ลุ้นเพศของลูกในครรภ์ได้ ตอนอายุครรภ์กี่เดือน
แม่ตั้งครรภ์คงลุ้นกันน่าดูเลยนะคะว่า ลูกในท้องจะเป็นลูกชายหรือลูกสาวกันแต่ มาเช็กกันหน่อยค่ะว่า เราสามารถทราบเพศลูกในท้องได้ตอนอายุครรภ์กี่เดือน และลูกพัฒนาการในการสร้างอวัยวะระบุเพศได้ในช่วงไหนของการตั้งครรภ์บ้าง
ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 กำลังสร้างเป็นอวัยวะที่สมบูรณ์
- อายุครรภ์ 7-8 สัปดาห์: ปกติแล้วทารกจะถูกกำหนดว่าเป็นเพศไหน ตั้งแต่ช่วงที่มีการปฏิสนธิและการฝังตัวอ่อนแล้ว โดยเพศชายจะมีโครโมโซม xy ส่วนเพศหญิงโครโมโซม xx ซึ่งช่วงไตรมาสแรก จะเป็นช่วงที่อวัยวะกำลังเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นรูปร่าง ผิวหนังบริเวณขาหนีบเริ่มมีลักษณะนูนๆ ขึ้นมา และเริ่มมีการสร้างส่วนประกอบต่างๆ ของอวัยวะแล้ว เพียงแต่ยังเห็นไม่ชัดเจน
- อายุครรภ์ 9-10 สัปดาห์: อวัยวะเริ่มมีการพัฒนา สร้างเป็นรูปร่างมากขึ้น ถ้าเป็นผู้ชายจะมีลูกอัณฑะ โดยมีลักษณะเป็นก้อนกลมๆ นูนขึ้นมา แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะมีลักษณะเป็นแคมเล็กๆ เกิดขึ้น
- อายุครรภ์ 11-12 สัปดาห์ที่: อวัยวะเริ่มมีลักษณะชัดเจนขึ้น มีรูปร่างเห็นได้ชัดเจน ในเด็กผู้ชายอวัยวะจะเริ่มมีการยื่นยาวขึ้น ลูกอัณฑะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ ส่วนผู้หญิงมีแคมนอกชัดเจน มีการสร้างรังไข่ มดลูกเสร็จสมบูรณ์แล้ว
ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 แม่รู้สักที...หนูเพศไหน
- อายุครรภ์ 15-16 สัปดาห์: คุณแม่สามารถตรวจเช็กเพศของลูกน้อย และรู้ได้แล้วว่าจะได้ลูกชายหรือหญิง ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ หรือตรวจน้ำคร่ำ ซึ่งอวัยวะลูกน้อยจะเริ่มมีการสะสมของไขมัน ทำให้อวัยวะมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้น ในเพศชายบริเวณอวัยวะเริ่มมีผิวหนังย่น เป็นรูปทรงมากขึ้น ส่วนเพศหญิงแคมนอกเริ่มมีการนูนขึ้น
ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 อวัยวะหนูพัฒนาสมบูรณ์แล้ว
- อายุครรภ์ 30 สัปดาห์: อวัยวะมีการสะสมของไขมันมากขึ้น โครงสร้างมีลักษณะชัดเจน ในเพศชายกว่า 98% ลูกอัณฑะจะลงถุงหมดแล้ว เป็นรูปทรงชัดเจน ผิวหนังหนา และมีขนาดยาวขึ้น ส่วนผู้หญิงแคมนอกแคมในเริ่มมีการแยกอย่างชัดเจน มีขนอ่อนๆ ขึ้นบริเวณรอบๆ อวัยวะแล้ว
เคล็ดลับดูแลครรภ์
ในช่วงไตรมาสที่ 1 หรือสัปดาห์ที่ 11-13 เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่อวัยวะของลูกน้อยมีการพัฒนา ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่ไม่จำเป็น การเดินทางท่องเที่ยวไกลๆ ที่อาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือน หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเกิดการกระทบกระเทือนและทำให้การส่งเลือดไปที่ลูกน้อยมีปัญหา ส่งผลให้การพัฒนาอวัยวะต่างๆ รวมทั้งการสร้างอวัยวะเพศของลูกมีปัญหาได้ด้วย แต่ถ้าพ้นช่วงไตรมาสที่ 1 ไปแล้ว เป็นระยะปลอดภัยที่คุณแม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น เพราะอวัยวะต่างๆ ของลูกมีการสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช สูติแพทย์