนปกติที่มีการเติบโตขึ้นมาตามวัย เรามองกระบวนการอัตโนมัติ จะรู้ทันทีว่าเพื่อนมาอำ หรือตอนนี้เพื่อกำลังเสียใจอยู่
แต่เด็กออทิสซึมซึ่งมีความล่าช้าในการพัฒนาเขาไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นทักษะสังคมเขาจะมีความบกพร่อง
3.พฤติกรรมบางอย่างที่เขาจะมีความแตกต่างจากเด็กทั่วไป
เช่น อาจจะชอบมีพฤติกรรมถูมือซ้ำๆ ขยับมือซ้ำๆ
หรือทำอะไรที่เป็นรูปแบบเดิมๆ กิจวัตรประจำวันก็ต้อง Fix และปรับได้ยากมาก
หรือถ้าเดินไปซื้อของตามห้างหรือไปร้านสะดวกซื้อถ้าวันไหนเปลี่ยนเส้นทางเด็กเหล่านี้จะไม่ยอม
เขาจะโวยวายทันทีเพราะเปลี่ยนจากสิ่งที่เขาเคยชิน
เพราะฉะนั้นหลักๆ คือสื่อสารล่าช้า ทักษะสังคมบกพร่อง และพฤติกรรมที่ผิดปกติไป จะเป็นอาการหลักๆ ของออทิสซึ่ม
สังเกต 3 อาการเบื้องต้น
จุดแรกสุดคือ การพูดที่ล่าช้ากว่าปกติ ปกติเด็กจะพูดคำที่มีความหมายคำแรกตอนอายุ 1 ขวบ เกณฑ์จะตัดว่าถ้า ขวบครึ่งแล้วยังไม่พูดคำที่มีความหมายต้องไปตรวจ
สาเหตุที่ต้องไปตรวจเพราะว่าเราจะคัดกรองภาวะออทิสซึ่ม รู้ก่อนรักษาก่อนได้ผลดีกว่าอันนี้เป็นข้อเท็จจริง ถ้าขวบครึ่งยังไม่พูดแปลว่ามีความบกพร่องล่าช้าเรื่องของการสื่อสาร ซึ่งเป็นหนึ่งในเกณฑ์การวินิจฉัยของออทิสซึม
ฉะนั้นเราควรต้องรีบไปตรวจก่อน ถึงไม่ได้เป็นออทิสซึมอาจจะไปตรวจอย่างอื่น เช่น การได้ยิน หรืออาจจะไม่เป็นอะไรเลยเป็นแค่เด็กปากหนักก็ได้รับการกระตุ้นพอพูดได้แล้วบางคนพูดไม่หยุดเลย ก็กลับมาปกติก็เป็นเรื่องที่ดี คือเขาจะไม่เสียโอกาสในการเรียนรู้ เพราะเด็กในขวบปีที่สองของชีวิตเขาจะเรียนรู้ผ่านคำพูด คำสอน ซึ่งถ้าเขาเรียนรู้ตรงนี้ได้ช้าก็จะเสียโอกาส
โดยส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันออทิสซึมมักจะถูกพามาโรงพยาบาลจากคุณพ่อคุณแม่ เพราะคุณพ่อคุณแม่เริ่มอ่านหนังสือ และเริ่มมีการตระหนักตรงนี้มากขึ้น พอลูกไม่พูด พอลูกมีอะไรที่ดูแปลกไปจากเพื่อนก็จะรีบพาไปโรงเรียน แล้วยิ่งคุณครูมาคอนเฟิร์มว่าลูกดูมีความแตกต่างจากเพื่อนก็จะยิ่งรีบพามาตรวจรักษา
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการที่เรารู้สึกว่าสงสัยให้รีบมาจะดีกว่าเพราะถึงไม่เป็นก็ไม่เป็นไร ถ้าเกิดเป็นแล้วรักษาเร็วช่วยให้ผลลัพธ์ออกมาได้ดี
หลักการของออทิสซึมจะเหมือนกับโรคพัฒนาการล่าช้าทั่วไป คือการรักษาหลักไม่ใช่ยา การรักษาหลักคือการกระตุ้นพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะสังคม หรือการลดพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์
ยาที่ใช้ในกลุ่มออทิสซึมจะไปเน้นในการควบคุมพฤติกรรมบางอย่างที่ปรับยาก เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว บางคนที่มีพฤติกรรมซ้ำซากมากจนกระทั่งรบกวนเรื่องของการฝึก หรือรบกวนเรื่องของการใช้ชีวิต อาจจะต้องเอายาไปช่วยควบคุมพฤติกรรมตรงนั้น แต่ยาไม่ใช่การรักษาหลัก ไม่มียาทำให้ออทิสซึ่มหาย แต่ออทิสซึ่มบางคนอาจะหายได้จากการฝึก การดูแลจากคุณพ่อคุณแม่และผู้บำบัด
ในทางปฎิบัติในการวินิจฉัยออทิสซึมก็จะมีกุมารแพทย์ทางด้านพัฒนาการเด็กและทางจิตแพทย์เด็กเป็นคนดูแลหลักซึ่งเมื่อเขาวินิจฉัยแล้ว หรืออาจจะไม่ถึงวินิจฉัยแต่สงสัยเขาก็จะส่งเด็กมาเข้ารับการฝึก
ซึ่งคนได้รับการฝึกก็จะมีหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับว่าความบกพร่องทางด้านไหนบ้าง โดยทั่วไปนักกิจกรรมบำบัดจะเป็นคนฝึกหรือผู้บำบัดหลักสำหรับเด็กกลุ่มนี้ แต่ถ้าเขามีปัญหาเรื่องของกล้ามเนื้อด้วยก็อาจจะต้องใช้นักกายภาพบำบัด
ถ้าคนไหนมีปัญหาเรื่องของภาษามากๆ ก็อาจจะมีนักอรรถบำบัด หรือถ้าเด็กโตก็เป็นเรื่องของการฝึกอาชีพหรือเป็นคุณครูการศึกษาพิเศษเข้ามาช่วย
เด็กออทิสซึม 1 คน ใช้บุคลากรเยอะในการดูแลขึ้นอยู่กับว่าเขามีการบกพร่องด้านไหนบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีความบกพร่องหลายๆ ด้านรวมกัน ออทิสซึมถ้าเป็นช่วงเด็กเล็กๆ ต้องไปเน้นเรื่องทักษะในการเข้าสังคม และเรื่องของการสื่อสารให้ได้ก่อน พอเข้าโรงเรียนแล้วก็จะเป็นเรื่องของการปรับตัวเองให้อยู่กับเพื่อนได้ แล้วก็เรื่องของการเรียนให้ทันบทเรียน
ออทิสซึมไม่ได้มีแต่ด้านลบ มีด้านบวกด้วย ออทิสซึมเป็นลักษณะของโรคสมองที่มีความไม่สมดุลกันของวงจรประสาท บางที่สื่อสารกันน้อย แต่บางที่สื่อสารกันเยอะมาก หลายท่านจะเคยเห็นภาพ ออทิสซึมสามารถวาดภาพเมืองทั้งเมืองได้จากการเห็นเพียงครั้งเดียว
ไม่ทุกคนแต่บางคนมี ซึ่งก็จะมีลักษณะแบบนี้ที่ได้เจอบ่อยๆ บางคนเก่งเรื่องของความจำ เขาจะมีความจำที่เรียกว่า Photo Graphic Memory ความจำเหมือนกับถ่ายรูปไว้เวลาเขาเห็นอะไรเขาจำทุกอย่าง ทุกรายละเอียดได้
สมัยที่เราเด็กๆ มีสมุดหน้าเหลือง เด็กออทิสซึมจำได้ว่าชื่อนี้อยู่หน้าไหน หรือบางคนที่สนใจรถจำรถทุกยี่ห้อทุกชนิดที่ออกในปีนั้นๆ ได้ เขาจะมีความเก่งในบางด้านที่อาจจะไม่น่าเชื่อ อย่างคนไข้คนหนึ่งถอดล็อคหมื่นเท่ากับคอมพิวเตอร์ถอดคือสามารถพูดออกมาได้เลยว่าล็อคหนึ่งหมื่นเท่ากับ …. ทศนิยมไปกว่า 20 ตำแหน่งเหมือนกับที่เรากดเครื่องคิดเลขตาม
เพราะฉะนั้นตัวเขาเองอาจจะมีอัจฉริยภาพบางอย่างซ่อนอยู่ได้ อย่างที่บอกว่าเป็นความไม่สมดุล ในบางด้านเองเขาดีอาจจะดีมากๆ แต่บางด้านเองเขาก็อาจจะบกพร่องไป หลักการคือเขาเก่งด้านไหนก็อาจจะเก็บความสามารถด้านนั้นไว้ แต่ด้านไหนที่เขาบกพร่องแล้วจำเป็นต่อการใช้ชีวิต การสื่อสารในสังคมมันต้องใช้ในการทำงานปกติอยู่แล้ว หรือเรื่องของการเข้าสังคมเขาก็จำเป็นจะต้องมีการช่วยเหลือ ส่วนที่ขาดก็ต้องช่วย
ไม่ชอบให้ใครมาสัมผัส เป็นลักษณะของวงจรประสาทที่มันติดต่อกันมากเกินไป เพราะฉะนั้นเขาค่อนข้างไวต่อการกระตุ้น เด็กที่เป็นออทิสซึมจะไม่ชอบให้ใครกอด จะไม่ชอบแสงสว่างจ้าๆ จะไม่ชอบเสียงดังๆ เพราะเขาจะรับรู้ตรงนี้มากกว่าคนปกติ จะมีความไวซึ่งเกิดจากวงจรประสาทที่มันเชื่อมโยงกันเยอะเกินไป วงจรประสาทพวกนี้เราปรับไม่ได้แต่ใช้เรื่องของการปรับจากพฤติกรรมจากภายนอก จากการบำบัดต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้นได้
แนะนำว่ายิ่งไปเร็วได้ยิ่งดี เพราะในประเทศไทยต้องยอมรับว่าการนัดเจอกุมารแพทย์เฉพาะทางพัฒนาการ หรือจิตแพทย์อยู่ในระดับ 6 เดือน ถึง 1 ปี หรือมากกว่า
ออทิสซึมเป็นโรคที่กุมารแพทย์ทั่วไปวินิจฉัยได้ไปเจอกุมารแพทย์ทั่วไปก่อนได้จะได้วินิจฉัยก่อนว่าเป็นหรือไม่เป็น ถ้าเป็นหรือสงสัยว่าเป็นบำบัดก่อนเลยหรือให้การช่วยเหลือก่อนจะได้ไม่เสียเวลา
เพราะโรคพวกนี้เป็นนาทีทอง สมองเราจะมีหน้าต่างการเจริญเติบโต หน้าต่างของการเรียนรู้ ในแต่ละด้านไม่เท่ากัน หลายๆ อย่างถ้าผ่านไปแล้วมาฝึกตอนโตแล้ว มันฝึกยาก เพราะฉะนั้นถ้าสงสัยไปเจอคุณหมอก่อน จะเป็นหรือไม่เป็นไม่ใช่ประเด็น แต่อะไรที่บกพร่องถ้าฝึกและฟื้นฟูได้ก่อนมันดี ฝึกไว้ไม่เสียหาย แล้วพอไปเจอคุณหมอด้านกุมารแพทย์ของพัฒนาการก็ดี จิตแพทย์ก็ดีค่อยดูหลักๆ อีกทีจะช่วยได้มากกว่า
ขึ้นอยู่กับเด็กเป็นรายๆ ไป หลักการคือถ้าเขาพอเรียนได้อยากให้เรียน เราอยากให้เขาเรียนแบบพฤติกรรมของเพื่อนเป็นพัฒนาการปกติ เพียงแต่ในบางครั้งเขาเรียนไม่ทันจริงๆ ก็อาจจะต้องเป็นชั้นเรียนพิเศษ แต่ถ้าเขาพอเรียนได้กับเด็กทั่วๆ ไปน่าจะดีกว่า เขาจะได้มีเพื่อนที่มีพัฒนาการปกติคอยช่วยเหลือเขา และเขาก็จะได้เรียนแบบสิ่งดีๆ จากเพื่อนกลุ่มนี้มาใช้กับตัวเขาเองด้วย
เพราะมนุษย์เรามีความสามารถในการเรียนรู้ผ่านการมองเห็นโดยการเลียนแบบ ถ้าเขาเลียนแบบจากตัวอย่างที่ดีจะช่วยให้เขาในการพัฒนาตนเองได้ค่อนข้างมาก
ประเด็นคือ หายหรือเปล่า ถ้าเป็นน้อยๆ บางคนฝึกแล้วก็หายได้ เป็นปกติแบบที่ว่าดูไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็น วงจรประสาทบางทีไม่ผิดปกติเยอะพอได้รับการกระตุ้น หรือได้รับการช่วยเหลืออย่างดีกลับมาเป็นปกติได้ เขาก็สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้
เราเชื่อกันว่านักวิทยาศาสตร์ดังๆ หรือดาราศาสตร์สมัยก่อน หรือคนที่ชอบทำอะไรตามลำพัง กลุ่มนี้เป็นออทิสซึม หลายๆ เคยคนบอกว่าไอแซกนิวตันอาจจะเป็นออทิสซึม พวกนี้เขาจะชอบอยู่กับตัวเขาเอง เขาจะไม่สนใจสังคม
เพราะฉะนั้นเขาถึงให้เวลากับเรื่องต่างๆ ได้นาน ดาราศาสตร์สมัยก่อนที่นั่งมองดาวได้ทั้งวันสังเกตการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ บางทีอาจจะเป็นสิ่งที่ดีในการช่วยทำงานได้ ถ้าทักษะสังคมเขาบกพร่องมาก หรือเขาไม่สามารถสื่อสารอะไรได้ มักจะมีปัญหาในการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น
เพราะฉะนั้นหลักการคือทำให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้ อัจฉริยะภาพบางด้านที่มีอยู่ก็ต้องเก็บไว้ ทำให้เขาดูเก่งและโดดเด่นกว่าคนอื่น บางคนหายได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยหาย เพียงแต่ว่าไม่มีคนไหนฝึกแล้วไม่ดีขึ้น
ทุกคนก็จะดีขึ้นมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค บางคนถ้าเป็นเยอะการฝึกก็ต้องใช้เวลาใช้การลงทุนลงแรงค่อนข้างมาก บางคนที่เป็นน้อยฝึกแล้วก็อาจได้ผลที่ไวกว่า แต่ไม่มีคนไหนที่ฝึกแล้วไม่ดี อย่างไรต้องมีข้อดีขึ้นมาบ้างมากบ้างน้อยบ้าง
แนะนำว่าเน้นการฝึกที่สำคัญคือการที่คุณพ่อคุณแม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับการฝึก การฝึกออทิสซึมให้ได้ผลดีไม่ใช้พาไปฝึกตามตารางที่นักจิตบำบัดกำหนด หรือผู้บำบัดทั้งหลายเป็นคนกำหนด แต่คือการที่คุณพ่อคุณแม่เอาบทเรียนที่ลูกๆ ได้ฝึกตรงนั้นมาใช้ในชีวิตจริง
เพราะสมองของเราเรียนรู้ผ่านการฝึกอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ การไปฝึก 1 วันต่อสัปดาห์ไม่ได้ประโยชน์อะไรแต่การฝึกที่ทำทุกๆ วันโดยคุณพ่อคุณแม่ การฝึกที่ทำอย่างต่อเนื่องและให้แรงจูงใจในเชิงบวก “หนูทำได้ เก่งมาก” แม่ชม มันทำให้เด็กอยากทำและสามารถทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้จะเป็นวิธีช่วยให้เขามีพัฒนาการดีขึ้นได้
เป็นจุดที่เข้าใจความกังวลตรงนี้ มีพ่อแม่หลายๆ ท่านเคยพูด ของหมอเองอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับออทิสซึมมากในเรื่องของการดูแลตามปกติของหมอจะเป็นโรคลมชักและกลุ่มที่มีความบกพร่องเรื่องของสติปัญญา
คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนบอกถ้าฉันป่วยและตายไปลูกจะอยู่อย่างไร กลัวว่าถ้าฉันตายไปลูกก็คงต้องตายตามในอีกไม่นานอะไรแบบนี้ หมอเลยเข้าใจความรู้สึกตรงนี้ว่าพ่อแม่หลายๆ คนกังวล
ออทิสซึ่มถ้าในกรณีที่เป็นไม่เยอะเขาพออยู่ในสังคมได้ อาจจำเป็นต้องการความช่วยเหลือในบางด้าน เช่น การทำธุรกรรมการเงินบางอย่าง เพราะเขาอาจจะไม่ทันคน แต่ทั่วไป เช่น การเดินออกจากบ้าน การเดินไปขึ้นรถประจำทาง รถไฟฟ้า เขาจะทำได้เป็นปกติ
สำหรับออทิสซึมที่รุนแรงต้องยอมรับบางทีเขาทำอะไรไม่ค่อยได้ จุดนี้เองมีระบบการช่วยเหลือของรัฐบาลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานสงเคราะห์ หรือสถานที่ที่จะช่วยดูแลกลุ่มนี้ หรือของทางเอกชนก็มีบางทีต้องมีการติดต่อตรงนี้ไว้บ้างในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถดูเขาได้ หรือในกรณีที่เขาตัวใหญ่มากๆ พ่อแม่อุ้มไม่ไหวอาจจะต้องใช้บริการตรงนี้ด้วย
ต้องยอมรับว่าออทิสซึมที่เป็นเยอะจริงๆ เราไม่สามารถบำบัดเขาจนฟื้นมาเป็นปกติได้ เพราะฉะนั้นการหาสถานที่ หรือเรื่องของการดูแลก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่พ่อแม่อาจจะต้องเข้าหาบริการตรงนี้เพื่อช่วยให้เขาสามารถอยู่ต่อได้ในวันที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถดูแลเขาได้แล้ว
แต่ในเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามฝึกลูกให้สามารถช่วยเหลือตัวเอง อันนี้เบื้องต้นต้องสามารถช่วยเหลือตัวเองให้ได้ก่อน ออทิสซึมในระดับที่เป็นปานกลางหรือเป็นน้อยๆ สามารถช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นได้ เช่น การเข้าห้องน้ำ การอาบน้ำ หรือการดูแลตัวเอง ในกรณีของเด็กโตการเปลี่ยนผ้าอนามัยเองสามารถพอดูแลได้
จุดสำคัญในเรื่องทักษะสังคมมากกว่าโดยเฉพาะเรื่องที่เน้นคือเรื่องธุรกรรม กลุ่มนี้จะค่อนข้างเสี่ยงต่อการถูกหลอก เพราะตัวเขาเองไม่ค่อยเข้าใจเวลาใครเข้ามาดีหรือเข้ามาร้าย เขาจะแปลความหมายตรงๆ เพราะทักษะสังคมเขาไม่ค่อยดีนักจุดนี้อาจจะเป็นจุดที่ต้องให้ความช่วยเหลือค่อนข้างมาก แต่เรื่องทั่วๆ ไปถ้าเขาไม่ได้เป็นรุนแรงเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ควรเป็นคุณหมอท่านเดียวที่ดูแลตลอด และทีมที่ฝึกเป็นทีมเดียวก็จะได้เห็นผลลัพธ์ต่างๆ ได้ สิ่งสำคัญคือการพูดคุยกันระหว่างทีมผู้รักษาว่าฝึกแบบนี้แล้วเป็นอย่างไร เพราะถ้าฝึกแล้วไม่ดีมันมีรูปแบบการฝึกอื่นๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้
ในปัจจุบันที่เราได้ยินบ่อยคือออทิสติกเทียม ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ออทิสซึ่มแต่เป็นลักษณะของการที่เลี้ยงโดยขาดปฏิสัมพันธ์คนกับคน ออทิสติก กับ ออทิสซึม มีความแตกต่างกันไหม มันคือคำเดียวกัน เวลาที่หมอพูดออทิสซึม จะอิงกับคำว่า Autism spectrum disorder ซึงเป็นชื่อของตัวโรค
เกณฑ์ในปัจจุบันใช้อันนี้ แต่สมัยก่อนก็จะมีใช้ Autistic disorder หรือ Autism บ้างก็มี สามารถใช้ได้ทั้ง 2 อย่าง ออทิสติกเทียม หรือออทิสซึมเทียมลักษณะเป็นอย่างไร คือลักษณะของออทิสติกเทียมที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ก็จะเป็นลักษณะอาการคล้ายๆ กับออทิสติก เช่น มีทักษะทางสังคมที่ไม่ดี หรือไม่ยอมสื่อสาร ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นปัญหาจากสมองแต่เกิดจากปัญหาเรื่องของการเลี้ยงดู ส่วนใหญ่การเลี้ยงโดยใช้อุปกรณ์ทั้งหลายเป็นพี่เลี้ยงเด็ก เด็กก็ขาดปฏิสัมพันธ์คนกับคน
เพราะฉะนั้นเลยมีพัฒนาการด้านการสื่อสารที่ล่าช้า เรื่องสังคมที่ล่าช้าและชอบเลียนแบบลักษณะคำพูดหรือท่าทางในคลิป ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของคนปกติ ก็จะกลายเป็นพฤติกรรมที่ดูแปลกๆ คล้ายๆ ออทิสซึ่ม ซึ่งพอปรับเปลี่ยนในการลดการใช้อุปกรณ์พวกนี้ลง หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงดูให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนมากขึ้นเด็กก็จะกลับเป็นปกติได้เพราะเขาไม่ได้เป็นออทิสซึ่ม
เพราะอันนี้ไม่ได้เป็นจากตัวโรคแต่เป็นปัญหาจากการเลี้ยงดู แปลว่าจริงๆ แล้วไม่มีเรื่องเทียม เหมือนสมาธิสั้นเทียมจริงๆ แล้วไม่มี แต่เป็นคำที่คุณหมอบางท่านใช้เพื่อให้อธิบายได้ง่ายขึ้น แต่เป็นปัญหาลักๆ เรื่องของการเลี้ยงดู แต่ถ้าเกิดเป็นออทิสติก หรือออทิสซึ่มจริงๆ อย่างไรก็ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นโรคที่ต้องดูกันระยะยาว
พบกับ รายการ รักลูก The Expert Talk ทุกวันพฤหัสบดีที่ 1 2 และ 3 ของเดือน
ติดตามรายการรักลูก podcastได้ที่