การดูแลเด็กพิเศษ คุณแม่หรือผู้ดูแลต้องดูแลให้ครบรอบด้าน อาหารก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่คุณแม่น้องเด็กพิเศษหลายคนยังกัวงวลว่า เลือกอาหารให้ลูกถูกต้องไหม ลูกเด็กพิเศษควรกินอาหารอะไรบ้าง บทความนี้หมอเลยจะมาพูดเกี่ยวกับเรื่องของอาหารการกินกันบ้างว่า เด็กพิเศษควรจะกินอาหารแบบใด จึงจะดีและเหมาะสมกับตัวเด็กรวมไปถึงตัวโรคของเขา
สมองประกอบไปด้วยน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากอวัยวะอื่น ๆ หากตัดส่วนของน้ำออกไป โครงสร้างของสมองจะเป็นไขมันและโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ครับ โดยเฉพาะไขมันที่จะพบได้ค่อนข้างมากในเนื้อสมอง ส่วนโปรตีนจะทำหน้าที่ช่วยในการติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท เช่น การเป็นวัตถุดิบในการสร้างสารสื่อประสาท อันหมายถึงสารเคมีที่เซลล์สมองใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน เป็นต้น ดังนั้น อาหารในช่วงวัยเด็กเล็กจึงต้องมีสัดส่วนของไขมันและโปรตีนอย่างพอเพียง
ในขณะที่คาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะน้ำตาลกลูโคสจะเป็นแหล่งพลังงานหลักแหล่งเดียวที่เซลล์ในสมองจะใช้ระหว่างการทำงานครับ จึงมีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่าโปรตีนและไขมัน สำหรับวิตามินและแร่ธาตุจะมีบทบาทในการช่วยในการสังเคราะห์สารที่จำเป็นต่อการทำงานของสมองและร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินในกลุ่มวิตามินบี ธาตุเหล็ก สังกะสี และไอโอดีน แม้ร่างกายหรือสมองจะต้องการวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้ในปริมาณที่ไม่มากนัก แต่ก็ขาดไม่ได้เพราะจะส่งผลเสียต่อการทำงานของสมอง รวมไปถึงทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ครับ
ดังนั้น สารอาหารทุกชนิดมีความจำเป็นต่อสมองทั้งสิ้น การค้นหาอาหารบำรุงสมองให้กับน้องเด็กพิเศษ จึงไม่ได้อยู่ที่การค้นหาอาหารพิเศษชนิดใดชนิดหนึ่งที่พอกินปุ๊บก็จะทำให้อาการของโรคดีขึ้น แต่อยู่ที่การได้รับสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งกับการกินของเด็กพิเศษก็เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันครับ
เด็กพิเศษบางรายอาจจะกลืนอาหารแข็งได้ลำบากจากโรคทางสมอง หรือเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมที่ชอบกินอาหารเฉพาะอย่างซ้ำ ๆ เดิม ไม่ค่อยยอมเปลี่ยนแปลง หรือเด็กโรคซนสมาธิสั้นที่มักจะหักห้ามใจตนเองไม่ให้ไปกินขนมและของหวานได้ยาก ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและสมองจึงประกอบไปด้วย การเลือกอาหารที่เหมาะสม และเทคนิคในการทำให้เด็ก ๆ ยอมกินอาหารตามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ
สำหรับเทคนิคในการทำให้เด็ก ๆ ยอมกินอาหารตามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการเป็นเรื่องยากมากครับ หลักการคือ ไม่มีเด็กคนไหนปล่อยให้ตัวเองหิวหากมีอาหารอยู่ตรงหน้า เพราะฉะนั้น การส่งเสริมการกินของเด็กซึ่งสามารถใช้ในเด็กพิเศษได้ด้วย คือ การทำให้มีความหิวเกิดขึ้นตามช่วงเวลาของมื้ออาหารครับ
ความหิวของคนเราเกิดจากสมองที่รับรู้ว่าน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ดังนั้น ในช่วง 1-2 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาอาหารมื้อหลัก 3 มื้อในเด็กตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จึงไม่ควรให้กินนมหรือขนม เพราะการกินนมหรือขนมจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เมื่อถึงเวลากินข้าวเด็กจะไม่หิวครับ เด็กจึงไม่ควรกินขนมไปเล่นไป หรือกินขนมไปดูโทรทัศน์ไปครับ นั่นคือ ไม่ควรกินจุกจิก โดยอาจเสริมด้วยการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงเพื่อให้ร่างกายมีการใช้พลังงานจากน้ำตาลและรู้สึกหิวมากขึ้นด้วยครับ
ถ้าเด็กยังไม่ยอมกินอาหารอีก คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็ง โดยการยกอาหารเก็บขึ้นเลยหากเกินช่วงเวลาในการรับประทานอาหารแล้ว และไม่ควรให้นมเสริมทันที เพราะเด็กจะเรียนรู้ว่า ถึงไม่กินอาหารหลัก ก็ยังสามารถกินนมได้ และที่สำคัญคือ นมกินง่ายกว่าการกินอาหารหลักมาก เพราะแค่ดื่ม ไม่ต้องเคี้ยว จึงสะดวกหากจะดื่มนมแล้วรีบไปเล่นต่อ
ดังนั้น หากเด็กไม่ยอมกินข้าว ก็ไม่ควรเลื่อนมื้อนมขึ้นมาเร็ว แต่ให้เด็กกินนมตามเวลาเดิมเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่า หากไม่ยอมกินข้าวก็จะหิว นอกจากนี้ การทำอาหารให้กับเด็ก ๆ โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กเล็กก็ต้องดูน่าสนใจและดึงดูดใจเด็ก ๆ ด้วย เช่น การจัดอาหารให้ดูเหมือนรูปหน้าสัตว์ต่าง ๆ เช่น เอาลูกเกดมาทำเป็นตา เอาแคร์รอตทำเป็นเขาสัตว์ แบบนี้ก็จะทำให้เด็กสนใจที่จะกินมากขึ้นครับ
การเลือกอาหารที่เหมาะสม คือ การเลือกอาหารที่มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ แหล่งของสารอาหารแต่ละชนิดอาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้บ้างตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เด็กเบื่อหรือรู้สึกจำเจ เช่น แหล่งของโปรตีน อาจจะมาจากเนื้อไก่บ้าง เนื้อหมูบ้าง หรือ เนื้อปลาบ้าง สลับกันไป โดยเฉพาะเนื้อปลาที่เป็นแหล่งของกรดไขมันที่จำเป็นและช่วยในการทำงานของสมอง หรือ ถ้าเด็กไม่ค่อยยอมกินเนื้อสัตว์ การให้กินเต้าหู้หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองก็พอจะทดแทนได้ครับ หรือในส่วนของคาร์โบไฮเดรต ถ้าเด็กไม่ยอมกินข้าว ก็ให้กินเส้นก๋วยเตี๋ยวหรือขนมปังแทนก็ได้เช่นกัน
อาหารในกลุ่มผักและผลไม้ ต้องพยายามให้เด็กกินเองให้ได้นะครับ เพราะผักและผลไม้มีวิตามินและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ และเป็นแหล่งของไฟเบอร์ที่ช่วยในการขับถ่ายด้วย ซึ่งการให้ยาวิตามินรวมหรือแร่ธาตุอาจจะช่วยทดแทนการได้รับวิตามินและแร่ธาตุไม่เพียงพอได้ แต่การได้รับวิตามินและแร่ธาตุในรูปแบบและสัดส่วนที่เหมาะสมจากอาหารโดยตรงจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กมากกว่าครับ
โดยสรุปแล้ว อาหารบำรุงสมองในเด็กพิเศษ คือ อาหารที่เด็กควรจะได้รับตามแต่ช่วงวัย โดยเน้นการกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเทคนิคสำคัญคือ การเลือกอาหารที่หลากหลาย การปล่อยให้เด็กหิวตามเวลา ไม่ปล่อยให้กินจุกจิกก่อนเวลาอาหาร และให้กินอาหารในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละมื้อ รวมไปถึงการจัดรูปแบบอาหารให้ดูน่าสนใจสำหรับเด็กครับ
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง