ผู้หญิงยุคใหม่หลายคนเป็น working woman ชอบทำงาน สร้างเป้าหมาย เพื่อพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก จึงยังวางแผนการมีครอบครัวช้าและไม่เคยตรวจสุขภาพ เมื่อมีการตั้งครรภ์ตอนมีอายุมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ลูกสุขภาพจะไม่แข็งแรงและเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษด้วยนะคะ
ปัจจัยเสี่ยงต่อลูกเมื่อตั้งครรภ์ช้า
1. พันธุกรรมแม่สู่ลูกมีคุณแม่จำนวนไม่น้อย ตั้งครรภ์โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจางหรือธาลัสซีเมีย รวมถึงโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมที่แม้ไม่แสดงอาการแต่สามารถส่งต่อความผิดปกติของยีนไปแสดงออกที่ลูกได้ ขณะที่โรคยอดฮิตอย่างโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ และคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าครรภ์ปกติ
2. ยาที่มีผลต่อทารกในครรภ์ยาบางตัวมีผลต่อเด็ก เช่น ยาความดัน ยาไทรอยด์ ยารักษาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ และยากันชักบางตัวที่เป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ ในกรณีที่จำเป็นอาจต้องเปลี่ยนยาหรือปรับขนาดของยาเพื่อลดผลกระทบ
3. เชื้อโรคที่มากับเด็กเล็กคุณแม่ตั้งครรภ์ภูมิต้านทานต่ำลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อที่ปนเปื้อนทางอากาศและสิ่งแวดล้อมสูง เช่น เชื้อหัดเยอรมัน Cytomegalovirus : CMV ที่มักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยเชื้อนี้เป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ อาจทำให้หูหนวก ตาบอดได้ โดยเชื้อชนิดนี้สามารถติดต่อผ่านน้ำลาย และฝุ่นละอองโดยไม่แสดงอาการ
ดังนั้นเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรีบมาแพทย์ในทันที เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยง กำหนดวันคลอดที่แน่นอน และวางแผนการคลอดได้อย่างเหมาะสม เพราะหญิงตั้งครรภ์ตอนอายุมากมีโอกาสแท้งบุตรได้ง่าย
บทความโดย : ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ