ภาวะมีบุตรยากเกิดขึ้นได้ทั้งฝ่ายชายและหญิง เรามาดูกันว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ตรวจรักษาอย่างไรเพื่อให้สามารถมีลูกได้ง่ายขึ้น
ครอบครัวไหนที่เพศสัมพันธ์เป็นปกติ และไม่มีการใช้การคุมกำเนิดใดๆ มา 1 ปี ขึ้นไป แต่ยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเลย นั้นคือการเข้าสู่ภาวะการมีบุตรยาก หรือ ภาวะการมีลูกยาก (Infertility) แล้วค่ะ
การปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ตัวผู้ กับ ไข่ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ตัวเมียจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ เชื้ออสุจิต้องแข็งแรง จำนวนมากพอและเคลื่อนไหวได้ดี ภรรยาต้องมีไข่ซึ่งเกิดจากรังไข่ที่ทำงานได้ อย่างสมบูรณ์ทั้งก่อนและหลังไข่ตก การตกไข่ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเชื้ออสุจิจะพบกับไข่ที่ท่อนำไข่ ซึ่งต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมไม่เป็นพิษ
ตัวอ่อนที่ได้จากการผสมจะเดินทางในท่อนำไข่เข้าไปยังโพรงมดลูก ซึ่งในระหว่างทางจะแบ่งตัวและเติบโต ใช้เวลาเดินทางในท่อนำไข่ 5-7 วัน ก็ถึงโพรงมดลูกสักระยะหนึ่งและฝังตัวในราววันที่ 7-9 นับแต่วันที่ปฏิสนธิ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ มูกปากมดลูก ซึ่งต้องมีคุณภาพดี และปริมาณพอเหมาะปากมดลูกโพรงมดลูก และท่อนำไข่ ไม่มีพยาธิสภาพที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการ เดินทางของตัวอ่อน เช่นเดียวกับสภาพภายในมดลูกต้องไม่มีเนื้องอก เยื่อบุโพรงมดลูกต้องสมบูรณ์แข็งแรง และต้องหนาพอที่จะรองรับการฝังตัวและเจริญเติบ โตของตัวอ่อนได้
สาเหตุจากฝ่ายชายเท่าที่มีรายงาน ภาวะมีลูกยาก จะพบประมาณร้อยละ 20-30 ซึ่งสามารถพิสูจน์ทราบได้โดยการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ เป็นการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ธรรมดา หรือ อาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยตรวจหา กรณีที่ผลออกมาผิดปกติ กรรมวิธีการรักษาจะข้ามขั้นตอนไปทำ "อิ๊กซี่" หรือ "เด็กหลอดแก้ว" จึงไม่เป็นปัญหาอีกแล้ว
สาเหตุจากฝ่ายหญิงพบได้ประมาณร้อยละ 40-50 การทำงานของ ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด การติดเชื้อความผิดปกติของระบบฮอร์โมนทำให้ไม่มีการตกไข่ ผนังมดลูกเจริญเติบโตไม่ดี พบท่อรังไข่อุดตัน พังผืด หรือเนื้องอกในมดลูก เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการตรวจคุณสมบัติของมูกปากมดลูก เช่นตรวจ ความเป็นกรด-ด่าง การทดสอบหลังมีเพศสัมพันธ์ ตรวจการตกผลึกเป็นรูปเฟิร์น และ การยืดตัวในช่วงไข่ตก รวมทั้งการเพาะเชื้อ เป็นต้น
ภาวะมีลูกยากที่หาสาเหตุไม่พบ หมายความว่าคู่สามีภรรยาที่มีลูกยากนั้น ได้ทดสอบทุกวิธีกระบวนการหาสาเหตุเท่าที่จะทำได้แล้ว ไม่พบความผิดปกติทั้งสองฝ่าย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสาเหตุจริงๆ บางทีต่อไปเมื่อมีเครื่องมือทดสอบที่ดีขึ้น ก็มีโอกาสค้นหาสาเหตุได้ 10 ปีผ่านมา อุบัติการนี้จะพบประมาณร้อย ละ 10-20 ปัจจุบันในบางสถาบัน อุบัติการได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก้าวไกลไปมาก และมีวิธีรักษาภาวะมีบุตรยากมากมาย ขึ้นอยู่กับอายุ ปัญหา สาเหตุของผู้มีบุตรยาก ซึ่งแพทย์จะร่วมกับคนไข้ในการค้นหาวิธีรักษา เช่น การรับประทานยาหรือฉีดกระตุ้นเพื่อให้มีการตกไข่ การฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI) เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF, ICSI) ในบางรายอาจจะต้องมีการผ่าตัด เช่น ซีสต์ เนื้องอก เลาะพังผืด แก้ไขท่อนำไข่ตัน หรือแม้แต่การผ่าตัดแก้หมัน เป็นต้น
บทความโดย
ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ