อาจเคยมีคนบอกคุณแม่ให้นมว่าเวลาน้ำนมไม่ไหล น้ำนมน้อย ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำยังไงให้น้ำนมไหล ดูแลตัวเองยังไง แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังทำให้การให้นมแม่ไม่สำเร็จสักที มาดูคำแนะนำจากคุณหมอกันค่ะ เผื่อจะนำไปปรับใช้ได้
1. เทคนิคให้นมเจ้าตัวเล็ก
- ก่อนและหลังให้นมลูกทุกครั้ง คุณแม่จะต้องเช็ดหรือล้างบริเวณหัวนมและรอบ ๆ ให้สะอาดด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือแล้วเช็ดให้แห้ง จึงให้ลูกดูดนมสลับไปในแต่ละข้างจนอิ่ม ช่วงแรกให้ดูดกระตุ้น 15 - 20 นาทีทั้งสองข้าง (เมื่อน้ำนมมากพอต่อไปดูดทีละข้าง)
- ศีรษะลูกจะต้องอยู่สูงกว่าลำตัวเสมอ
- คอยสังเกตว่าส่วนของเต้านมไม่เบียดจมูกทารกขณะดูด
- เมื่อลูกดูดนมจนอิ่มให้อุ้มลูกพาดบ่าจนลูกเรอลมออกจากกระเพาะอาหารจึงเปลี่ยนท่าอุ้ม
- ช่วงแรกควรงดให้ขวด เพราะเด็กอาจจะปฏิเสธนมแม่
- คุณแม่สามารถปั๊มน้ำนมตนเองใส่ขวดนมที่สะอาดและเก็บไว้ในตู้เย็น แต่ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง หากลูกดูดนมจากขวดจนอิ่มแล้วน้ำนมเหลือไม่ควรเก็บไว้เพราะนมจะบูดและเสียโดยง่าย แล้วดูดเสร็จถ้ามีนมเหลือควรบีบหรือปั๊มใส่ขวดเก็บใส่ตู้เย็น
2. วิธีดูแลเต้านมคุณแม่
- ใส่เสื้อชั้นในแบบพยุงเต้านม
- ทำความสะอาดหัวนมด้วยน้ำสะอาด
- ใช้สบู่ฟอกได้ แต่ไม่ควรบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้แห้งแตก
3.ความต้องการพลังงานของแม่ขณะให้นม
คุณแม่ที่ให้นมจะต้องใช้พลังงานสูงในการผลิตน้ำนม โดยใช้พลังงานประมาณ 85 แคลอรี่ในการผลิตน้ำนม 100 ซีซี ซึ่งปริมาณน้ำนมแม่ในแต่ละช่วงจะแตกต่างกันออก
ช่วง 6 เดือนแรกจะอยู่ที่ 700 - 850 มล./วัน
ช่วง 6 - 12 เดือน 600 มล./วัน และ
ช่วง 12 - 24 เดือน 550 มล./วัน
ดังนั้นคุณแม่ที่ให้นมจึงต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นวันละ 500 แคลอรี่ โดยเฉพาะโปรตีนมีความสำคัญมากในการผลิตน้ำนม บำรุงและซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ของคุณแม่ จึงควรได้รับโปรตีนเพิ่มวันละ 25 กรัม
4. อาหารช่วยเพิ่มน้ำนมแม่
- หัวปลี มีธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงเลือดและเพิ่มน้ำนม
- กะเพรา มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยขับลม แก้ท้องอืด เพิ่มน้ำนม
- กุยช่าย มีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม ช่วยเพิ่มน้ำนม ลดการอักเสบ ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย
- ขิง มีสารจินจิเบน ช่วยย่อยอาหาร ย่อยไขมัน เพิ่มน้ำนม ขับลม แก้คลื่นไส้อาเจียน
- เม็ดขนุน มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยเพิ่มน้ำนม
การให้นมลูกไม่เพียงแต่มีประโยชน์ในด้านสารอาหารที่ลูกได้รับ แต่การอุ้มลูกขึ้นดูดนมช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทุกส่วนของลูก ทำให้สมองได้รับสัญญาณประสาทสม่ำเสมอ เกิดการแตกแขนงของเซลล์ประสาท ช่วยให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้นอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.คัคณางค์ มิ่งมิตรพัฒนะกุล สูตินรีแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ
ศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 0 2310 3005, 0 2755 1005 หรือ โทร. 1719