พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกมีอนาคตที่ดีค่ะ การศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่พร้อมลุยเต็มที่เพื่อพาลูกไปให้ถึงฝั่งฝัน(ของพ่อแม่) แต่การสอบเข้าโรงเรียนดี โรงเรียนดังลามลงไปถึงเด็กอนุบาลซึ่งยังอยู่ในวัยเรียนรู้ผ่านการเล่น วัยที่ยังคงต้องได้ลอง ได้ค้นหาและพัฒนาทักษะของตัวเอง แต่ด้วยมายาคติที่ว่า เด็กเก่งคือเด็กที่ต้องเข้าเรียนโรงเรียนดัง สอบได้อันดับต้นๆ ทำให้พ่อแม่หลายคนขโมยวัยเด็กไปจากลูกอนุบาลด้วยการพาไปเรียนพิเศษ ติวเข้ม ติวหนังสือเพื่อสอบเข้าป.1 ให้ได้ (ทั้งที่เด็กบางคนยังไม่พร้อมแม้แต่จะจับดินสอให้ถูกต้อง)
กระแสการสอบเข้าป. 1 ที่สร้างความเครียด กดดัน ผิดหวังและเสียใจให้ลูกของเราโดยที่พ่อแม่บางคนอาจจะไม่รู้ตัว ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร
อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจไว้เตือนคุณพ่อคุณแม่เรื่องการสอบเข้าป.1 ไว้อย่างน่าสนใจค่ะ
ข้อความต่อไปนี้ได้รับอนุญาตในการเผยแพร่แล้วเรียบร้อย
การสอบเข้า ป. 1 เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก หรือไม่ โปรดช่วยกันพิจารณาค่ะ
สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก 4 ข้อ
- สิทธิที่จะได้รับการดูแลพื้นฐานให้อยู่รอด ปลอดภัย ให้ที่อยู่เลี้ยงดู ให้ทักษะชีวิตที่ถูกต้อง
- สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง คือพ้นจากการทำร้ายร่างกาย จิตใจ หรือนำไปหาผลประโยชน์
- สิทธิในการได้รับการพัฒนา ตั้งแต่ครอบครัวอบอุ่น การศึกษา การโภชนาการ
- สิทธิในการมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจ แสดงความรู้สึก มีคนฟังเสียง
ส่วนตัวคิดว่า สิทธิข้อ 3 และ 4 ถูกละเมิดตั้งแต่เด็กเดินเข้าสู่ระบบการศึกษา หากระบบเรายังเป็นแพ้คัดออก เด็กก็ไม่มีทางได้พัฒนาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตามเป้าของ พรบ. การศึกษา เด็กชนะ ก็ไม่ได้พัฒนาเรื่องอื่นนอกจากเรื่องเรียน เพราะพ่อแม่ และ ค่านิยมสังคมผลักให้เด็กมี จิตใจจดจ่ออยู่แต่เรื่องเรียนตัวเอง เร่งติว เร่งฝึก ส่วนเด็กแพ้ ก็แพ้ทั้งการเรียนและจิตใจ มองตัวเองไม่มีความสามารถ ไม่มีหนทาง และสงสัยในความรักที่พ่อแม่มีให้
เมื่อการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตัวเองมันเป็นเรื่องยาก การทำลายชื่อเสียง ความสามารถของผู้อื่นจึงง่ายกว่า เพียงเพื่อให้ตัวเองมีที่ยืนในสังคม เด็กสุ้ม หวงวิชาการ ชอบแข่งขัน ก้าวร้าว จัดการอารมณ์ตัวเองไม่เป็น เห็นอกเห็นใจผู้อื่นไม่ได้ จึงมีมากขึ้นๆ
ยิ่งเรื่องการมีส่วนร่วมในห้องเรียน แทบไม่ต้องพูดถึงเลยค่ะ ระบบแพ้คัดออก ทำให้เกิดการเร่งเรียน เขียน อ่าน ไม่ตรงตามพัฒนาการเด็ก ครูเร่งสอนเนื้อหาความรู้ เด็กมีหน้าที่จำๆๆ เพื่อเอาไปสอบอย่างเดียว ไม่ต้องออกความคิดเห็น โตมาจึงคิดไม่เป็น เรียนรู้ไม่เป็น ตั้งเป้าหมายชีวิตไม่เป็น และมีความสุขด้วยตัวเองไม่เป็น
ที่สำคัญ คือ การมองว่าระบบการศึกษา และวิธีการสอนแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา ก็ถือเป็นการปล่อยปละละเลย จนนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิข้อ 1 และ ข้อ 2 เมื่อครอบครัว ทั้งพ่อแม่ และลูกเริ่มเครียดกับการศึกษาลูก พ่อแม่ต้องหาเงินเพื่อให้ลูกติว ทั้งที่ช่วงวัยเด็กนี้ ควรจะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับพ่อแม่ และแทนที่จะฝึกทักษะชีวิตที่จำเป็น เช่น เรียนรู้จักความรู้สึกนึกคิดของตนเอง หน้าที่รับผิดชอบของตนเองทั้งในบ้าน นอกบ้าน เรียนรู้จักอยู่รวมกับผู้อื่น กลับต้องฝึกเรื่องวิชาการ
ที่จริงแล้ว เรื่องสิทธิเด็กขั้นพื้นฐานนี้ ถูกสอดแทรกจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับปรัชญาการศึกษาปฐมวัย และวิชาชีพครู การตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเด็ก ถูกให้ความสำคัญมากกว่า ความสามารถในการเขียนแผนการสอนซะอีก หลักการง่ายๆ เลยคือ แค่ครูไม่ละเมิดสิทธิเด็ก เด็กก็ได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาความคิดและจิตใจแล้ว ถ้าบวกการวางแผนการเรียนการสอนที่ปราณีต เด็กทุกคนจะได้รับการพัฒนารอบด้านอย่างเต็มศักยภาพแท้จริงค่ะ
หากเด็กโตมาไม่รู้สิทธิตัวเอง จะรักษาสิทธิ์ตัวเอง และไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นได้อย่างไร
เด็กโตมาด้วยการติว การสอบเรื่องเรียนตัวเอง โตมาจะถามหาจิตสาธารณะจากเค้าได้อย่างไร ฉันใด ก็ฉันนั้น เพราะเป็นกฎธรรมชาติของสมอง จิตใจ และพฤติกรรม
ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร
อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาการมนุษย์
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล