หลายครั้งที่เราเผลอยัดเยียดความไม่ปกติให้ลูก พบคุณหมอหลายท่าน เพื่อให้ยืนยันว่าลูกเป็น! โดยเฉพาะอาการสมาธิสั้น ที่เรียกว่าเป็นหนึ่งในอาการที่คุณพ่อคุณแม่สงสัยเป็นอันดับต้นๆ “ใช่ไหมนะ ใช่หรือเปล่า เป็นแล้วหรือยัง”
“รักลูกเป็นพิเศษ” จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญ รศ. ดร. นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ มาตอบให้คุณแม่หายข้องใจกับอาการของลูกเราว่าแค่ซน หรือใช่สมาธิสั้น
สมาธิสั้น ชื่อโรคเต็มๆ คือ ซนสมาธิสั้น ไม่ได้มีแค่สมาธิสั้น มี ซน และ สมาธิสั้น และอีกอย่างคือมีหุนหันพลันแล่นและใจร้อนด้วย
โรคนี้มี 3 อย่าง คือ กลุ่มอาการซนไม่อยู่นิ่ง และเป็นเรื่องของอาการสมาธิ เช่น สมาธิไม่ดี ไม่สามารถจดจ่ออะไรได้นาน และหุนหันพลันแล่นใจร้อน ตัวโรคเองบางคนอาจจะเด่นเรื่องของสมาธิ บางคนอาจจะเด่นเรื่องของการเคลื่อนไหวคือลักษณะไม่อยู่นิ่ง ซนมาก แต่ที่เจอบ่อยที่สุดคือทั้ง 2 อย่าง คือทั้งเรื่องของซนด้วย แล้วก็สมาธิไม่ดีด้วยแล้วก็ใจร้อนด้วย อันนี้ครบหมดเลย
เด็กบางคนที่มีลักษณะของสมาธิก็จะไปเด่นตรงข้อสมาธิ ซึ่งหลักๆ จะมีอยู่ 9 ข้อ จะมีเกณฑ์ในการวินิจฉัย ถ้ามี 6 ใน 9 ถือว่าเป็นเรื่องของสมาธิที่มีปัญหา หรือในกรณีของข้อในเรื่องหุนหันพลันแล่นใจร้อนซึ่งจะรวมอยู่ในข้อของการซนไม่อยู่นิ่ง ก็จะรวมกันแล้วได้ 9 ข้อ ซึ่งถ้ามี 6 ใน 9 ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มซนไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น
เพราะฉะนั้นบางทีถ้ามีทั้ง 2 อย่าง ก็จะมีครบเลยของซนสมาธิสั้น คือทั้งใจร้อน ไม่อยู่นิ่ง แล้วก็ยังมีเรื่องของสมาธิไม่ดีด้วย แต่จุดหนึ่งที่ยากคือกลุ่มที่สมาธิไม่ดีอย่างเดียวโดยไม่ซน อันนี้จะออกในลักษณะของเฉื่อยๆ เด็กที่ไม่ซนเขาก็นั่งเฉยๆ แต่เขาสมาธิไม่ดี ฉะนั้นเขาก็จะชอบนั่งฝันกลางวันไปเรื่อยๆ นั่งเหมอมองไป หลายคนจะมองเหมือนกับว่าเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน เป็นเด็กที่อยู่ในความฝันจริงๆ แล้วเขาเป็นสมาธิสั้นแบบที่เป็นเรื่องของสมาธิเป็นหลัก โดยไม่มีอาการซน
แต่ภาพจำของคนที่เป็นซนสมาธิสั้น คือเด็กที่วิ่ง อยู่ไม่นิ่ง ชอบแหย่เพื่อน อันนี้คือลักษณะของอาการซนที่เป็นอาการเด่น ในความเป็นจริงแล้วมักจะอยู่ด้วยกันทั้งซนและสมาธิสั้น ฉะนั้นเลยเห็นเป็นภาพทั้งสมาธิไม่ดีด้วยและก็อยู่ไม่นิ่งด้วยก็รวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
ประเด็นแรกต้องเข้าใจก่อนว่า โรคซนสมาธิสั้นไม่ใช่โรคจิตเป็นโรคพัฒนาการ หลายคนมองว่าหมอที่รักษาโรคซนสมาธิสั้นเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือเป็นคุณหมอพัฒนาการเด็ก หลายคนเลยคิดว่าเป็นโรคจิตเวชหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่โรคซนสมาธิสั้นเป็นโรคพัฒนาการล่าช้า
พ่อแม่อาจจะมีข้อสงสัยว่าพัฒนาการล่าช้าอย่างไร ตั้งแต่เด็กก็ไปตรวจ พัฒนาการตั้งแต่เด็กก็ปกติดี พูดก็ได้ดูก็ปกติ ใช้มือปกติดี เพราะพัฒนาการหลัก 4 ด้าน มันไม่เกี่ยวข้องมากนักกับซนสมาธิสั้น เพราะซนสมาธิสั้นต้องอาศัยพัฒนาการในระดับที่สูงขึ้น หรือถ้าใช้คำที่เราคุ้นเคยกันก็คือเกี่ยวข้องกับ EF คือเรื่องของทักษะในการควบคุมตนเอง ซึ่งตรงนี้เองอาศัยพัฒนาการทางสมองส่วนหน้าคือสมองส่วน frontal
เด็กซนสมาธิสั้น คือ เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าในการควบคุมตัวเอง เขาคุมตัวเองให้นิ่งไม่ได้เมื่อถึงวัยที่ควรจะเป็น นั่นแปลว่าเด็กขวบหรือสองขวบจะบอกได้ยากว่าเป็นซนสมาธิสั้นหรือเปล่าเพราะในวัยนั้นซนเหมือนกันหมด
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาควรจะอยู่นิ่งได้คือพัฒนาการสมองของเขาบังคับให้เขาอยู่นิ่งได้ แต่เขาจะทำไม่ได้อันนั้นคือล่าช้านะ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ซนสมาธิสั้นคนที่พามาโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่แต่เป็นคุณครู โดยเฉพาะคุณครูที่อยู่ในชั้นประถมจะสามารถบอกได้
เพราะคุณครูจะสังเกตได้ว่าเด็กคนนี้ไม่เหมือนเพื่อน แทนที่เพื่อนๆ นั่งเรียนกันได้แล้วคนนี้ชอบแหย่เพื่อน นั่งไปสักพักเริ่มลุกแล้วหรือชอบเหม่อออกนอกห้อง คุณครูจะเป็นคนที่สังเกตได้ แล้วหลายๆ ครั้งที่คุณครูสังเกตได้อย่างนั้นจริงๆ เป็นจริงๆ ด้วย
ขณะเดียวกันพ่อแม่พอสังเกตได้ว่าเมื่อเทียบกับพี่น้องแล้วคนนี้รู้สึกว่าเขากิจกรรมเยอะชอบเคลื่อนไหวมากกว่าเพื่อนๆ พี่น้องสักนิดหน่อย หรือว่าไม่สามารถทำงานเสร็จตามที่คุณพ่อคุณแม่สั่งได้อันนี้พอสังเกตได้
แต่จุดหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ชอบมองพอ 2-3 ขวบ ลูกชอบวิ่งไปวิ่งมาจะชอบมาถามว่าเป็นสมาธิสั้นหรือเปล่า เพราะวัยนั้นตอบยากมาก วัยนั้นเป็นวัยที่มีเด็กมีการเคลื่อนไหวมากเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว
อย่างที่ทราบกันดีว่าเด็กเล็กๆ เด็กจะเรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่านการเคลื่อนไหวเพราะฉะนั้นในวัยนั้นเราจะไม่มีข้อจำกัดในลักษณะของการห้ามเขาเคลื่อนที่ ให้เขากิจกรรมได้เต็มที่เพียงแต่เราจะสังเกตพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ได้ เช่น เขาอาจจะรอฟังคำสั่งคุณพ่อคุณแม่ได้ไม่จบหรือเขาชอบพูดแทรกอันนี้เป็นการสะท้อนถึงความหุนหันพลันแล่น
หรือเวลาฟังนิทานเขาอาจจะไม่สามารถฟังนิทานได้จนจบชอบถามแทรกขึ้นมาตรงนี้อาจจะเป็นเรื่องของตัวสมาธิต่างๆ ที่อาจจะไม่ดี หรือว่าใจร้อนอยากจะถามขึ้นมา อาจจะพอสังเกตอะไรเล็กๆ น้อยๆ ได้ แต่ถ้าโฟกัสเรื่องของการเคลื่อนไหวอาจจะบอกได้ยากซนเป็นธรรมชาติอยู่แล้วในช่วงเด็กเล็ก ในEP 01 คุณหมอเดวบอกว่าเด็กมีหลายประเภท คุณหมอบอกเด็กที่มีพลังเยอะ ลูกเราอาจจะอยู่ในเกณฑ์ของเด็กที่พลังเยอะ อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าเขาเป็นสมาธิสั้น แต่ก็ต้องดูในเรื่องที่คุณหมอบอก นั่งฟังนิทานแล้วก็ทนไม่ได้ถามขึ้นมา หรือรอฟังคำสั่งไม่ได้เกณฑ์เล็กๆ น้อยๆ ที่พ่อแม่สังเกตได้
สิ่งเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตได้ แต่ไม่ใช่จุดที่จะบอกว่าเป็นหรือไม่เป็น เพราะการที่จะสังเกตว่าเป็นหรือไม่เป็นบางทีต้องใช้กุมารแพทย์ที่ได้ดูเด็กบ่อยๆ ก็อาจจะพอบอกได้ หลายๆ ครั้งเองไปเจอในครั้งแรกหมอก็ยังบอกไม่ได้ต้องใช้วิธีการติดตามก่อน
เพราะว่าลักษณะเรื่องของเด็กว่าเป็นสมาธิสั้นเราพบว่าเด็กแต่ละคนไม่ได้เป็นขาวหรือเป็นดำ เด็กเหมือนเป็น Spectrumที่คุณหมอเดวชอบใช้คำว่าเป็นผ้าสี มีโทนสีของเขาเอง เพราะฉะนั้นในการวินิจฉัยโรคก็เช่นกันบางทีไม่ขาวหรือดำเป็นหรือไม่เป็นชัดๆ เด็กบางคนพลังงานเยอะ หลายๆ ครั้งดูคล้ายสมาธิสั้นแต่เมื่อถึงวัยที่เขาควรจะนิ่ง ถึงวัยที่เขาจะนั่งในห้องเรียนเขาทำได้ เขาก็คือเด็กคนหนึ่งที่มีพลังเยอะแค่นั้นเอง
จุดนี้เป็นจุดที่คุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างจะกังวลกันมาก เพราะเรากลัวว่าเป็นสมาธิสั้นต้องกินยา หรือมีปัญหาเรื่องการเข้าโรงเรียน ต้องบอกอย่างนี้ว่าถ้าอาการชัดจริงๆ ประมาณสัก 2-3 ขวบบางคนก็เห็นได้แล้ว เพียงแต่โดยส่วนใหญ่อาการไม่ได้ชัดมากคือซนพอรับไหวหรือพ่อแม่พอรับได้ว่าแบบนี้คือความซนของเขา
ซึ่งพออยู่ในเกณฑ์ที่พ่อแม่รับได้บางทีอาจจะต้องใช้คุณครูเข้ามาช่วยก็คือเปรียบเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกัน เพราะฉะนั้นจุดสำคัญหมอมองว่าสิ่งสำคัญที่เราจะดูคือพัฒนาการตามวัยของเด็ก
เด็กช่วงประมาณ 3-4 ขวบ เข้าชั้นอนุบาลแล้วส่วนใหญ่พอจะนั่งฟังนิทานได้ ส่วนใหญ่พอจะรอคิวได้ ทำตามกฎเกณฑ์ของสังคมได้ ถ้าสังเกตว่าลูกไม่สามารถทำตรงนี้ได้ เช่น ชอบแซงคิวหรือในอีกกรณีหนึ่งคือชอบลืมของบ่อยๆ กลับบ้านมาของไม่เคยครบเลย เรื่องขี้ลืมก็เป็นเกณฑ์ของการวินิจฉัยสมาธิสั้นได้อันหนึ่ง หยิบของกลับบ้านไม่ครบ ลืมกระติกน้ำ ยางลบ ปากกาอยู่โรงเรียน ดินสออยู่ที่บ้าน อะไรแบบนี้ปนกันไปหมด อันนี้ต้องเริ่มระวังแล้ว
หรือมีกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ใช้คำว่ามีมอเตอร์ติดตัวคือมีพลังเยอะมากเคลื่อนที่ตลอดเวลาอันนี้ต้องดูว่าอาจจะซนมากกว่าปกติหรือเปล่า หรือเป็นซนสมาธิสั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่สงสัยแนะนำให้ไปเจอกุมารแพทย์ดีกว่า
ในความเป็นจริงที่หมอพบว่าหลายๆ ครั้งคุณพ่อคุณแม่จะไปเจอกุมารแพทย์หนึ่งท่านกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็กก็ดี แล้วก็จะไปเจอคนที่สอง แล้วก็สาม สี่ ห้า แล้วบางทีก็สิบคนเพื่อยืนยันว่าเป็นหรือไม่เป็น ต้องบอกก่อนว่าโรคสมาธิสั้นมันอิงกับพัฒนาการตามวัย
เพราะฉะนั้นบางทียังโตไม่ถึงระดับมันสังเกตยาก คุณหมออาจจะยังไม่ฟันธง ณ วันนั้นว่าเป็น แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อยากรู้ว่าเป็นหรือไม่เป็นก็เลยต้องไปนู้นไปนี่ แนะนำว่าสิ่งสำคัญคือถ้าเจอใครแล้วให้คุณหมอท่านใดท่านหนึ่งตามดีกว่าคนเดียวกันตามอาการเดิมจะเห็นได้ชัดกว่าและสามารถบอกได้ง่ายว่าเป็นหรือไม่เป็น
แต่การไปเจอหนึ่งครั้งแล้วบอกว่าเป็นหรือไม่เป็นมันตอบยาก เราใช้ข้อมูลการเมินจากพ่อแม่จากคุณครูในภาพร่วม เช่น ในหนึ่งภาคการศึกษาประกอบด้วยจะทำให้เราเห็นภาพการวินิจฉัยได้มากขึ้น อันนี้จุดหนึ่งที่สำคัญถ้าเจอกับใครแล้วอยากให้เจอ เพราะส่วนใหญ่แล้วกุมารแพทย์ที่ผ่านการอบรมมาไม่ว่าจะเป็นทางด้านเรื่องของพัฒนาการก็ดี จิตแพทย์ก็ดี เขาสามารถดูแลโรคกลุ่มนี้ได้ไม่ยาก
ที่สำคัญเป็นคนเดียวดูเด็กจะได้ประโยชน์มากกว่า กว่าการไปเจอทีเดียว 5-6 คน แล้วได้คำตอบกลางๆ หลายคนไปเจอครั้งแรกๆ อาจยังวินิจฉัยไม่ได้ตั้งแต่แรกต้องอาศัยข้อมูลมากขึ้น ถ้าอยากให้มั่นใจมากขึ้นก็อาจจะ 2ท่านได้ แต่ที่เห็นกันเจอกันเป็น 10 ท่าน โดยเฉพาะกรณีที่เป็นสมาธิสั้นเทียม คุณพ่อคุณแม่ไปเจอก็จะตามว่าตกลงเทียมหรือแท้
ซึ่งตามที่บอกไปรอบก่อนว่าโรคเทียมทั้งหลายไม่มีจริงนะ ถ้าเป็นโรคคือเป็นโรค ส่วนเทียมเป็นปัญหาจากการเลี้ยงดูทำให้เกิดเป็นโรค ซึ่งในกรณีของสมาธิสั้นเทียมปัญหาการเลี้ยงดูคือการเลี้ยงดูโดยที่เด็กไม่ได้ถูกสอนเรื่องของกฎเกณฑ์ เรื่องของการรอคอย แล้วก็ตัวเด็กเองขาดการฝึกฝนเรื่องของวินัย
การรักษาหลักของเด็กที่เป็นซนสมาธิสั้นคือการปรับพฤติกรรมมันจะอยู่เหนือกว่าการกินยา เพราะยาที่รักษาโรคซนสมาธิสั้นไม่ใช่รักษาโรค ยารักษาโรคซนสมาธิสั้นคือยาที่ทำให้นิ่งพอนิ่งแล้วทำให้เรียนหนังสือได้
อย่างที่ได้บอกไปแล้วโรคซนสมาธิสั้น เป็นโรคทางพัฒนาการล่าช้าแปลว่าถ้าไม่ทำอะไรเลยปล่อยไปเรื่อยๆ สุดท้ายเขาจะนิ่งเมื่อพัฒนาการทางสมองเขามีมากขึ้นแต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าเขาไปนิ่งตอน ป.5 โดยที่ ป.1-5 เขาเรียนอะไรไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นหลักการในการให้ยาโรคซนสมาธิสั้นคือการให้ยาที่ทำให้เด็กนิ่งพอที่จะเรียนได้ และไม่ขาดโอกาสในการเรียน ณ เวลานั้น ส่วนการทำให้โรคหายคือการปรับพฤติกรรมทั้งปรับจากตัวพ่อแม่และที่ตัวเด็ก และปรับรูปแบบการเรียนรู้ที่โรงเรียน
ยาโรคซนสมาธิสั้นเป็นยาควบคุมเฉพาะสั่งจ่ายในโรงพยาบาลเท่านั้น คนที่สั่งจ่ายได้คือกุมารแพทย์ที่ผ่านการอบรมทางด้านนี้มาจึงจะสามารถสั่งจ่ายยาได้ ตัวยาเองไม่ได้อันตรายเพียงแต่ว่าอาจมีข้อควรระวังเล็กน้อย เช่น บางคนกินแล้วจะเบื่ออาหาร หรือบางครั้งถ้าเราไม่ต้องการให้เด็กนิ่ง เช่น วันหยุดไม่ต้องกินก็ได้ซึ่งมีข้อแตกต่างจากยาอื่นๆ ที่ออกฤทธิ์ในสมองอย่างยากันชักต้องกินทุกวันห้ามขาด
แต่ยาโรคสมาธิสั้นถ้ากินไปแล้ว วันไหนเราไม่ต้องการสมาธิเราอยากให้ลูกฟรีออกแรงเต็มที่ก็ไม่ต้องกินวันนั้นได้ เพื่อให้เขาสามารถกลับมาเป็นปกติได้ในวันที่เขาไม่ได้กินยา เขากินข้าวได้เป็นปกติไม่มีเบื่ออาหาร หรือยาสมาธิโดยส่วนใหญ่ที่เรากินไปก็เพื่อให้เรียนหนังสือได้
ฉะนั้นตอนเย็นเราไม่ต้องจำเป็นกิน เพราะบางทีกินยาตอนเย็นแล้วเด็กไม่นอนเพราะยามีผลข้างเคียงที่ทำให้นอนไม่หลับด้วย จุดที่ต้องระวังคือเรื่องเบื่ออาหารและการนอนไม่หลับ ดังนั้นยาตัวนี้ส่วนใหญ่จะกินตอนเช้า บางทีถ้าตอนบ่ายมีคาบเรียนก็จะต้องกินตอนเที่ยงด้วยถ้าเป็นการกินยาชนิดออกฤทธิ์สั้น แต่ในกรณีคนที่กินยาแบบ Long acting คือออกฤทธิ์ทั้งวันก็กินยาทีเดียวตอนเช้าได้
แต่ส่วนใหญ่ยาจะหลีกเลี่ยงกินตอนช่วงเย็นๆ เพราะเด็กบางคนนอนไม่หลับ หรือในช่วงปิดเทอมก็อาจจะไม่ต้องกินยาก็ได้ เด็กได้สามารถทำน้ำหนักช่วงนั้นได้ บางคนกินยาไปแล้วกังวลมากช่วงกินยาน้ำหนักลูกไม่ขึ้นเพราะช่วงนั้นเขาจะเบื่ออาหาร
อดทน
คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีความอดทนสำคัญมากเลยเพราะว่าเรามีเด็กคนหนึ่งที่ค่อนข้างซนเลยอยู่ในบ้านความคาดหวังของเด็กซนสมาธิสั้นมักถูกวินิจฉัยในช่วงวัยเรียน เป็นวัยที่พ่อแม่คาดหวังว่าจะต้องรู้เรื่องแล้ว
ซึ่งพัฒนาการสมองในวัยนั้นต้องเข้าใจเหตุผลพื้นฐานได้แต่กลายเป็นว่าเหมือนเด็กฟังแล้วก็ไม่ทำตามเหมือนไม่เข้าใจสิ่งที่พ่อแม่พูด พ่อแม่ก็จะมองว่าเด็กดื้อ จุดสำคัญต้องปรับมุมมองก่อนว่าลูกตอนนี้เป็นสมาธิสั้น หลายครั้งไม่ใช่ว่าเขาดื้อแต่เขาคุมตัวเองไม่ได้
ฉะนั้นเมื่อพ่อแม่เปลี่ยนมุมมองจากการที่เขาเป็นเด็กดื้อมองว่าเขาเป็นเด็กที่ต้องการการช่วยเหลือพอมุมมองตรงนี้เปลี่ยนหลายอย่างจะเริ่มดีขึ้น ความเครียดในตัวพ่อแม่ก็จะเริ่มลดลง
ในสภาวะที่มองว่าเขาเป็นเด็กดื้อพ่อแม่จะมีความรู้สึกหงุดหงิด พอกดดันก็จะลงไปถึงลูกแล้วเด็กวันนี้สะท้อนกลับเลยจะไม่ใช่เหมือนกับเด็กเล็กๆ ที่เขาจะยอมพ่อแม่แล้ว พอเขาไม่ยอมแล้วเขาเป็นเด็กที่ยับยั้งตัวเองได้ไม่ดีปฏิกิริยาตอบโต้จะค่อนข้างแรงพ่อแม่ยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่กลายเป็นทั้งสองฝั่งเครียดเข้าหากันแล้วก็จะมีปัญหา เพราะฉะนั้นคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าต้องอดทนก่อนปรับมุมมองก่อน
ปรับพฤติกรรม
ขณะเดียวกันต้องปรับพฤติกรรม ปรับรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ปรับสถานการณ์ต่างๆ ให้เหมาะกับเด็ก เราทราบว่าเด็กสมาธิสั้นไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นาน เพราะฉะนั้นวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ โต๊ะเขาหันหน้าเข้าหน้าต่างไม่ได้ หันหน้าเข้าทีวีไม่ได้ เขาถูกดึงความสนใจได้ง่ายมากจากสิ่งเร้าจากการที่เขาจดจ่อไม่ได้นาน
ฉะนั้นโต๊ะเขาหันหน้าเข้ากำแพง ขณะเดียวกันเองเขาไม่มีสมาธินานเพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องกำหนดบทเรียนให้เขาใหม่ต้องสั้นๆ เพราะว่าการรู้สึกว่าทำอะไรสำเร็จเป็นแรงจูงใจให้คนพยายามที่จะทำงานอันนั้นต่อ
หลายท่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องตื่นเช้ามาการเก็บที่นอนวันนั้นเหมือนประสบความสำเร็จแล้วเมื่อการที่เรารู้สึกทำอะไรสักอย่างสำเร็จในตอนเช้าของวันมันเป็นแรงที่เราอยากจะทำให้อย่างอื่นให้สำเร็จต่อ เด็กเองก็เช่นกันถ้าเขาทำอะไรสักอย่างขึ้นมาได้ทำเสร็จตามที่พ่อแม่สั่งเกิดความภูมิใจอยากทำอีกไม่มีเด็กคนไหนที่ไม่ชอบให้พ่อแม่ชม เพราะฉะนั้นการปรับรูปแบบกิจกรรม ปรับสถานที่ให้เหมาะกับการเรียนอันนี้เป็นวิธีที่ช่วยได้
เด็กกลุ่มนี้เหมือนมีมอเตอร์อยู่ในตัวเองมีพลังเยอะ ก็ปรับนิดหนึ่งมีพลังเยอะช่วยแม่ทำนู้นทำนี่ หรือคุณครูเองหนูพลังเยอะช่วยคุณครูแบกลำโพงไปที่ห้อง ช่วยลบกระดานหน่อย ให้เด็กได้ปลดปล่อยพลังงานบ้างพอเด็กได้ปลดปล่อยพลังงานบางทีเขาก็สามารถคุมตัวเองได้มากขึ้น ก็เป็นเทคนิคต่างที่จะช่วยผู้ใหญ่ต้องเป็นหลักสำคัญในการช่วยควบคุมตรงนี้
เพราะถ้าผู้ใหญ่เองควบคุมไม่ได้ความเครียดถึงกับตัวเด็กแน่นอน แล้วบางที่เด็กสะท้อนกลับมาแล้วผู้ใหญ่ก็ยิ่งเครียดแล้วสุดท้ายก็จะเป็นปัญหา แล้วพอสมาธิสั้นถ้าจัดการไม่ดีในช่วงของวัยเด็กเขาจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นสมาธิสั้น ผู้ใหญ่ที่เป็นสมาธิสั้นเขาไม่ได้วิ่งรอบห้องเพราะเรื่องอาการซนจะดีโดยธรรมชาติ
ผู้ใหญ่เป็นสมาธิสั้นคือผู้ใหญ่ที่ใจร้อนหุนหันพลันแล่นและสมาธิไม่ดีทำงานไม่เสร็จ เราเห็นกันบ่อยในหนังสือพิมพ์ใจร้อนอย่างที่คาดไม่ถึงมีปัญหาต่างๆ แล้วก็เป็นคนที่ต้องเปลี่ยนงานอยู่เรื่อยๆ เพราะเป็นคนที่ทำงานแล้วก็ไม่สำเร็จผัดวันประกันพรุ่ง หรือที่เราใช้คำว่า EF ในส่วนของการควบคุมตัวเองที่มีความบกพร่อง
พบกับ รายการ รักลูก The Expert Talk ทุกวันพฤหัสบดีที่ 1 2 และ 3 ของเดือน
ติดตามรายการรักลูก podcastได้ที่