คนท้องต้องระวัง เป็นอีสุกอีใสอาจเสี่ยงทำลูกพิการแต่กำเนิด
โรคอีสุกอีใสคือการติดเชื้อไวรัส Varicella-Zoster ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก เพราะในแม่ตั้งครรภ์จะมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยพบการติดเชื้อไวรัสนี้ แต่สิ่งที่น่ากังวัลหากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นอีสุกอีใส คืออาการแทรกซ้อนจากโรค เช่น อาการปอดบวม สมองอักเสบ และเยื่อหุ้มห้วใจอักเสบ เป็นต้น
อาการอีสุกอีใสในคนท้อง
- มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดท้อง เจ็บคอ อ่อนเพลียและปวดเมื่อยอยู่ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นอาการไข้จะลดลง อาการต่างๆ จะดีขึ้น
- ผิวหนังจะขึ้นผื่นอย่างรวดเร็ว ทั้งใบหน้า ลำตัว หนังศีรษะ แขนขา และเยื่อบุช่องปาก และผื่นจะกลายเป็นตุ่มพองมีน้ำใสอยู่ในตุ่มนาน 4-6 วัน
- เริ่มตกสะเก็ดประมาณ 1-3 วัน และแผลจะจางลงเป็นปกติใน 2 สัปดาห์
ติดเชื้ออีสุกอีใสได้อย่างไร
โรคอีสุกอีใสสามารถติดต่อได้จากการสัมผัส ทั้งจากในอากาศ การไอ จาม การหายใจ และสัมผัสผื่นโดยตรงที่ผิวหนังหรือเสื้อผ้าผู้ป่วย โดยจะมีระยะฟักตัวของโรค 10-21 วัน และเริ่มแพร่เชื้อได้ในช่วง 5 วันก่อนผื่นขึ้น จนกระทั่งเมื่อตุ่มน้ำแห้งแตกเป็นสะเก็ดหมดแล้ว ระยะแพร่เชื้อนานถึง 7-10 วันค่ะ
อีสุกอีใสกับทารกในครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นอีสุกอีใสจะมีการติดเชื้อไปยังลูกน้อยถึงร้อยละ 10 ซึ่งมีความเสี่ยงพอๆ กันในทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์ แต่การติดเชื้อในไตรมาสแรกจะมีความรุนแรงที่สุด เนื่องจากเชื้อโรคผ่านรกไปยังลูกน้อยในช่วงของการสร้างอวัยวะ จึงอาจเกิดผลกระทบทำให้ลูกสมองฝ่อ มีความผิดปกติของกระดูกขาและผิวหนังได้
ส่วนการติดเชื้อในไตรมาสที่สองและสามนั้น ลูกน้อยมีโอกาสเกิดความพิการได้น้อย มีข้อมูลพบว่า คุณแม่ที่ติดเชื้อก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ จะพบลูกน้อยพิการได้ร้อยละ 2 แต่ถ้าติดเชื้ออีสุกอีใสหลัง 20 สัปดาห์จะไม่พบปัญหานี้
ความรุนแรงของอีสุกอีใสจากแม่สู่ลูก
- อีสุกอีใสใน 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
เป็นช่วงที่มีผลกระทบกับลูกน้อยในท้องมากที่สุด โดยพบว่า ลูกมีความเสี่ยงที่จะพิการร้อยละ 2-5 รวมทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการแท้ง คลอดก่อนกำหนด ทารกเติบโตช้าในครรภ์และเสียชีวิตในครรภ์ได้ และคุณแม่ต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอย่างภาวะปอดอักเสบ ซึ่งหากมีอาการนี้ คุณหมอก็จะให้ยาต้านไวรัส Acyclovir เพิ่มเติมให้ด้วย
- อีสุกอีใสในช่วง 5-20 วันก่อนคลอด
ช่วงนี้ถือว่ามีความเสี่ยงน้อยที่ลูกจะติดเชื้ออีสุกอีใส แต่คุณหมอก็จะคอยดูแลอย่างใกล้ชิดค่ะ
- อีสุกอีใสในช่วง 5 วันก่อนคลอดถึง 2 วันหลังคลอด
ลูกน้อยอาจมีการติดเชื้ออีสุกอีใสจากแม่ได้ร้อยละ 30 แต่ทันทีหลังคลอด คุณหมอจะฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (ยาต้านไวรัส) ให้ลูก จะสามารถลดการติดเชื้อลงได้
ความผิดปกติแต่กำเนิดเมื่อทารกเกิดจากแม่ที่เป็นอีสุกอีใส
หากลูกน้อยติดเชื้ออีสุกอีใสในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ จะเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดได้ดังนี้
- ผิว หนัง และแขนขามีแผลเป็น
- แขนขาลีบ ผิวหนังเข้ม
- สมองฝ่อ ศีรษะเล็ก สมองอักเสบ ชัก ปัญญาอ่อน อัมพาต
- ตาเล็ก ประสาทตาฝ่อ ต้อกระจก น้ำหนักน้อยผิดปกติ
7 วิธีดูแลตัวเองเมื่อแม่ท้องเป็นอีสุกอีใส
- โดยตัดเล็บให้สั้น ป้องกันการเกาจนเป็นแผลติดเชื้อเป็นตุ่มหนองได้
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- หากมีอาการคัน ควรทายาคาลาไมน์ (Calamine lotion ) หรือเลือกแบบเป็นยากินก็ได้
- ถ้ามีอาการไข้ สามารถกินยาพาราเซตามอลได้
- รีบไปพบคุณหมอเมื่อสงสัยว่ามีอาการแทรกซ้อน เช่น มีไข้สูงต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะกินยาแล้ว ตุ่มใสเป็นหนอง ไอมากมีเสมหะ หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก ปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งในรายที่รุนแรงหรือมีอาการแทรกซ้อน คุณหมอจะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสแทน
- คุณแม่ที่อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ ควรนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นทุกวัน หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาคุณหมอ
- ตรวจติดตามอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ตามที่คุณหมอแนะนำเป็นระยะๆ
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
- แม่ท้องต้องสังเกตด้วยว่ามีอาการท้องแข็งหรือเจ็บท้องก่อนกำหนดหรือไม่ ถ้ามีอาการดังกล่าว ต้องรีบมาพบคุณหมอ
โรคอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้จากการฉีดวัคซีน แต่ถ้ากำลังตั้งครรภ์อยู่ ไม่ควรฉีดวัคซีนนะคะ เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อลูกในท้องได้ หากกำลังวางแผนจะตั้งครรภ์ควรฉีดวัคซีนอีสุกอีใสก่อนตั้งครรภ์ 1-3 เดือน และการหลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสกับคนที่กำลังเป็นโรคอีสุกอีใสก็เป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลเหมือนกันค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: พญ.ธิศรา วีรสมัย สูตินรีแพทย์ และหัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 1