กิจกรรมบำบัดการดูแลเพื่อลูกคนพิเศษ มีหลากหลายวิธีการ จะเลือกวิธีใด คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอที่ดูแลลูกคนพิเศษ เพื่อช่วยส่งเสริมการรักษาให้ดีขึ้น โดย รศ. ดร. นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
เกี่ยวข้องกับการรักษาในกลุ่มน้องๆ ที่เป็นเด็กพิเศษมีกระบวนการรักษาที่เป็นการรักษาปกติ และมีอีกหลายๆ เทคนิคซึ่งอาจจะมีบางกลุ่มที่ได้มีการทดลองใช้ได้รับผลดีบ้างหรืออาจจะไม่ได้รับผลดีเท่าไหร่ ฉะนั้นในส่วนของการรักษาเด็กกลุ่มนี้เองก็จำเป็นต้องลองดูก่อนว่าเป็นโรคอะไร แนวทางการรักษาหลักเป็นอะไร
หากคุณพ่อคุณแม่จะลองหาวิธีรักษาอื่นๆ เข้ามาเสริมแนะนำว่าสิ่งสำคัญคือการปรึกษาคุณหมอหรือทางทีมรักษาด้วยว่าตรงนี้สามารถเอามาเสริมได้ไหม โดยส่วนใหญ่แล้วถ้ามันไม่ได้ไปมีผลกับการรักษาหลักส่วนใหญ่คุณหมอที่รักษาต้องยอมเพราะอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์กับเด็กทางหมอโอเคอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าบางอย่างที่อาจจะส่งผลกับตัวเด็กได้อาจจะมีการคุยกันก่อนมาชั่งข้อดีข้อเสียเกี่ยวข้องกับการฝึกพิเศษนั้นก่อน
ขอเริ่มที่กลุ่มสมาธิสั้นก่อนอาจจะเห็นตัวอย่างค่อนข้างชัด สมาธิสั้นเป็นเรื่องของพัฒนาการล่าช้าในเรื่องของการควบคุมตัวเอง เพราะฉะนั้นเด็กที่เป็นสมาธิสั้นปกติแล้วเขาจะดีขึ้นจากการปรับสภาพแวดล้อมในเรื่องการปรับพฤติกรรม ส่วนเรื่องของยาอาจจะเป็นตัวหนึ่งที่ช่วยทำให้เขานิ่งเพื่อให้เขาพอเรียนหนังสือได้ นอกเหนือจากการให้ยาและเรื่องของการปรับพฤติกรรมก็จะมีกระบวนการอื่นๆ ที่เอามาใช้ได้
จากประสบการณ์หมอที่เคยทำทำวิจัยคือเราใช้การฝึกสติกับเด็กที่เป็นโรคซน สมาธิสั้น โดยโครงการนี้ดำเนินการที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ เชียงใหม่ แล้วเราก็พบว่าในเด็กที่เป็นโรคซน สมาธิสั้น ที่เข้าโครงการฝึกสติแล้วมีการสอนอย่างถูกต้องและมีการประเมินผลพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีเรื่องของทักษะ EF ภายหลังการเข้าโครงการดีกว่าเด็กในกลุ่มที่ไม่เข้าโครงการคือทั้ง 2 กลุ่มเป็นเด็กโรคซน สมาธิสั้นเหมือนกัน แต่กลุ่มที่เข้าโครงการฝึกสติได้ผลดีกว่า
แต่อย่างไรก็ดีเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่รักษาหมายความว่าเราจำเป็นที่จะต้องให้การรักษาตามมาตรฐานก่อนแล้ววิธีการอื่นๆ อาจเอาเข้ามาเสริมได้ทำให้ผลตรงนั้นเห็นเด่นชัดมากขึ้น นี้เป็นตัวอย่างของการนำเรื่องการฝึกสติมาใช้กับเด็กสมาธิสั้น ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนไม่น่าเป็นไปได้เลย กับเด็กสมาธิสั้นที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยนิ่งแต่ถ้าคนสอนมีเทคนิคในการสอนมีการปรับรูปแบบกิจกรรมและเข้าใจในตัวเด็กเราสามารถใช้ตรงนี้มาพัฒนาได้ เพราะเราทราบกันดีว่าการฝึกสติเป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนา EF ในเด็กโต ผู้ใหญ่และเมื่อเราใช้กับเด็กสมาธิสั้นก็ยังเห็นผลที่ดีได้
นอกจากเรื่องการฝึกสติ ในต่างประเทศก็มีการพูดถึงรูปแบบของการเรียนการสอนที่ปรับให้เหมาะกับเด็กที่เป็นโรค ซน สมาธิสั้น โดยเน้นเรื่องของการเรียนโดยใช้โจทย์ต่างๆ จะคล้ายกับ EF ใช้โจทย์เป็นตัวเป้าหมาย คือไม่ได้เน้นการนั่งเรียน เพราะเด็กกลุ่มนี้พลังงานเยอะถ้าให้นั่งเรียนบางทีเด็กก็อาจจะทำได้ไม่ดีนัก ควรให้มีกิจกรรมโดยที่เรากำหนดโจทย์ให้
หลายครั้งเราจะพบว่าเด็กกลุ่มนี้สามารถปรับตัวอยู่กับรูปแบบการเรียนที่มีการเคลื่อนไหวหรือมีการแก้ปัญหาต่างๆ อาจจะได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการเรียนแบบมาตรฐานที่ต้องนั่งเรียนเป็นหลักก็เป็นวิธีหนึ่งที่เอามาช่วยได้ ส่วนตัวหมอเองมองว่าเรื่องของสมาธิสั้นเองอาจจะมีการนำเทคนิคต่างๆ มาใช้ไม่ได้เยอะมาก เพราะตัวโรคค่อนข้างชัดเจนและด้วยรูปแบบของการรักษาส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น
จุดที่ยากมันอยู่ที่ออทิสซึม คือออทิสซึมในปัจจุบันเป็นหนึ่งโรคที่มีความหลากหลายสูง ตั้งแต่ที่ว่าใกล้ๆ เด็กปกติ หมายถึง Level มีความหลากหลายค่อนข้างมาก จนกระทั่งถึงแบบที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะฉะนั้นโรคที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างเยอะ เวลาที่มาพูดถึงกระบวนการที่จะช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ทีนี้เอาแบบกลางๆ ก่อนลักษณะของออทิสซึมทั่วๆ ไปอาจจะไม่ได้เก่งในด้านใดด้านหนึ่งมากนักอย่างที่เราเคยคุยกันใน EP ก่อน ในขณะเดียวกันก็ยังพอที่จะสอนได้ไม่ถึงขนาดที่ว่าปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย
เราจะพบว่าการรักษาหลักของออทิสซึมก็จะไปเน้นเรื่องการไปเสริมจุดที่เขาบกพร่องนั่นคือเรื่องการสื่อสาร เรื่องทักษะสังคม ส่วนยาเองจะมีบทบาทเยอะในแง่ของการจะไปลดเรื่องพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ เช่น พฤติกรรมซ้ำซากในบางคน หรือบางคนจะชอบพูดอะไรซ้ำไป ซ้ำมา นอกจากนั้นจะเป็นเรื่องของพฤติกรรมก้าวร้าว เนื่องจากเด็กบางคนจะคุมตัวเองในเชิงของความก้าวร้าวไม่ได้ ทีนี้นอกเหนือจากการที่เราจะมีการฝึกตามปกติแล้ว ออทิสซึมจะมีการฝึกเพิ่มเติมค่อนข้างเยอะ
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือการใช้สัตว์บำบัดไม่ว่าจะเป็นม้า เช่นภาคเหนือเป็นที่อยู่ของสัตว์หลายๆ ชนิด โดยเฉพาะช้างที่เชียงใหม่ก็จะมีการใช้ช้างในการบำบัด ขี่ช้างหลักการเดียวกับขี่ม้าหรืออีกอันที่ต่างประเทศใช้โลมา หมอไม่แน่ใจที่ประเทศไทยใช้โลมาหรือเปล่าแต่ว่าในต่างเทศมีการใช้โลมา คือต้องเข้าใจในธรรมชาติของออทิสซึมถึงจะมีความล่าช้าในบางด้านแต่บางด้านเขามีการทำงานที่ละเอียดหรือต้องบอกว่าดีเกินไปหนึ่งในด้านนั้นคือเรื่องของการรับความรู้สึก
เพราะฉะนั้นสังเกตเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมบางทีเขาจะไม่ชอบให้ใครมากอด ไม่ชอบเสียงดังๆ ไม่ชอบแสงสว่างๆ เพราะมันถูกกระตุ้นเยอะทีนี้มันก็ตอบยาก สัมผัสจากสัตว์หรือจากธรรมชาติกลับเข้ากับเด็กกลุ่มนี้อย่างไม่น่าเชื่อ
เราพบว่าการให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสได้มาเจอกับสัตว์ ได้ขี่ม้า ได้สัมผัสช้าง ได้กอดโลมาทำให้เด็กกลุ่มนี้สามารถที่จะปรับตัวและสอนอะไรต่างๆ ได้ง่ายขึ้นซึ่งค่อนข้างน่าสนใจ เป็นการกระตุ้นได้อย่างสมดุล เพราะบางทีการติดต่อระหว่างคนกันคน เราอาจจะสร้างลักษณะของธรรมชาติเทียมๆ เช่น แสงไฟจากหลอดไฟ หรือเสียงที่มาจากอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ค่อยเหมาะหรือไม่ตรงกับที่เด็กต้องการ กลายเป็นว่าการนำเด็กกลับสู่ธรรมชาติทำให้เขาสามารถที่จะยอมรับได้ง่ายกว่าแมทช์กันได้โดยที่เด็กไม่รู้สึกแตกแยก
จากการที่ได้อ่านรายงานส่วนใหญ่ก็พบว่าดีขึ้น เพียงแต่ว่าอย่างที่หมอได้เรียนตั้งแต่ต้นว่าตัวออทิสซึมเองเป็นโรคที่เป็นสเปคตรัมที่ต่างกันตั้งแต่รุนแรงมากจนถึงรุนแรงน้อยฉะนั้นผลที่ดีขึ้นของแต่ละคนไม่เท่ากัน
สิ่งสำคัญคือการให้เด็กได้มีโอกาสเราไม่มีทางทราบจริงๆ ว่าตัวเด็กแต่ละคนที่เป็นออทิสซึมจะมีความบกพร่องในกลไกใดของสมองบ้าง การให้โอกาสเด็กได้เจอรูปแบบของการฝึกต่างๆ ได้มากขึ้นก็มีส่วนช่วย ปกติแล้วเด็กโรคออทิสซึมมักจะอยู่ในการดูแลของกุมารแพทย์พัฒนาการร่วมกับทีมซึ่งมักเป็นนักกิจกรรมบำบัดซึ่งจะกำหนดโปรแกรมการฝึก อย่างเรื่องของการฝึกก็จะเป็น Option ที่เอามาเสริมให้เด็กมีการฝึกต่างๆ ที่ดีขึ้นด้วย
ศิลปะเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เพราะว่าปกติแล้วมนุษย์เราตอนนี้เราใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยสมดุล ไม่สมดุลคือเราใช้สมองหนักไปทางด้านซ้ายนั่นคือซีกเด่น ซึ่งเป็นเรื่องของทักษะการคิด ตรรกะ เรื่องของภาษาในเชิงของความหมาย แต่อีกซีกหนึ่งจะเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดนตรี เรื่องของจังหวะต่างๆ เราไม่ค่อยได้ใช้ เรื่องของศิลปะเป็นรูปแบบของการทำงานของสมองซีกที่ไม่เด่น
ในปัจจุบันเรามองว่า Concept ของสมองที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมันควรจะเป็นการ Balance กันแปลว่ามันไม่ควรจะเด่นในฝั่งใดฝั่งหนึ่งมันควรจะทำงาน Balance กันทั้ง 2 ข้างเพราะว่าตัวการวิจัยเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมจะมีปรากฏการณ์อันหนึ่งที่เขาพบว่ามันเกิดการไม่สมดุลกันระหว่างสมองทั้ง 2 ซีก
เพราะฉะนั้นการให้เด็กได้เรียนรู้ศิลปะจะเป็นการนำเด็กกลุ่มนี้ไปฝึกพัฒนาทักษะซึ่งปกติแล้วเขาอาจจะไม่ค่อยได้ฝึก การทำงานศิลปะซึ่งตรงนี้เป็นการช่วยทักษะหลายๆ อย่าง อันหนึ่งซึ่งเราอาจจะไม่ได้เจอเป็นอาการหลักของออทิสซึมแต่พบบ่อยคือเรื่องทักษะการใช้มือ เด็กกลุ่มนี้จะไม่ค่อยเก่งจะพบว่าถ้าให้เล่นพละก็จะดูงุ่มง่ามหรือไม่ค่อยคล่อง งานศิลปะก็จะไม่ค่อยเก่ง
เพราะฉะนั้นถ้ามีการฝึกเรื่องของศิลปะไม่ว่าจะเป็นการปั้น การวาดภาพเป็นการทำให้เขาได้มีโอกาสลองทำกิจกรรมต่างๆ ที่แตกต่างไปจากรูปแบบการฝึกเดิมของเขา น่าจะเป็นทักษะหนึ่งที่ช่วยได้ถ้าเกิดในวงจรหลักของเด็กมีปัญหา เราก็มากระตุ้นอีกฝั่งหนึ่งของสมองให้มันเกิดความสมดุลกัน
สมองในช่วงวัยเด็กพร้อมจะปรับตัวอยู่แล้วมันขึ้นอยู่กับโอกาส ถ้าได้มีโอกาสฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในกลุ่มนี้เราพบว่าดีขึ้นเพียงแต่รูปแบบของศิลปะต้องไม่ใช่การบังคับไม่ใช่การฝืนใจ แต่เป็นสิ่งที่เด็กเองก็สนใจและชอบ ขณะเดียวกันทำไปแล้วก็ได้ประโยชน์กับครอบครัวด้วย
เพราะฉะนั้นอาจต้องลองกิจกรรมหลายๆ อย่างให้เขาได้มีโอกาสเจอไม่ว่าเป็นการปั้น เขียน วาดภาพต่างๆ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่นำมาใช้ได้เพื่อทำให้เกิดการทำงานของสมองให้ Balance มากขึ้นแทนที่จะไปเน้นหนักเรื่องของการสอนแปลความหมายของคำในการสื่อสารอย่างเดียวก็มาเน้นเรื่องของงานศิลปะต่างให้อีกฝั่งได้มีการใช้ให้ Balance กันมากขึ้น
เรื่องของเพลงอันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเราจะได้ยินเรื่องของประโยชน์ของดนตรีค่อนข้างเยอะ ต้องนำมาใช้อย่างถูกต้อง ถ้าเป็นกิจกรรมบางอย่างที่เกี่ยวของกับอารมณ์ การเคลื่อนไหวการใช้เพลงมาประกอบ มาช่วยส่งเสริมกิจกรรมได้ แต่บางครั้งเด็กออทิสซึมเขาไวต่อเสียง
ฉะนั้นเปิดเสียงเพลงตลอดทำให้เขาล้าบางทีเขาอาจจะไม่ชอบ เพราะฉะนั้นแนะนำว่าใช้เป็นครั้งๆ ใช้เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น กิจกรรมนี้ต้องการการเคลื่อนไหว ดนตรีที่เป็นจังหวะเอามาประกอบการเคลื่อนไหวได้ และดนตรีกับการเคลื่อนไหวที่เราเรียกว่า Music and Movement เป็นการเชื่อม 2 ระบบเข้าด้วยกันคือระบบการรับเสียงกับการเคลื่อนไหว
พอระบบนี้เชื่อมกันเหมือนเป็นการต่อวงจรของ 2 ส่วน ซึ่งปกติแล้วทำงานแยกกันเพราะออทิสซึมเองทำงานเชื่อมโยงกันได้ไม่ดีนัก แต่การเอาดนตรีมาใช้สอนการเคลื่อนไหวของเด็กก็สามารถทำให้เด็กเองมีการพัฒนาต่างๆ ได้ดีขึ้นจากการเชื่อมโยงกันของระบบของสมองให้ทำงานด้วยกันได้
จริงๆ แล้วของเล่นที่ให้เด็กต้องประเมินระดับพัฒนาการของเขาก่อน บางทีเขา 7 ขวบก็จริงแต่ทักษะยังไม่ถึงข ต้องประเมินว่าตอนนี้เขาทำได้ประมาณไหนแล้วใช้ของเล่นมาส่งเสริมพัฒนาการ คำว่าส่งเสริมพัฒนาการก็คือว่าของเล่นต้องมีความยากนิดหน่อยคือมีความท้าทายเล็กๆ ถ้าเขาทำได้ง่ายๆ เล่นทีสองทีเขาก็เลิกแล้วอาจต้องมีความท้าทายนิดหน่อย เช่น ถ้าเป็นต่อบล็อกสำหรับเด็กเล็กอาจจะต้องให้ยากขึ้นนิดหน่อย
ความน่าสนใจก็คือตัวของเล่นชวนให้เล่นบางทีเราเห็นของเล่นบางอย่างยังไม่อยากเล่นเลย ดูแล้วตั้งใจมาสอนเกินไปของเล่นบางอย่างดูเป็นอุปกรณ์ในการฝึกมากกว่าของเล่น สำคัญคือต้องสนุกเป็นพื้นฐาน แล้วมาประยุกต์ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น
ของเล่นสำหรับเด็กต้องสนุกไม่จงใจสอน ท้าทาย เกินวัยเขานิดหน่อยท้าทายโดยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่ด้วย และคุณพ่อคุณแม่คือของเล่นอันหนึ่งของเด็ก เป็นของเล่นที่สามารถปรับไปตามสถานการณ์ได้ ฉะนั้นไม่ใช่เป็นการให้ของเล่นลูก ไปแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องเล่นด้วย
บางทีเราเห็นลูกจะเข้าใจว่าเจอลูกแล้วเราเข้าไปชาร์จแบต ทำให้เรามีพลังแล้วกลับไปทำงานต่อไม่ใช่นะครับ ถ้าจะมาเล่นกับลูกต้องชาร์จแบตมาก่อนเข้าไปเล่นกับเขา เราจะได้ส่งพลังให้เขาได้เพราะเด็กทั่วไปก็ดี เด็กพิเศษเองก็ดีอย่างไรก็ต้องการพ่อแม่ เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าไปหาลูกก็ต้องมีพลังเข้าไปหาด้วยไม่อย่างนั้นกลายเป็นว่าเหนื่อยกว่าเดิมเพราะถูกสูบพลังออกไป
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญพ่อแม่เป็นเครื่องเล่นที่ดีแต่ต้องเตรียมพลังในการเล่นกับเขาก่อน เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่เองเป็นผู้ใหญ่อาจต้องเตรียมทางหนีทีไล่เพราะเด็กทั่วไปชอบการเล่นที่มีการเคลื่อนไหวแต่บางทีพ่อแม่ก็ไม่ไหวเคลื่อนไหวมาทั้งวันแล้วกลับมาบ้านก็อยากจะพัก บางทีต้องเตรียมกิจกรรมที่เรารู้ว่าลูกเราชอบแบบไหนดึงกลับมาให้มีการนั่งบ้างเดี๋ยวพ่อแม่จะไม่ไหวเสียเอง
ขอเสริมอีกนิดบางทีท่านอาจจะได้ยินเรื่องของเทคนิคต่างๆ ในการกระตุ้นสมองโดยตรงไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตรงนี้มีการศึกษาเยอะแต่เป็นเรื่องของการวิจัยแปลว่าอยากให้ติดตามข้อมูลตรงนี้ไปก่อนเพราะว่าการทำอะไรก็ตามที่เป็นการกระตุ้นสมองโดยตรงมันมีข้อเสียอันนี้ที่เจอและต้องระวัง คือมันกระตุ้นให้เกิดการชักได้
เราทราบกันดีว่าเด็กพิเศษหลายๆ คนมีความเสี่ยงที่จะชักได้ หากสนใจเรื่องของการฝึกกระตุ้นสมองในประเทศไทยเองมีโครงการวิจัยอยู่ค่อนข้างเยอะ อาจจะลองศึกษาดูจากทีมวิจัยต่างๆ ว่าเขามีการศึกษาไหมแล้วอาจจะลองพาลูกๆ ไปร่วมโครงการวิจัยด้วยซึ่งถ้าเข้าร่วมโครงการวิจัยต่างๆ ทำฟรีแล้วมีคนติดตามผลข้างเคียงต่างๆ จะปลอดภัยกว่าการที่ไปลองทำเอง หรือบางที่พอทราบก็พยายามแอบทำกัน และมีการเก็บค่าใช้จ่ายซึ่งบางทีแพงเกินไปแล้วผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน แนะนำให้ทำกับที่ที่เขามีการติดตามเป็นรูปแบบของการวิจัยจะได้ประโยชน์มากกว่า
สุดท้ายหมอคิดว่าสิ่งสำคัญคุณพ่อคุณแม่เองรักลูกคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีเพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ของเด็กพิเศษทั้งหลายพยายามแสวงหาวิธีการ บางทีหมอก็ได้เรียนรู้จากคุณพ่อคุณแม่ที่ไปนำศาสตร์แปลกใหม่มา และถามว่าแบบนี้ฝึกได้ไหมซึ่งบางอย่างมันไม่ใช่เลย คือมันไม่มีข้อมูลยืนยันว่าฝึกแบบนี้ได้ แต่บางอย่างก็ต้องยอมรับว่าน่าสนใจเหมือนเป็นวิธีที่โดยหลักวิทยาศาสตร์อธิบายแล้วน่าจะเป็นไปได้ สิ่งสำคัญคือเราไม่สามารถตอบได้ทุกอย่าว่าอันนี้เหมาะหรือไม่เหมาะ
แนะนำว่าเด็กพิเศษส่วนใหญ่ จะมีคุณหมอเด็กคอยดูแลสามารถปรึกษาได้ ซึ่งหมอจะดูว่าแบบไหนที่ทำแล้วเด็กได้ประโยชน์เราไม่ห้าม ส่วนใหญ่แล้วหมอเด็กค่อนข้างใจดีและเปิดรับตรงนี้ได้เพียงแต่ให้บอกสักนิด เพราะบางอย่างถ้าไปทำแล้วมันอันตรายบางทีที่ฝึกมาดีๆ มันจะเสีย เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่กับคุณหมอที่เป็นคนรักษา คุยกันว่าจะลองตรงนี้ได้ไหม เสี่ยงไหม บางทีหมอตอบไม่ได้ในครั้งแรกหมอก็จะบอกว่าจะไปค้นมาให้แล้วเดี๋ยวครั้งหน้าเรามาคุยกันว่าทำแบบนี้มีกลไกอะไรและมีประโยชน์อะไร สิ่งที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ประโยชน์ละลูกก็ไม่เสียโอกาสครับ
พบกับ รายการ รักลูก The Expert Talk ทุกวันพฤหัสบดีที่ 1 2 และ 3 ของเดือน
ติดตามรายการรักลูก podcastได้ที่