แหวะนมเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กทารกเกิด การอ้วกนม แหวะนมอันตรายไหม มีสาเหตุจากอะไร และจะแก้อาการลูกแหวะนมอย่างไร เรามีคำแนะนำค่ะ
เวลาลูกน้อยดูดนมได้เก่ง กินได้เยอะ แม่ทุกคนก็ตื่นเต้น ดีใจและมีความสุขไปด้วย แต่เวลาที่กินมากไปจนแหวะออกมาน่ะสิ ตอนนั้นความดีใจก็หายไปหมด ความกังวลมาแทนที่ว่าลูกน้อยจะเป็นอะไรไปหรือเปล่า เมื่อลูกแหวะนมก็ทำเอาใจหายใจคว่ำไปตามๆ กัน ยิ่งถ้าลูกแหวะนมเป็นครั้งแรก แม่ยิ่งตกใจเป็นธรรมดา
ทารกแหวะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ เกิดจากกล้ามเนื้อของเด็กยังทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหูรูดตรงรอยต่อของหลอดอาหารและกระเพาะ โดยปกติกล้ามเนื้อส่วนนี้ต้องขยายเพื่อให้อาหารผ่านไปหากระเพาะได้ เด็กทารกทุกคนที่กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรง เมื่อนมผ่านลงไปแล้ว กล้ามเนื้อที่ต้องหดตัวปิดไม่ให้อาหารไหลกลับคงยังไม่ทำงาน พอกินอิ่มใหม่ ๆ แล้วแม่เผลอวางลูกให้นอนหงายโดยไม่ได้อุ้มเรอนมก่อน
การแหวะนมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การกินมากไป การเป็นโรคกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะหย่อน หรือร้ายแรงกว่านั้นคือการมีเนื้องอกในบริเวณท้องของลูก ซึ่งลักษณะอาการของเด็กหลังจากแหวะนมบ่อยแล้วอาจจะมีอาการอาเจียนร่วมด้วย แม้ก้อนเนื้อในท้องจะไม่ใช่มะเร็งแต่ก็ควรต้องได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นเมื่อกล้ามเนื้อบีบตัวจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้
นอกจากนี้ยังมีอาการที่อาจร้ายแรงกว่านั้น เช่น การแหวะนมหรืออาเจียนบ่อย กระทั่งน้ำหนักของลูกน้อยลดลงเรื่อย ๆ แทนที่เด็กจะอ้วนขึ้นตามวัย กรณีนี้ถือว่าต้องพบแพทย์เท่านั้น ถึงจะแก้ไขได้ถูกจุด เพราะนั่นอาจเป็นปัญหาที่ระบบทางเดินอาหารของลูกน้อยก็เป็นได้
เทคนิคที่ช่วยให้ลูกหายจากการแหวะนม แนะนำให้ ‘กินตามเวลา ดื่มให้พอดี อุ้มเรอ และออกกำลังกาย’ ไม่นานกล้ามเนื้อหูรูดของลูกจะแข็งแรงขึ้น อาการแหวะนมจะค่อยๆ หายไปเองค่ะ
แม่ควรสังเกตวิธีดูดนมของลูก ไม่ว่าจะดูดจากเต้านมโดยตรงหรือดูดจากขวด หากการดูดนั้นเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เช่น ในกรณีที่กินนมแม่ ลูกนอนในท่าไม่สบาย หรือดูดหัวนมเข้าไปได้ไม่ลึกพอ ทำให้น้ำนมไหลน้อย และลูกก็ตั้งหน้าตั้งตาดูดเอาลมเข้าไปจนเต็มท้อง นั่นแหละค่ะสาเหตุที่ลูกมีลมในท้องจนดันเอาอาหารออกมา
สำหรับเวลาที่ลูกน้อยกินนมจากขวดก็เช่นกัน แค่การหมุนปิดฝาจุกนมแน่นเกินไป หลวมเกินไป จนมีฟองอากาศไหลเข้าขวดนมไปมาก ก็เป็นสาเหตุทำให้ลูกแหวะนมได้ ก็ลูกน้อยจะดูดเอาแต่ลมเข้าไปจนเต็มกระเพาะนั่นเอง
นอกจากระวังเรื่องการให้นมแล้ว วิธีง่ายๆ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกไม่มีลมในท้องก็คือการอุ้มเรอ โดยยกตัวลูกขึ้นคว่ำพาดไหล่ ลูบหลังเบาๆ กระทั่งลูกเรอออกมา ก็จะช่วยให้สบายท้อง ซึ่งตอนอุ้มเรอนี้เจ้าตัวเล็กอาจมีแหวะนมออกมาบ้าง ก็แค่ใช้ผ้ารองบนบ่าไว้ก่อนเท่านั้นจะได้ไม่เลอะ ไม่นานนักลูกน้อยก็จะสบายตัวและอิ่มสบายท้องค่ะ
พอรับรู้ว่าการแหวะนมเป็นเรื่องธรรมดา ให้สังเกตว่าลูกแหวะนมบ่อยแค่ไหนหลังดื่มนม แม้จะจับลูกอุ้มเรอหลังมื้อนมแล้ว แต่ถ้ายังแหวะนมออกมาเป็นระยะในระหว่างมื้อ แถมงอแงจนผิดสังเกตต้องรีบพาลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์ทันที
การแหวะนมของทารกช่วงแรกคลอด – 4 เดือน เป็นเรื่องธรรมดา เพราะกล้ามเนื้อหูรหลอดอาหารและกระเพาะทำงานยังไม่เต็มที่ หรือลูกกินลมเข้าไปมากจากการดื่มนมผิดวิธี
เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงและปรับตัวได้ การกินของลูกจะดีขึ้น โดยอาการแหวะนมจะหายไปได้เอง
หากแหวะนมบ่อยมาก เช่น ทุกครั้งหลังดื่มนม อาจมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหูรูดหย่อน ควรปรึกษากุมารแพทย์
หากแหวะนมร่วมกับอาเจียนเป็นประจำต่อเนื่อง อาจเกิดความผิดปกติในท้อง เช่น เนื้องอก
หากแหวะนมเป็นเวลานาน และน้ำหนักลดลงเรื่อยๆ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน