PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่เกิดจากการก่อสร้าง การเผาเชื้อเพลิง เผาขยะในที่โล่ง การผลิตไฟฟ้า ควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือแม้แต่จากที่อยู่อาศัยของเราทุกวันนี้ก็ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ได้เช่นกัน
หากเปรียบเทียบขนาดแล้วเจ้าใน PM 2.5 นั้นเล็กประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมคนเรา มันสามารถผ่านขนจมูก ขี้มูก โพรงจมูก คอ หลอดลม และกระจายสู่อวัยวะอื่นในทางเดินหายใจได้ ซึ่งถ้า PM 2.5 เป็นแค่ฝุ่นละอองธรรมดาอย่างมากก็ทำให้คนเรารู้สึกระคายเคือง และเป็นหวัดเล็กน้อยเท่านั้น แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ เมื่อฝุ่นละอองปนเปื้อนสารเคมี (ซึ่งไม่น่ารอด) สารเคมีเหล่านั้นจะผ่านรูจมูก ที่แม้แต่ขนจมูกหรือขี้มูกก็เอาไม่อยู่ และเมื่อมันผ่านเข้าสู่กระแสเลือดแล้วย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายคนเราแน่นอน
สารเคมีอันตรายที่แฝงอยู่ใน PM 2.5
P-A-Hs สารพิษชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของท่อไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ การเผาในที่โล่งแจ้ง ไปจนถึงควันบุหรี่
ปรอท เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันและถ่านหิน ระเหยเป็นไอ เป็นสารตกค้างยาวนานและฟุ้งกระจายได้ไกล จะเข้าไปทำลายระบบประสาท เป็นอัมพาต มะเร็ง ไปจนถึงความผิดปกติทางพันธุกรรม
สารหนู เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยาฆ่าแมลง ส่งผลให้เกิดโรคผิวหนัง มึนชา อยากอาเจียน และมีผลต่อระบบประสาท
แคดเมียม เป็นโลหะหนักที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เหมืองแร่สังกะสี ทองแดง ตะกั่ว จะเข้าไปทำลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งผิวหนัง ปอด ทางเดินอาหาร และกระดูก
คำแนะนำสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง
- หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน
- ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการทรุดลง
- หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก ถ้าอยู่ในที่ที่มีฝุ่นหนาแน่นให้ใช้หน้ากากกรองฝุ่นหรือหาผ้าเปียกมาปิดจมูก
คำแนะนำส่วนประชาชนทั่วไป
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและทำงานหนักที่ออกแรงมาก เพราะการหายใจเร็วในระหว่างการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายรับฝุ่นละอองเข้าไปมาก
- ดื่มน้ำมากๆ และไม่สูบบุหรี่ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก
- ลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ และลดการใช้รถยนต์หรือใช้เท่าที่จำเป็น
อ้างอิง :
themomentum.co
pptvhd36.com