Q : ลูก สาวอายุ 3 ปี เป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรต้องเอาให้ได้ ถ้าไม่ได้จะร้องกลั้นเหมือนกับไม่หายใจ บางทีปากเขียวเลย แต่พอได้ของที่อยากได้ เบื่อก็โยนทิ้ง แล้วจะเอาของใหม่ถ้าไม่ซื้อให้ ก็จะทำอย่างนี้อีก ทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็ร้องเป็นประจำ จนทุกวันนี้ก็ไม่มีเพื่อนเล่น ดิฉันกลุ้มใจมาก บางครั้งก็โมโห ไม่รู้จะทำอย่างไรกับลูกคนนี้ดี - คุณแม่สมใจ
A : ลูกใช้การร้องไห้เป็นวิธีการสื่อสารและเป็นอาวุธ คือ เมื่อเขารู้สึกโกรธ ไม่พอใจ หรือต้องการอะไร แทนที่จะใช้คำพูดบอกความต้องการ ก็จะใช้การร้องไห้สื่อให้คนอื่นรู้ และยังใช้เป็นเครื่องมือที่จะบีบบังคับและควบคุมผู้อื่นให้ยอมทำตามความต้องการของเขา เพราะฉะนั้นเป็นความเคยชินซึ่งส่งผลเสียในระยะยาวหลายอย่างอย่างที่คุณแม่กำลังประสบอยู่
การที่ลูกคุณร้องไห้รุนแรง และมีการกลั้นหายใจจนปากเขียว เราเรียกว่า "ร้องดั้น" (BREATH HOLDING SPELL) เมื่อเด็กร้องไห้เนื่องจากโกรธ ถูกขัดใจ หรือเพราะเจ็บปวด เด็กจะร้องรุนแรงมาก จนในช่วงที่หายใจออกนั้น เด็กจะร้องกลั้นและหยุดหายใจไปชั่วครู่จนตัวเขียวและนิ่งหมดสติไป ซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ 10-20 วินาที ในช่วงนั้นเด็กบางคนจะมีอาการเกร็ง กระตุกเล็กน้อยคล้ายมีอาการชัก ทำให้คนในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ตกใจวุ่นวายกันไปทั้งบ้าน โดยแท้จริงแล้วอาการร้องดั้นนี้จะเป็นอยู่เพียงชั่วครู่เท่านั้น โดยที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อสมองและสุขภาพของเด็กทั้งสิ้น แล้วเด็กจะค่อยๆ กลับมาหายใจและตัวแดงขึ้น รู้สึกตัวอีกโดยไม่ต้องทำอะไรเลย
การแก้ไขลูกร้องเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
ส่วนใหญ่แล้วการแก้ไขไม่ได้ผลก็เนื่องจากว่าคุณพ่อคุณแม่จะคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ โกรธเสียก่อน หรือยอมเพื่อตัดความรำคาญ หรือในบางครั้งมีญาติผู้ใหญ่อยู่ด้วยในบ้านก็จะให้ยอม เพราะทนฟังเสียงเด็กร้องไม่ได้ หากทุกครั้งที่เขาร้อง แล้วเราสงบ ซึ่งในปกติเขาจะร้องไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็จะเหนื่อยแล้วจะหยุดไปเอง อาวุธของเขาก็จะใช้ไม่ได้ผล แต่ในการแก้ไขครั้งแรกๆ เขาอาจจะร้องนานเป็นชั่วโมง เพราะเขาเคยรับรู้ว่าเมื่อร้องแล้วได้ผล เพราะฉะนั้นเขาจะสู้เต็มที่ แต่หากเราไม่ตอบสนองเขาและในขณะเดียวกันก็ไม่ไปโต้ตอบ หรือเย้าแหย่เขา เขาก็จะเรียนรู้ว่าการร้องของเขาเริ่มไม่ได้ผลก็จะเริ่มร้องน้อยลงๆ ซึ่งเราพบว่าในเด็กบางคนเมื่อใช้วิธีนี้ไม่กี่วันเขาก็จะเลิกใช้กลยุทธิ์การร้องดั้นนี้มาเป็นเครื่องต่อรองอีก
ที่สำคัญในการฝึกก็คือทุกคนในบ้านควรถือปฏิบัติเหมือนๆ กัน เพราะถ้าบางคนในบ้าน เช่น ปู่ ย่า ตา ยายหรือพี่เลี้ยง ยังยอมทำตามเมื่อเด็กมีอาการ เขาก็ยังคงใช้การร้องต่อไปอีกนาน ผู้ใหญ่ควรตกลงกันก่อนว่าจะใช้วิธีนี้ และเมื่อเด็กหยุดร้องแล้วเราก็ยังคงไม่ให้สิ่งที่เขาต้องการเหมือนกัน ซึ่งหากเขาวิ่งเข้ามาหา มากอดเรา เราควรกอดตอบ เช็ดหน้า เช็ดเหงื่อให้เขา หาน้ำให้เขาดื่ม และสอนเขาสั้นๆ ว่าให้เขารู้จักใช้วิธีการบอกว่าต้องการอะไร และต้องฟังเหตุผลของผู้ใหญ่ด้วย แต่ถ้าเขายังใช้การร้องเช่นนี้อยู่ พ่อแม่ก็จะไม่ยอมรับและก็จะไม่ให้ในสิ่งที่เขาต้องการด้วย
ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ หัวหน้าหน่วยจิตเวช ภาควิชากุมาร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล