ลูกทารกบางคนเกิดมาพร้อมกับโรคบางชนิดที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดตั้งแต่ยังเล็ก เช่น โรคหัวใจ เมื่อลูกต้องรับการผ่าตัดเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร เรามีข้อมูลมาบอกค่ะ
เมื่อลูกทารก ลูกเล็กต้องผ่าตัดรักษาโรค ลูกต้องเจอกับอะไรบ้าง
ขั้นแรก เป็นการเริ่มเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ปกติศัลยแพทย์ (หมอผ่าตัด) จะเชิญคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองมาบอกเล่าถึงสาเหตุ ความจำเป็นในการผ่าตัด วิธีผ่าตัด พร้อมนัดวันผ่าตัด
- หากเป็นการผ่าตัดใหญ่ จะต้องพาลูกน้อยมานอนที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 วันก่อนการผ่าตัด เพื่อให้แพทย์เตรียมความพร้อมร่างกายของลูกน้อย และเลือดสำหรับการผ่าตัด ซึ่งจะต้องงดอาหารก่อนผ่าตัดประมาณ 6 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เศษอาหารหลงเหลือในกระเพาะอาหารอันเป็นการป้องกันการขย้อนอาหารเข้าสู่ปอดและทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ
ในช่วงเย็นก่อนการผ่าตัด 1 วัน วิสัญญีแพทย์ (หมอดมยา) จะเข้าไปพูดคุยสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกับลูกน้อยของคุณ และคุณพ่อคุณแม่เพื่อบอกรายละเอียดของการรักษา วิธีดมยาสลบ และการระงับความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด ซึ่งหากมีข้อสงสัยก็สามารถซักถามได้เต็มที่ จากนั้นจะเริ่มสั่งยานอนหลับให้ลูกน้อยของคุณรับประทานก่อนนอน เพื่อให้หลับปุ๋ยอย่างมีความสุขไปจนถึงห้องผ่าตัดในเช้าวันรุ่งขึ้น
- กรณีที่เข้ารับการผ่าตัดเล็ก ที่สามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะให้ผู้ป่วยอดอาหารก่อนประมาณ 6 ชั่วโมง และจะนัดให้คุณพาลูกน้อยมาถึงห้องผ่าตัดในเช้าของวันนั้น ส่วนบรรยากาศก็สบายใจหายห่วง เพราะที่นั่นคุณจะพบกับศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ พยาบาลวิสัญญี และพยาบาลห้องผ่าตัดที่พร้อมให้การต้อนรับคุณและลูกน้อยอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง ยิ่งถ้าหากลูกน้อยของคุณเป็นเด็กอารมณ์ดี ไม่งอแงก็จะได้เล่นของเล่นหลากชนิดในห้องพักรอการผ่าตัด แถมบางอย่างก็ให้กลับบ้านได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีวิดีโอการ์ตูนที่กำลังนิยมเปิดให้ชมเพื่อความเพลิดเพลินและผ่อนคลาย แต่ถ้าขี้แย หรือขี้กลัว ไม่คุ้นเคยกับคนแปลกหน้าก็จะได้รับยานอนหลับ เพื่อจะได้หลับปุ๋ยอย่างสบายก่อนเข้าห้องผ่าตัด
โดยปกติ แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ปกครองเข้าห้องผ่าตัดพร้อมลูกน้อย โดยต้องเปลี่ยนเป็นชุดปราศจากเชื้อของห้องผ่าตัดเสียก่อน จากนั้นวิสัญญีแพทย์ก็จะเริ่มนำยาสลบมาใช้กับลูกน้อยของคุณ ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ
- วิธีที่ 1 ให้สูดดมยาสลบผ่านทางหน้ากากหายใจ ซึ่งอาจชักชวนให้ลูกน้อยของคุณเล่นอุปกรณ์การดมยาในระหว่างที่อยู่ภายในห้องพักรอการผ่าตัด และเมื่อเข้าห้องผ่าตัดก็จะชักชวนให้เป่าลูกโป่งที่บรรจุยาสลบ โดยยาสลบจะมีกลิ่นหอมหวาน ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ และก็จะทำให้ค่อย ๆ หลับอย่างมีความสุข
- วิธีที่ 2 วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาสลบเข้าหลอดเลือดดำแล้วเด็กจะหลับทันที แต่วิธีนี้จะต้องใช้กับเด็กที่ไม่กลัวการฉีดยา และพูดรู้เรื่อง
หากลูกน้อยของคุณหลับแล้ว แพทย์จะให้คุณออกมารอนอกห้องผ่าตัด แต่อย่าเพิ่งเดินไปไหนไกลนะคะ เพราะทันทีที่เขาฟื้นจากยาสลบ คุณจะต้องเป็นคนแรกที่เขาเห็น ภายหลังการผ่าตัด ลูกน้อยของคุณจะต้องนอนพักฟื้นเพื่อสังเกตอาการประมาณ 2 – 8 ชั่วโมง ก่อนอนุญาตให้กลับบ้านได้
ส่วนเรื่องความเจ็บปวดเมื่อฟื้นก็หายห่วง เพราะในระหว่างที่เขายังไม่ฟื้น วิสัญญีแพทย์ได้ฉีดยาชาและยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์ได้นานเพื่อให้ตื่นขึ้นมาอย่างมีความสุข และภายหลังที่วิสัญญีแพทย์วินิจฉัยแล้วลงความเห็นว่าอยู่ในภาวะปลอดภัย ก็จะย้ายไปยังหอพักผู้ป่วย
ในกรณีที่อนุญาตให้กลับบ้าน ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะเป็นผู้สั่งยาให้ไปรับประทานที่บ้าน ซึ่งมักจะประกอบด้วยยาปฏิชีวนะ เพื่อลดการติดเชื้อของแผลผ่าตัด รวมถึงยาแก้ปวด โดยไม่ลืมที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของลูกน้อยในระหว่างพักฟื้นให้คุณทราบ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศ.คลินิก พญ.สุมิตรา เชาวนโยธิน
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล