เด็กวัย 3 ปี จะเข้าอนุบาลแล้ว เรื่องสำคัญไม่ใช่แค่การเลือกโรงเรียนเท่านั้น แต่ต้องเตรียมลูกให้ "พร้อมที่สุด" เท่าที่จะทำได้ด้วย เพื่อให้ชีวิตในโรงเรียนของลูกเริ่มต้นขึ้นอย่างราบรื่นไร้ปัญหาและมีความสุข
จริงๆ แล้วการเตรียมความพร้อมเรื่องต่างๆ ให้ลูก ไม่ใช่ว่าจะมาเตรียมกันตอนก่อนเข้าโรงเรียนเท่านั้น เพราะพัฒนาการของลูกที่สมบูรณ์พร้อมต้องใช้เวลา จึงต้องเตรียมกันมาตั้งแต่ 1- 3 ปีแรกก่อนที่จะเข้าเรียนเลยทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องต่อไปนี้
เตรียมร่างกาย
เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้พัฒนาด้านร่างกาย กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ได้ออกกำลังกาย ทำให้มีการทรงตัวที่ดี ให้ได้นอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ
ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้
เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะเมื่อเด็กเข้าไปอยู่ในอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งไม่มีคนมาดูแลใกล้ชิดเหมือนอยู่ที่บ้าน ดังนั้นลูกต้องช่วยเหลือตนเองได้ดีพอสมควร เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดีกว่าก็จะปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนได้ดีกว่า เช่น การรับประทานข้าวได้ด้วยตนเอง การบอกว่าปวดปัสสาวะหรืออุจจาระกับคุณครูได้
การฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเองได้นั้น ต้องฝึกตามวัย ตามพัฒนาการของลูก เช่น เมื่ออายุ 1-2 ปี จะเริ่มสนใจตักอาหารเข้าปากเองได้ พ่อแม่ก็ต้องปล่อยให้ลูกลองทำเอง จะหกบ้าง เลอะบ้างก็ปล่อยไป ไม่เป็นไร หรือฝึกให้ลูกรู้จักพูดบอกเมื่อปวดปัสสาวะ ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ฝึกให้ลูกรู้จักนั่งชักโครก เรื่องการแต่งตัว ใส่เสื้อ ติดกระดุม ใส่รองเท้า ถอดรองเท้าเอง เป็นต้น จำไว้ว่าอย่าปิดโอกาสในการพัฒนาลูก โดยการทำให้ลูกเองทั้งหมด
ฝึกเรื่องการอดทนรอคอย
เวลาที่ลูกอยู่โรงเรียน ลูกจะไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทันทีเหมือนตอนอยู่บ้าน เด็กจะต้องอดทนรอคอย เช่น เข้าคิวเล่น หรือรอพ่อแม่ไปรับกลับบ้าน เป็นต้น ต้องค่อยๆ ฝึกลูกทีละน้อย ให้รอในสิ่งที่ลูกรอแล้วได้ ไม่ใช่รอแล้วไม่ได้ ลูกก็จะรู้สึกผิดหวัง เช่น ขณะรอเล่นชิงช้า พ่อแม่ก็อาจจะให้ชวนลูกคุยไปด้วย ก็จะช่วยทำให้ลูกรอคอยได้มากขึ้น และเวลาที่ลูกอยากได้อะไร พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องตามใจลูกทุกครั้งไป อาจใช้วิธีเบี่ยงเบนให้ลูกหันไปสนใจสิ่งอื่นทดแทน เป็นการสอนให้ลูกรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีขอบเขต ไม่จำเป็นว่าพ่อแม่ต้องตามใจทุกครั้งเพราะกลัวว่าลูกจะเสียใจ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกปรับตัวกับสิ่งอื่นๆ หรือคนอื่นๆ ต่อไปได้ยาก
ส่งเสริมทักษะการเข้าสังคม
สังคมแรกของลูกคือพ่อแม่ ดังนั้นการส่งเสริมให้ลูกรู้จักเข้าสังคมได้ก็ต้องเริ่มจากพ่อแม่ เราต้องเล่นกับลูกก่อน ลูกจึงเล่นกับคนอื่นได้ เท่านี้ก็เป็นการเรียนรู้การเข้าสังคมในระดับเบื้องต้นแล้ว เด็กในวัย 1-3 ปีนี้จะถือตัวเองเป็นใหญ่ มีความเห็นแก่ตัวอยู่บ้าง ฉะนั้นพ่อแม่ต้องไม่ไปบังคับลูกจนเกินไป แต่เน้นการเปิดโอกาสให้ลูกทำมากกว่า และเมื่อลูกทำได้ เช่น ยอมแบ่งของเล่นให้เพื่อน เราก็ต้องไม่ลืมชื่นชม แต่ถ้าลูกยังไม่อยากทำ อย่าใช้วิธีบังคับเพราะจะยิ่งทำให้ลูกหวงของมากขึ้น
ส่งเสริมให้ลูกรู้จักใช้ภาษาสื่อสาร
เป็นการสอนให้ลูกรู้จักบอกความต้องการของตัวเอง เพราะเมื่อลูกต้องไปอยู่ที่โรงเรียน ครูไม่สามารถทำอย่างที่พ่อแม่ทำให้ลูกได้ จึงต้องฝึกลูกให้สามารถพูดได้ว่าต้องการอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร หรือเมื่อมีปัญหาก็สามารถพูดจัดการได้ เมื่อลูกสามารถบอกความต้องการของตนเองกับคนอื่นได้ ลูกก็จะปรับตัวได้ดี แถมยังลดพฤติกรรมก้าวร้าวลงอีกด้วย เพราะเด็กที่พูดสื่อสารไม่ได้ เวลาที่โมโหอาจจะตีเพื่อน แย่งของเพื่อนเพราะอยากเล่น แทนที่จะพูดขอดีๆ เป็นต้น
ให้ลูกมีโอกาสในการเล่น
นอกจากการเล่นจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับภาพ การได้ยินเสียง ได้กลิ่น การรับรส และการสัมผัสทางร่างกายแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี ทำให้ลูกรู้จักอดทนรอคอย ทำให้ลูกสมาธิดีขึ้น และส่งเสริมการเข้าสังคมด้วย
สร้างทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียน
อย่าไปใช้คำพูดที่ทำให้เห็นว่าโรงเรียนเป็นสิ่งที่น่ากลัว หรือเป็นการลงโทษ เช่น ดื้อมากเดี๋ยวส่งไปอยู่โรงเรียนเลย และเด็กวัยนี้มักจะกลัวการพลัดพราก การไปโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับลูกอยู่แล้ว ดังนั้นควรทำให้ลูกมองว่าการไปโรงเรียนเป็นเรื่องที่ดี เป็นเวลาที่ลูกได้เติบโตขึ้น และพ่อแม่ภูมิใจเมื่อลูกไปโรงเรียน
ปกป้องลูกจากสิ่งกระตุ้นทางลบ
เช่น ติดโทรทัศน์ หรือติดเกม เพราะจะทำให้ลูกมุ่งความสนใจอยู่แต่ในเรื่องนั้นๆ และไม่สนใจเรื่องในโรงเรียนที่ไม่ได้มีแต่เรื่องน่าสนุก บางครั้งก็ยาก บางครั้งก็ต้องทำตามกฎเกณฑ์ พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกรู้จักจัดสรรเวลา เวลาไหนที่เล่นได้ หรือเวลาไหนต้องทำการบ้าน ไม่ใช่ติดอยู่แต่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนไม่เป็นอันทำอะไร ทำให้เมื่อโตขึ้นจะทำให้ลูกรู้จักแบ่งเวลาเป็นด้วย
ให้ความมั่นใจว่าจะไม่ทิ้งลูก
เด็กวัย 1-3 ปีนี้จะกลัวการพลัดพราก การไปโรงเรียนทำให้ลูกกังวลว่าพ่อแม่จะไม่ไปรับ บางคนก็กังวลว่าจะไม่ได้เห็นหน้าพ่อแม่อีก จึงต้องให้ความมั่นใจกับลูกว่า "หนูไปโรงเรียนนะคะ ถ้าหนูไม่สบายใจจะร้องไห้ก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็เป็นหน้าที่ที่ลูกต้องไป แล้วพอถึงเวลาเลิกเรียนแม่จะไปรับแน่ๆค่ะ" อย่างนี้เป็นต้น นอกจากนั้นอาจจะเอาของที่ลูกติด เช่น ตุ๊กตาตัวโปรดหรือผ้าห่มผืนโปรดไปที่โรงเรียนด้วย เพื่อให้ลูกใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแทนแม่ที่จะไปโรงเรียนกับลูกด้วย
ให้ความร่วมมือกับครู
เพราะว่าเวลาที่ลูกมีปัญหา เกิดความเครียด ความกังวล บางครั้งอาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจกัน หรืออาจจะเกิดจากปัญหาอะไรเพียงนิดหน่อย ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่กับคุณครูได้ช่วยกันวิเคราะห์หาสาเหตุ และช่วยกันแก้ไขตั้งแต่ต้น ก็จะสามารถผ่านปัญหาเล็กๆ นั้นไปได้ด้วยดี โดยไม่ทำให้บานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ จนทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียนได้