15 ปฏิบัติการส่งเสริมการกินของลูก
ถ้าคุณแม่คนไหนอยากให้ลูกกินกี ลองมาเริ่มต้นด้วย 15 หลักการการสอนลูกกินข้าว การส่งเสริมการกินอาหารเด็กที่รับรองเลยว่าถ้าทำได้จะกลายเป็นนิสัยการกินที่ดี และช่วยให้สุขภาพดีได้ 100% ค่ะ
-
-
- ฝึกให้กินอาหารสามมื้อเหมือนผู้ใหญ่ โดยให้ร่วมโต๊ะพร้อมทุกคนในบ้าน และต้องเป็นแบบ อย่างที่ดีในการรับประทานให้ลูกเห็น อย่าเลือกหรือแสดงอาการไม่ชอบอาหารต่อหน้าลูกเชียวค่ะ
- อาหารที่เตรียมสำหรับเจ้าตัวเล็กใน 1 วัน ควรมีให้ครบทั้งห้าหมู่ แต่ก็ไม่ถึงกับต้องเคร่งครัดว่าใน 1 มื้อต้องมีให้ครบทั้ง 5 หมู่หรอกนะคะ ใช้วิธีประเมินรวมๆ ใน 1 วันละกัน
- ลักษณะอาหารที่เตรียมให้ลูกต้องไม่แข็งหรือเหนียวเกินไป แต่ไม่จำเป็นต้องสับเสียจนละเอียด เดี๋ยวเจ้าตัวเล็กจะไม่ได้ฝึกลับคมเขี้ยวเคี้ยวอาหาร กลายเป็นเด็กกินอาหารยากในอนาคตขึ้นมาจะยุ่งกันใหญ่
- ช่วงที่เริ่มกินอาหารเหมือนผู้ใหญ่ได้บ้างแล้ว ต้องหัดให้กินอาหารแปลกใหม่ที่ยังไม่เคยกิน โดยเริ่มให้ทีละอย่าง ครั้งละน้อยๆ ก่อน และหากเจ้าตัวเล็กปฏิเสธอย่าเพิ่งถอดใจ ให้หยุดไปสัก 1 สัปดาห์ แล้วลองใหม่แต่หนนี้ต้องปรับกรรมวิธีการปรุงสักหน่อย ครั้งก่อนผัดครั้งนี้เปลี่ยนเป็นทอดลูกอาจจะสนขึ้นมาบ้างก็ได้
- เรื่องชอบหรือไม่ชอบอาหารของหนูวัยเตาะแตะยังไม่แน่นอนค่ะ ฉะนั้นควรปรุงอาหารชนิดที่หนูไม่เคยชินให้บ่อยขึ้น โดยคุณแม่ต้องหมั่นปรับเปลี่ยนวิธีปรุง เพื่อให้ลูกสนใจและอยากลองรับประทาน อีกทั้งคุณแม่เองก็จะได้ไม่เบื่อกับการทำอะไรซ้ำๆ ด้วย
- อย่าให้ขนมหวาน ของกินเล่นจุบจิบช่วงใกล้มื้ออาหาร เพราะเจ้าตัวเล็กจะหม่ำมื้อหลักได้น้อยลง ถ้าลูกหิวช่วงไม่ห่างจากมื้อหลักมากนัก มื้อนี้คุณแม่อาจเริ่มเร็วสักหน่อยหรืออาจให้ผลไม้ลูกไปก่อนก็ได้ค่ะ
- เด็กๆ เขาไม่ได้ต้องการอาหารมากอย่างที่คุณแม่คิดหรอกนะคะ แล้วแต่ละคนก็ต้องการอาหารมากน้อยไม่เท่ากัน ฉะนั้นอย่าไปคะยั้นคะยอให้ลูกกินเยอะๆ เพื่อความสบายใจของตัวเองหรือเพื่อให้ลูกเทียมหน้าลูกคนอื่น
- อะไรที่จะเบี่ยงเบนความสนใจลูกไปจากอาหารตรงหน้าต้องตัดออกให้หมด ไม่ว่าจะ โทรทัศน์ ขนมหวานหรือของเล่น
- อาหารที่มีสีสัน หน้าตาแปลกตาจะช่วยทำให้ลูกตื่นเต้นและสนใจในการหม่ำมื้อนั้นมากขึ้น เช่นเดียวกับรสชาติและรูปแบบอาหารที่ไม่ซ้ำซากด้วย
- ระบบรางวัลล่อใจเพื่อต่อรองให้ลูกหม่ำไม่ควรนำมาใช้ เพราะเท่ากับเรากำลังฝึกนิสัยการกินที่ไม่ดีให้ลูก ครั้งหน้าถ้าไม่มีรางวัลจ้างให้ลูกก็ไม่สนที่จะหม่ำหรอก
- ไม่ควรให้ลูกหม่ำถ้าลูกยังดูเหนื่อยจากการเล่นอยู่
- ให้เวลาในการหม่ำกับลูกมากหน่อย อย่าเร่งรัดมากเกินไป ถ้าเห็นท่าว่าลูกจะเล่นอาหารมากกว่ากินก็ควรเก็บสำรับไป เป็นการหัดให้ลูกรู้จักเวลา และปรับตัวกับเรื่องการรับประทานอาหารเป็นมื้อต่อไป
- ให้สิทธิในการเลือกรับประทานอาหารบนโต๊ะได้ตามใจชอบ และปล่อยให้ลูกได้ใช้มือหยิบหรือใช้ช้อนตักอาหารด้วยตัวเอง อย่าพะวงกับเรื่องเลอะเทอะและคอยช่วยเหลือตามป้อนลูก แค่คอยดู ช่วยเหลือเมื่อเห็นว่าลูกต้องการก็พอ
- พอเจ้าตัวเล็กโตขึ้นมาหน่อย ควรให้ลูกมีส่วนช่วยทำอาหารบ้าง แค่ได้จับได้ทำนิดๆ หน่อยๆ เท่านี้เจ้าหนูก็สนุกและเป็นปลื้ม นึกอยากหม่ำฝีมือตัวเองขึ้นมาแล้วล่ะ
- ถ้าลูกยังดูแข็งแรงร่าเริงดีก็อย่าเป็นกังวลจนเกินไป เมื่อลูกไม่รับประทานอาหาร แต่ให้นึกเสมอว่าเด็กทุกคนมีความอยากอาหารด้วยกันทั้งนั้น และคุณหนูที่ได้เล่นและพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะหม่ำอาหารได้ดีขึ้นเป็นกองเลยล่ะค่ะ