ฟันซี่แรกถึงไม่ใช่ฟันแท้แต่พ่อแม่ก็ต้องดูแล เพราะถ้าปล่อยให้ฟันน้ำนมของลูกผุ จะส่งผลต่อรากฟันและสุขภาพฟันของลูกในระยะยาวได้เลย
ข้อมูลจากกรมอนามัยพบว่า มีเด็กไทยกว่าครึ่งประเทศที่มีปัญหาฟันน้ำนมผุ เนื่องจากพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าฟันซี่แรกของลูกหรือฟันน้ำนมเดี๋ยวก็หลุดไป จึงขาดการเอาใจใส่ดูแล และจะเริ่มดูแลเมื่อฟันแท้ขึ้น
แต่ความจริงแล้ว เมื่อฟันน้ำนมผุอาจบานปลายไปถึงการเป็นหนองที่ปลายรากฟัน ส่งผลให้ต้องรักษาด้วยวิธีการที่ซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นพ่อแม่ควรเริ่มดูแลฟันของลูกตั้งแต่ซี่แรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในระยะยาว โดยการใช้แปรงสีฟันที่มีขนาดเล็กและมีขนแปรงที่นุ่มเป็นพิเศษ ควบคู่กับยาสีฟันที่เหมาะสำหรับเด็กทารก
การให้ทารกแรกเกิดกินนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน จะทำให้เกิดฝ้าขาวในปากน้อยกว่านมขวด ส่วนวิธีทำความสะอาดช่องปากเด็กที่ฟันยังไม่ขึ้นสามารถทำได้ดังนี้
1. ใช้ผ้าสะอาดพันที่บริเวณปลายนิ้วมือ เช็ดบริเวณเหงือกและฟันของลูกให้ทั่วช่องปาก
2. สำหรับเด็กที่กินนมผงหรือนมกล่องไม่ควรปล่อยให้ลูกหลับคาขวดนม
3. เมื่อลูกโตขึ้นควรเลือกแปรงสีฟันและยาสีฟันที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ควรใช้ยาสีฟันในปริมาณเล็กน้อย หรือตามที่ฉลากข้างกล่องแนะนำแปรงฟันเป็นแนวนอน เมื่อแปรงเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดคราบยาสีฟันออกให้หมด
สำหรับเด็กวัย 0-3 ปี พ่อแม่ควรเป็นผู้ทำความสะอาดช่องปากให้ลูก เมื่อลูกอายุ 3 ปีขึ้นไป ควรให้เขาหักแปรงฟันเองโดยพ่อแม่เป็นผู้ตรวจความสะอาดซ้ำ จนถึงอายุประมาณ 8-9 ปี หรือลูกสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ผูกโบว์หรือเชือกรองเท้าเป็น ติดกระดุมเป็น ก็สามารถสอนวิธีดูแลรักษาฟันที่ถูกต้องให้กับลูกได้
หากพบว่าลูกแปรงฟันไม่สะอาดพ่อแม่ต้องแปรงซ้ำให้สะอาดอีกครั้งค่ะ ควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดระหว่างซอกฟันให้ลูกทุกวัน เพื่อลดการตกค้างของเศษอาหารในซอกฟัน และควรแนะนำลูกว่าอย่ากินอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป เช่น ขนมขบเคี้ยว ลูกอม ลูกกวาด น้ำหวานหรือน้ำอัดลม เพราะหากมีน้ำตาลตกค้างที่บริเวณฟัน น้ำตาลจะแปรสภาพเป็นแบคทีเรีย และกัดกินเนื้อฟัน ส่งผลให้เกิดอาการฟันผุ
ที่มา : กรมอนามัย