กล้ามเนื้อใหญ่ที่ทรงพลังทำให้เราจำเป็นต้องวางกติกา มิเช่นนั้นเด็กจะอยู่ในสังคมไม่ได้ เมื่อวางกติกาลงไปแล้วเราเองที่ต้องเอาจริงไปจนถึงเข้มงวดเพราะเด็กจะทดสอบพลังของกล้ามเนื้อของตัวเองตลอดเวลา ทดสอบกฎ กติกา มารยาท นั่นคือทดสอบพ่อและแม่ว่าแน่จริงหรือเปล่า เอาจริงเพียงใดหรือว่าที่แท้แล้วเหยาะแหยะ ไปจนถึงมักจะรักษาหน้าตาของตัวเองมากกว่าที่เข้มงวดกับเรื่องที่ต้องเข้มงวด
เรื่องที่ต้องเข้มงวดมี 3 ข้อคือ ห้ามทำร้ายตัวเอง ห้ามทำร้ายคนอื่น และห้ามทำลายข้าวของ กริยาสามอย่างนี้เราไม่อนุญาตให้มีครั้งที่สอง เมื่อพบครั้งหนึ่งต้องสั่งสอนและบอกกล่าวด้วยความจริงจังและไม่อนุญาตให้ทำได้อีก ความเข้มงวดที่กริยาสามประการนี้ไม่มากเกินไป
หากจะมีคำว่ามากเกินไปจึงเป็นการมีข้อห้ามที่มากเกินไป คือมีข้อที่ 4 ไปเรื่อยๆ จนถึงข้อที่ร้อยหรือหลายร้อย เด็กตื่นเช้ามาพร้อมข้อห้ามหลากหลายประการทั้งในบ้านและนอกบ้านจนเขาไม่สามารถขยับตัว ไม่สามารถพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ ไม่สามารถพัฒนาอะไรต่อไปได้โดยง่ายหรือด้วยความภาคภูมิใจและความมั่นใจ ในกรณีเช่นนี้เด็กจะไม่ดูคนอื่น ไม่เจ้ากี้เจ้าการคนอื่นเหมือนที่ถามมา แต่เด็กจะสงสัยตัวเอง แคลงใจในความสามารถของตัวเองไปจนถึงสงสัยความมีอยู่ของตนเอง
อิริคสันเรียกว่า Doubt ความสงสัย ไม่มั่นใจ และหากปล่อยให้เป็นมากขึ้นๆ จนถึงอายุประมาณ 4-6 ขวบซึ่งเด็กจะพัฒนากล้ามเนื้อเล็กคือกล้ามเนื้อนิ้วมือทั้งสิบซึ่งอยู่ไกลที่สุดจากศูนย์กลางของร่างกายเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างละเอียด (fine motor) เพื่อรังสรรค์สิ่งใหม่ (Initiation)แต่กลับทำไม่ได้
ความสงสัยแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกผิด (Guilt) ที่ตนเองทำอะไรแทบไม่ได้เลยเพราะถูกห้ามอยู่ตลอดเวลา
เด็กที่มั่นใจในตนเองมากจนกระทั่งสามารถก้าวล่วงไปสังเกตพฤติกรรมของเด็กคนอื่นและแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยย่อมไม่มีความสงสัยในตนเองหรือความรู้สึกผิด
ในทางตรงข้ามเขามีสิ่งที่เรียกว่าเซลฟ์เอสตีม(self-esteem) คือรักตัวเอง มั่นใจในตัวเองและภาคภูมิใจในตัวเองมากพอที่จะเดินเข้าโรงเรียนโดยไม่ร้องไห้ หอบเสื้อผ้าไปนอนกับตายายโดยไม่เกรงกลัว แสดงออกว่าไม่พอใจที่เพื่อนๆ ที่โรงเรียนไม่ทำตามกติกา
ทั้งนี้เพราะเขาทำได้ ได้ทำ และมี EF มากพอที่จะควบคุมตัวเองให้ทำได้ด้วย เหล่านี้เริ่มต้นที่แม่มีอยู่และเอาจริงในเรื่องที่ควรเอาจริง
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล
สวัสดีครับ ผมเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว ตอนนี้ลูกชายอายุ 9 ขวบ เขาเป็นคนรับผิดชอบมากจนบางทีผมรู้สึกว่ามากไป อะไรที่ไม่เป็นไปตามแผนจะโมโหโวยวาย บางทีพอทำอะไรไม่ทันเวลาก็จะพาลหยุดทำเอาดื้อๆ ไม่รู้เกิดจากอะไรครับ
ชีวิตของพวกเราพ่อแม่จะพบเรื่องที่อธิบายไม่ได้หรือไม่รู้ที่มาที่ไปได้อยู่เรื่อยๆ หากเราเดาก็จะผิด หากเราพาไปพบจิตแพทย์เด็กทุกเรื่องชีวิตก็น่าจะยุ่งมาก
ปัญหาที่เราพบมักเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง เป็นปลายเหตุ เป็นผลรวมของอะไรหลายๆ อย่างแล้วมาปรากฏอาการดังที่เห็น ครั้นพยายามย้อนไปดูว่าตัวเองเลี้ยงผิดตรงไหนก็จะไม่พบ
เรื่องจะง่ายกว่ามากหากเราจัดการรากฐานเสียใหม่ ต่อไปนี้คือคำแนะนำ 5 ข้อ
1.การเล่นเป็นการระบายของเสียในใจเสมอ อะไรที่มากไป ไม่ว่าจะเกิดจากอะไรสามารถระบายทิ้งไปด้วยการเล่น ความกลุ้มใจ กังวลใจ คับข้องใจ ความเครียด ความโกรธ ความกลัว เหล่านี้ระบายทิ้งไปด้วยการเล่นได้ทั้งนั้น การเล่นเท่ากับการเปิดฝาท่อน้ำเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นที่ดูจะสกปรกเล็กน้อย เราจึงแนะนำการเล่นดินเล่นทรายเป็นอย่างแรกเสมอ หากไม่รู้จะทำอะไรให้ลงไปเล่นดินเล่นทรายกับลูก
2.การถอยกลับไปที่ขวบปีแรกใหม่ เพื่อสร้างพ่อที่มีอยู่จริงเป็นเรื่องลองทำได้ ชวนเขาอ่านนิทานด้วยกัน ทำอาหารด้วยกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน เป็นเรื่องทำได้แม้ว่าจะ 9 ขวบแล้ว เขาตัวใหญ่เกินกว่าที่เราจะอุ้มกอดบอกรักแล้ว แต่เรายังนอนเล่นด้วยกัน กินเที่ยวด้วยกัน แล้วโอบไหล่เดินด้วยกันในที่สุด เมื่อพ่อมั่นคง อะไรๆจะดีเอง
3.การควบคุมตัวเองได้ไม่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมความคิด อารมณ์ หรือการกระทำ เหล่านี้คือ Executive Function (EF)ที่ยังไม่แข็งแรงพอ เราแนะนำให้ชวนทำงานบ้านด้วยกัน เพราะการทำงานคือการสร้าง EF ตรงๆ การทำงานเป็นเรื่องยาก ไม่สนุก และต้องการทักษะแก้ปัญหา หากเราชวนเขาทำงานเท่ากับชวนเขาบริหาร EF จะส่งผลให้การควบคุมอารมณ์ดีกว่าเดิม
4.เด็กที่มีความรับผิดชอบเป็นเรื่องดี ดีกว่าเด็กที่ไม่มีความรับผิดชอบ หากเขารับผิดชอบมากไป สมบูรณ์แบบมากไป เอาจริงเอาจังมากไป เราชี้ให้เห็นข้อดีของคุณลักษณะและนิสัยเหล่านี้ได้ว่าเป็นเรื่องดีและเราพอใจ เท่ากับส่งสัญญาณให้เขาทราบว่าเขาปกติดีและโอเค ก่อนที่จะบอกกล่าวทีหลังว่าจะปล่อยบางเรื่องผ่านไปบ้างก็ลองทำได้ กล่าวคือการแสดงความเข้าใจอารมณ์โกรธของเขาจะเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนที่จะทำอย่างอื่น และหลายครั้งขอเพียงรู้ว่าพ่อเข้าใจเขาก็มีทางถอยแล้ว
5.สำหรับเด็ก 9 ขวบ เข้าใกล้วัยทีนเต็มที คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวได้ทำหน้าที่มาอย่างดีที่สุดแล้ว นับจากวันพรุ่งนี้ถึงเวลาที่เราจะลดบทบาทของตนเองลงบ้าง จากพ่อเริ่มกลายเป็นเพื่อน ชวนคุย นั่งฟัง แล้วจึงร่วมคิด สำคัญที่สุดคือนั่งฟัง ฟังว่าเขารู้สึกอย่างไร เช่น รู้สึกอย่างไรเวลาผิดพลาด อย่าพยายามทายใจ ไม่ควรขัดบทสนทนา ไม่ควรซักถาม ไม่ควรแนะนำ ฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังเก่งๆ แล้วเขาจะหาทางออกได้เอง
การทำ 5 ข้อนี้ จะเท่ากับกวาดปัญหาใต้น้ำให้หมดไป และป้องกันปัญหาอื่นในอนาคตไปในตัว
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล
“กิน กอด เล่น เล่า” สร้างพัฒนาการเด็ก ให้ลูกเติบโตได้อย่างมีความสุข
การเลี้ยงเด็กสักคนไม่ยากค่ะ แต่จะเลี้ยงอย่างไรให้เขาเติบโตได้อย่างมีความสุข และพัฒนาการดีทุกด้าน พ่อแม่คือคนสำคัญที่จะอบรมบ่มเพาะ และเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีสุขภาพกาย ใจ และสติปัญญาที่สมบูรณ์ มีความสุขและสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ ด้วยแนวคิดต่อไปนี้ค่ะ
กิน กอด เล่น เล่า
ในช่วง 0 – 3 ปีแรก สมองเด็ก จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนถึงร้อยละ 80 ของสมองผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กจะได้เรียนรู้และมีพัฒนาการทั้งร่างกายและสมองแม่ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือนและต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีขึ้นไปเพราะนมแม่มีสารอาหารที่สำคัญสำหรับการพัฒนาสมอง รวมถึงเป็นกิจกรรมที่ทำให้แม่และเด็กใกล้ชิดโอบกอด สัมผัสกันและกัน ทำให้เกิดสายใยความรักความผูกพัน และยังทำให้เด็กมี IQ และ EQ ที่ดีในอนาคต
การอบรมเด็กต้องทำด้วยความรักความเข้าใจ และใช้เหตุผล ไม่ควรใช้อารมณ์ บังคับฝืนใจ และไม่ดุด่าให้ลูกกลัว และเสียกำลังใจพ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง คอยให้คำแนะนำพูดชมเชยเมื่อลูกทำได้ และให้รางวัลถ้าเขาทำได้ดีซึ่งรางวัลสำหรับเด็กเล็ก เพียงแค่กอดอย่างอ่อนโยนหอมแก้ม ตบมือให้ เท่านี้เด็กก็ภูมิใจมากแล้ว
พ่อแม่ควรพูดคุยเล่นส่งเสียงร้องเพลงกับเด็ก ช่วงแรกเกิดถึงอายุ 6 เดือนเลือกของเล่นที่มีเสียงและเป็นภาพ เลือกของที่เด็กคว้าจับได้ 6 เดือนถึง 1 ปีให้เด็กได้นั่งเล่นของเล่นเช่น บล็อกตัวต่อนิ่ม ลูกบอลเล็ก หรือปล่อยของลงพื้น อายุ 2-3 ปี ให้เด็กได้เล่นรูปต่อเป็นภาพหุ่นมือ ตุ๊กตาหรือกระโดด ปีนป่าย เพื่อทดสอบทักษะร่างกายของตัวเอง เมื่ออายุ 3-5 ปีปล่อยให้เด็กเล่นกับเด็กคนอื่น ใช้จินตนาการเกี่ยวกับการดำรงชีวิต
พ่อแม่สามารถเล่านิทานให้ลูกฟังได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือเมื่อเด็กอายุ 3 เดือนให้เริ่มเล่านิทานให้ฟังเป็นประจำทุกวันจนเด็กโตควรเลือกนิทานที่มีภาพน่ารัก รูปสัตว์ ใช้เสียงสูงๆ ต่ำๆ หรือร้องเพลงประกอบขณะเล่าทุกครั้งและควรเล่าให้จบเล่ม ที่สำคัญพ่อแม่ต้องเสริมการปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรม และลักษณะที่ดีอื่น ๆ ให้ลูกไปพร้อมกัน
ที่มา : กรมอนามัย
ทำไมลูกของดิฉันไม่เหมือนคนอื่น คนอื่นร้องไห้เวลาไปโรงเรียนแต่ลูกไม่เคยร้องไห้เลย ตอนที่ไปโรงเรียนเมื่อ 3 ขวบครึ่งร้องไห้ตามคนอื่นอยู่ครู่เดียวครั้งเดียว อีกอย่างเขามักแสดงออกว่าไม่ชอบเวลาเด็กคนอื่นไม่ทำตามกฎ แล้วก็เวลาทำอะไรก็จะขออนุญาต เป็นเพราะดิฉันเข้มงวดมากเกินไปหรือเปล่าคะ ดิฉันจะเข้มงวดเรื่องเวลากินข้าว เข้านอน แล้วก็การดูทีวี
นานๆ ครั้งหนึ่งจึงจะได้คำถามประเภทเด็กเชื่อฟังและไม่ค่อยจะสร้างปัญหาอะไร พอพบครั้งหนึ่งมักจะเป็นที่ฮือฮา ทำเหมือนว่าเป็นของหายากในบ้านเรา ทั้งที่เป็นเรื่องพบได้เป็นสามัญในหลายประเทศ
ที่เล่ามา วันนี้เขาอายุ 4 ขวบแล้ว จากงานวิจัยเราพบว่าความสามารถในการควบคุมตัวเอง (self control) อันเป็นส่วนหนึ่งของ EF (executive function) จะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนและสามารถวัดได้เป็นตัวเลขเมื่อประมาณ 4 ขวบ เรื่องที่เกิดขึ้นจึงเป็นธรรมดา เขามี EF ดี ควบคุมตัวเองได้
การไปโรงเรียนได้โดยไม่ยากมักเกิดจากความมั่นใจว่าแม่ที่บ้านมีอยู่จริง (exist) แม้ไม่เห็นก็ไม่สูญหาย จึงสามารถปล่อยมือแม่ผ่านเข้ารั้วโรงเรียนได้เพราะหากหันกลับไปก็เห็นหน้า ตอนที่อยู่ในบริเวณโรงเรียนแล้วหันกลับไปก็เห็นแน่ ทั้งที่ไม่ต้องหันคอไปจริงๆ ความมั่นใจนี้ได้มาจากแม่ที่เลี้ยงดูด้วยตนเองมากที่สุดเท่าที่ทำได้ และขึ้นกับพื้นฐานทางอารมณ์ (temperament) ของเด็กแต่ละคนด้วย
เด็กแต่ละคนยากง่ายต่างกัน หากเราพบเด็กเลี้ยงง่ายเป็นข่าวดี แต่หากพบเด็กเลี้ยงยากเราควร “ให้” ให้มากให้จนอิ่ม เขาจะง่ายขึ้นด้วยตนเองเพราะแม่ที่มีอยู่จริง รวมทั้งแม่และและสิ่งแวดล้อมที่ไว้ใจได้ (trust)
สมัยใหม่เราอธิบายเรื่องการควบคุมตัวเองให้ละจากสิ่งหนึ่งเพื่อไปสนใจอีกสิ่งหนึ่งด้วย EF ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า proto-EF ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเด็กจดจำใบหน้าแม่ได้ (face recognition) ทารกแรกเกิดไม่เพียงไม่รู้จักใบหน้าแม่แต่แม่ไม่มีแม้กระทั่งตัวให้จับต้อง
แต่แล้ววันหนึ่งเขาพบว่าแม่อยู่เคียงข้างตลอดเวลาและแม่มีเส้นสายบนใบหน้า คือวงกลมสองดวงเป็นตา รอยยิ้มเป็นปากและขีดตรงกลางเป็นใบหู นี่คือใบหน้าคน ก่อนที่จะพบว่าคือใบหน้าแม่ผู้เลี้ยงดู ผู้เลี้ยงดูจึงจะมีใบหน้าแม่ให้จดจำ ผู้คลอดอาจจะไม่ได้รับการจดจำเพราะไม่อยู่บ้าน
เด็กเหม่อมองโมบายล์ขณะนอนอยู่ในคลิปเพราะโมไบล์น่าสนใจ ครั้น “ใบหน้าแม่” เดินเข้ามาใกล้ ชะโงกหน้าลงมาดู เด็กจะยับยั้งปฏิกิริยาการดูโมไบล์(response inhibition) หันมาดูใบหน้าแม่ (shifting) ความสามารถที่จะหยุดการกระทำหนึ่งไปที่อีกการกระทำหนึ่งคือ proto-EF เป็นต้นแบบ (prototype) ของ EF
เราจึงมีข้อห้ามข้อหนึ่งคือไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบดูหน้าจอที่มีภาพเคลื่อนไหวรวดเร็ว แสงสีจัดจ้าน หรือการเปลี่ยนภาพแต่ละเฟรมด้วยความเร็ว เหตุเพราะสมองของเด็กสองขวบปีแรกพัฒนาทุกวัน และสมองของคนเราพัฒนาไปตามการกระทำ
หากเราให้เด็กก่อน 2 ขวบดูหน้าจอมากเกินไป หากโชคไม่ดีเขาพัฒนาความสามารถที่จะปฏิสัมพันธ์กับจอสี่เหลี่ยมแทนที่จะเป็นใบหน้าแม่ เราอาจจะได้เด็กไม่สบตาไม่พูด และไม่พัฒนา
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล
“คุณหมอคะ เห็นคุณหมอย้ำหลายครั้งเรื่องให้ลูกทำการบ้านก่อนออกไปเล่นหรือไปห้างหรือไปงานเลี้ยง เรื่องมันสำคัญขนาดนั้นเลยหรือคะ คือว่าดิฉันกับสามีเถียงกันเรื่องนี้เป็นประจำว่าจะอะไรกันนักกันหนา”
สามี-ภรรยา คือ พ่อ-แม่ ควรลงรอยและพูดตรงกัน นี่เป็นเรื่องแรก ผลัดกันยอมได้คือผลัดกันยอม
เลื่อนมาเรื่องที่สอง เราจะยินยอมให้ลูกได้เที่ยวเล่นสนุกสนานก่อนการทำงานหนักมากน้อยเพียงใด หากยอมครั้งที่ 1 จะมีครั้งที่ 2 มาหรือเปล่า และครั้งต่อๆ ไป
ลูกหลานบ้านอื่นไปงานปาร์ตี้กันหมดแล้ว ลูกของเรายังนั่งทำการบ้านอยู่แล้วค่อยได้ไปงานปาร์ตี้ เราควรยืนยันเรื่องการบ้านต้องเสร็จก่อนแล้วไปเที่ยวเล่นหรือไม่
ลองคิดแบบนี้ อนาคตลูกของเราจะพบเรื่องยั่วยวนอีกมาก(seduction) เรื่องยั่วยวนมากับความสนุกสนานเสมอ เรื่องยั่วยวนและสนุกสนานนั้นทำงานทั้ง 2 ทิศทาง ทิศทางหนึ่งคือล่อลวงให้เราเข้าสู่ความสนุกสนานก่อนที่จะทำงานที่ต้องรับผิดชอบให้เสร็จ อีกทิศทางหนึ่งคือล่อลวงให้เราลุ่มหลงโงหัวไม่ขึ้นแล้วไม่สามารถถอนตัวไปทำงานที่ต้องรับผิดชอบ
กลับเข้าบ้าน เล่นเกมก่อนการทำบ้าน เล่นเกมแล้วถอนตัวออกมาทำการบ้านไม่ได้ มากกว่านี้คือไร้ความสามารถจะหยุดเล่นเกมชั่วคราวเพื่อไปอ่านหนังสือสอบ เราอยากให้ลูกอยู่ในวงจรนี้?
หรือเราอยากให้ลูกทำงานก่อนไปเล่น ผมเรียกว่า “ลำบากก่อนสบายทีหลัง” และมีความสามารถลุกขึ้นกลางงานปาร์ตี้ใดๆ กลับบ้านไปนอนเพราะพรุ่งนี้เช้ายังมีงานสำคัญรออยู่ ผมเรียกว่า “ถอนตัวจากความสนุก”
สมัยก่อนเราคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นนิสัย เป็นจิตใจที่เข้มแข็ง เป็นความมุมานะบากบั่น ซึ่งถูกบางส่วน ปัจจุบันเราพบว่าความสามารถเหล่านี้มิใช่เรื่องนิสัย จิตใจ หรือความมุมานะบากบั่น
แต่เป็นเพราะเด็กคนหนึ่งมีวงจรประสาทที่จะตั้งใจจดจ่อ (focus) ต่อภารกิจ ไม่วอกแวกไปตามสิ่งเร้าหรือสิ่งยั่วยวนทั้งภายนอกและภายใน (distraction) รวมทั้งสามารถประวิงเวลาที่จะมีความสุขหรืออดเปรี้ยวไว้กินหวาน (delayed gratification)
ความสามารถทั้ง 3 ประการนี้เป็นเรื่องของเซลล์ประสาท เส้นประสาท จุดเชื่อมต่อประสาท วงจรประสาท และร่างแหของระบบประสาทที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในสมองตั้งแต่ช่วงวัย 4-7 ขวบโดยประมาณ
สามารถแสดงให้เห็นได้ในงานวิจัยเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้ว่าเด็กที่ถูก “ฝึก” มาดีกว่ามีสมาธิดีกว่า อดทนต่อสิ่งเร้ามากกว่า และอดเปรี้ยวไว้กินหวานนานกว่า
ช่วงอายุ 4-7 ขวบนั้นเป็นเวลาวิกฤต (critical period) ที่เราจำเป็นต้องฝึกให้เขาทำได้ หากทำไม่ได้วันนี้เขาอาจจะทำไม่ได้อีกเลยในวันข้างหน้า คือ neurons, axons, dendrites, synapses, neural circuits และ neural networks เด็กคนหนึ่งไม่สามารถเลิกยาบ้าได้ เพราะเขาไม่มีวงจรประสาทที่จะใช้เลิก
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล
คำพูดดีๆ จากใจพ่อแม่ช่วยเพิ่มพลังบวกให้กับลูกได้เป็นอย่างดี และนี่คือ 10 สุดยอดคำพูดสร้างพลังบวกให้ลูก จากพ่อแม่ ที่ลูกได้ยินเมื่อไหร่จะมีพลังบวก พร้อมแก้ปัญหา และทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันได้อย่างราบรื่น
1. พ่อกับแม่รักลูกนะ
พูดพร้อมกับมองหน้าลูก เพื่อถ่ายทอดความจริงใจส่งมอบพลังด้านบวกออกไป เพราะไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ความรักของพ่อแม่ก็จะอยู่กับลูกเสมอ เป็นพลังบวกให้ลูกสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
2. หนูเก่งมากเลย
คำสั้นๆ ที่ลูกได้ฟังแล้วหัวใจต้องพองโต เพราะคำชมจากพ่อแม่เป็นของขวัญล้ำค่าที่ลูกอยากได้ยิน และรู้สึกมีพลังที่สุด
3. สู้ๆ นะ พ่อกับแม่เป็นกำลังใจให้เสมอ
กำลังใจจากพ่อแม่ที่เติมให้ลูกไม่ขาดจะทำให้เขารู้สึกอยู่เสมอว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างเขา เมื่อจะต้องทำกิจกรรมต่างๆ ลูกก็จะรู้สึกฮึกเหิม มีพลังฮึด
4. ไม่เป็นไร เรามาพยายามกันใหม่นะ
เมื่อลูกพลาดหวังเสียใจไม่ควรตำหนิหรือลงโทษลูก พ่อแม่ควรให้กำลังใจแก่ลูก และการใช้คำว่า “เรา” ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาไม่ได้เผชิญความผิดหวังคนเดียว แต่พ่อแม่ยังรู้สึกร่วมไปกับเขาและพร้อมจะเริ่มต้นใหม่ด้วยกัน
5. พ่อกับแม่ภูมิใจในตัวลูกมากเลยนะ
คำพูดนี้อาจจะเป็นคำพูดธรรมดาสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่จริงๆ แล้วคำพูดนี้มีความหมายสำหรับลูกอย่างคาดไม่ถึง เพราะมันจะเป็นพลังบวกทั้งกายและใจให้ลูกได้อย่างน่ามหัศจรรย์เลยทีเดียว
6. พ่อกับแม่เชื่อมั่นว่าหนูต้องทำได้
ประโยคสั้นๆ แต่ได้ใจความ ทำให้ลูกมีพลังใจในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี
7. ลูกทำได้ดีมากจ้ะ ดีกว่าตอนที่พ่อกับแม่อายุเท่าหนูอีกนะ
คำชมง่ายๆ ที่อาจพูดเกินจริง แต่ก็สร้างพลังใจ และความภูมิใจให้ลูกได้ไม่น้อย
8. ถึงหนูจะผิดหวัง แต่พ่อกับแม่รู้ว่าหนูทำดีที่สุดแล้ว
คำปลอบใจที่สอนลูกรู้จักความผิดหวัง แต่ก็ไม่จมกับความทุกข์ ทั้งสร้างกำลังใจลูกมีแรงฮึดขึ้นสู้อีกครั้ง
9. พ่อกับแม่ “ขอโทษ” นะลูก
การขอโทษบางครั้งมันยากที่จะพูดออกไป อย่ามัวคิดว่า ไม่ขอโทษลูกก็ไม่เป็นไร เพราะคำขอโทษจากปากของพ่อแม่ ยังเป็นการสอนลูกในการยอมรับความผิดที่ได้ทำลงไปอีกด้วย
10. พ่อกับแม่ “ยอมรับ” ในสิ่งที่ลูกเป็น
พ่อแม่หลายคนอาจจะบังคับลูกให้เป็นในแบบนี้ แต่เชื่อเถอะ การให้ลูกเลือกในสิ่งที่ลูกอยากเป็น และยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นนั้น ลูกจะมีอนาคตที่ดีอย่างแน่นอน
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF"
ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG
10 วิธีสอนลูกโตไปไม่โกงและไม่เห็นแก่ตัว
การคดโกงเป็นพฤติกรรมที่สะท้อนความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว พฤติกรรมการโกงถือเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องปลูกฝังลูกเสียตั้งแต่วันนี้ค่ะ
10 วิธีสอนลูกให้โตไปไม่โกง
1. เข้าแถวต่อคิวให้ลูกเห็นการเข้าคิวเป็นมารยาทขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมี และถ้าไม่อยากให้ลูกโตไปเป็นคนขี้โกง ต้องไม่แซงคิวให้ลูกเห็น ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ก็ตาม
2. รักษากฎกติกาของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย รักษากฎจราจร หรือกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงาน องค์กร สถานที่ หรือแม้แต่กฎของโรงเรียน พ่อแม่ต้องสอนลูกให้เข้าใจและคอยอธิบายเหตุผลให้ลูกฟัง เช่น ทำไมเด็กนักเรียนต้องใส่ชุดนักเรียน ทำไมต้องแต่งกายสุภาพ ถูกระเบียบ เป็นต้น
3. ให้ลูกเล่นเป็นกลุ่มโดยเฉพาะเด็กเล็กตั้งแต่ 1-3 ปี ที่ยังไม่มีทักษะการเข้าสังคม การเปิดโอกาสให้เขาได้เล่นร่วมกับคนจะช่วยฝึกให้ลูกรู้จักแบ่งปัน อดทน รอคอย โดยการสลับกันเล่น ซึ่งต้องมีเด็กมากกว่า 1 คน ส่วนสถานที่อาจจะเป็นสนามเด็กเล่น สนามหน้าบ้าน หรือเล่นภายในบ้านก็ได้ค่ะ
4.สะท้อนอารมณ์ลูกเมื่อเขาเจอปัญหาลูกอาจมีโอกาสไม่ยินยอมพร้อมใจ เสียใจ หงุดหงิด หรือโดนเพื่อนแกล้งได้ หากได้เล่นกันเป็นกลุ่ม พ่อแม่ต้องคุยกับลูก ด้วยการสะท้อนอารมณ์ลูก เช่น หนูเสียใจใช่ไหมคะที่เพื่อนต้องเอาของของเขากลับคืนไป การบอกหรือสอนเขาตรงๆ แล้วสะท้อนอารมณ์กลับไปอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่รับรู้ถึงปัญหาของเขา และเราสามารถช่วยลูกแก้ปัญหาได้ เช่น หนูอย่าไปเอาของคนอื่นเลย หรือเอาของชิ้นอื่นไปแลกเปลี่ยนดีไหม หนูอยากให้พ่อแม่ช่วยอะไรไหม เป็นต้น
5.เมื่อลูกทำผิดต้องไม่ตำหนิติเตียนทั้งที่การเล่นนอกกติกา คดโกงคนอื่น เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่กรลงโทษด้วยการตี หรือตำหนิลูกอาจไม่ได้ผลเ่าที่ควรนัก เพราะฉะนั้นพ่อแม่อาจพูดถึงความรู้สึกของตนเองแทน เช่น ลูกลอกการบ้านเพืื่อนแบบนี้แม่เสียใจรู้มั้ย หรือ ลูกเอาของเล่นเพื่อนมาแบบนี้แม่ผิดหวังมากเลย ทั้งนี้เเพื่อให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่เขาทำมีผลต่อความรู้สึกของพ่อแม่ ซึ่งวิธีนี้แม้ไม่หนักหน่วงเท่าการพูดตำหนิ แต่มักจะได้ผลมากกว่า
6.ให้ลูกรู้จักรับและให้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ยังไม่รู้จักการแบ่งปัน พ่อแม่อาจจะคุยกับลูกว่าของบางชิ้นที่ลูกรักเป็นพิเศษอาจจะไม่แบ่งใครเลยได้ ในขณะที่ของบางชิ้นรักเหมือนกันแต่แบ่งเพื่อนเล่นได้ เพื่อให้ลูกรู้จักแยกแยะว่าของบางอย่างไม่ได้แปลว่าลูกจะต้องอนุญาตให้ใครยืมได้หมด ที่สำคัญต้องให้กำลังใจและชมเชยลูกเสมอ เมื่อเขาเริ่มแบ่งปันเป็น เช่น ลูกอาจแบ่งขนมให้แม่เพียงชิ้นเล็กๆ ก็ให้ชมว่าหนูน่ารักนะคะที่แบ่งขนมให้คุณแม่ด้วย ค่อยๆ จากการที่เขาเริ่มแบ่ง ถึงจะดูแค่เล็กๆ น้อยๆ แต่เพียงลูกเริ่มทำก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว
7.พาลูกไปทำกิจกรรมจิตอาสา ลองชวนลูกเลือกของเล่น หรือเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาคค่ะ นอกจากจะช่วยฝึกให้เขารู้จักแยกแยะของที่จำเป็น และไม่จำเป็นแล้ว ยังช่วยฝึกให้ลูกรู้จักกิจกรรมจิตอาสาที่เขาอาจเข้าใจมากขึ้นเมื่อโตกว่านี้ได้
8. ซื่อสัตย์สุจริตให้ลูกเห็น คือการยึดมั่นในความสัตย์จริง และสิ่งที่ถูต้องดีงาม รู้จักแยกแยะถูกผิด ปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นโดยชอบ ไม่คดโกง เช่น สอนให้เขาไม่หยิบของของคนอื่น ซื่อสัตย์ต่อการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพราะปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่เราพบกันบ่อยคือ การไม่ซื่อสัตย์ต่อเวลางาน ไม่รับผิดชอบต่องาน ทำให้งานที่ออกมาไม่มีคุณภาพ
9. สอนให้ลูกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง คือมีจิตสำนึกในบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง และปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เคารพกฎเกณฑ์กติกา พร้อมให้ตรวจสอบการกระทำได้เสมอ หากมีการทำผิดก็พร้อมที่จะยอมรับและแก้ไข ที่สำคัญคือรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของตนเอง เช่น เมื่อทำความผิด เมื่อลูกยอมรับว่าหนูเป็นคนทำเอง พ่อแม่ต้องบอกว่าไม่เป็นไร แล้วก็ช่วยกันแก้ไข ซึ่งจะทำให้เขารับผิดชอบกับสิ่งที่เขาทำ
10. สอนให้ลูกรู้จักคุณค่าในตัวเอง เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองทำสิ่งใดได้ดี พ่อแม่ต้องคอยสอนว่าลูกสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง เชื่อมั่นในตัวลูก แล้วลูกจะนับถือตนเองและแสดงออกมาในรูปแบบของทัศนคติในแง่บวกที่มีต่อตนเอง จากนั้นชื่นชมส่งเสริมให้เขาไม่เอาเปรียบคนอื่น
การใช้ชีวิตในสังคม นอกจากต้องเรียนรู้กฎกติการ่วมกันแล้ว เรายังต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีระเบียบวินัย ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ทำร้าย รังแก ผู้ที่อ่อนแอกว่า รวมถึงต้องไม่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วย
ซึ่งการสอนลูกให้เคารพสิทธิของผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างสังคมให้น่าอยู่แล้ว พ่อแม่เองก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะไปก่อปัญหาส้รางความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่นด้วย
สอนอย่างไรให้ลูกเคารพสิทธิของผู้อื่น
1. สอนลูกให้รู้จักรอคอย พ่อแม่สามารถฝึกให้ลูกควบคุมความต้องการของตนเอง หรือรอคอยให้เป็น เช่นหากลูกร้องงอแงอยากกินขนม แต่ยังออกไปซื้อให้ไม่ได้ ณ ตอนนั้น ก็ต้องบอกให้เขารอให้พ่อแม่ทำธุระให้เสร็จก่อน แม่ขอเวลา 10 นาที หนูรอนะคะ และต้องใจแข็งทำให้สำเร็จ ลูกจะได้เรียนรู้การรอคอยและลำดับความสำคัญก่อนหลังได้
2. สอนลูกให้รู้หน้าที่และอยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็นใช้กิจกรรมง่ายๆ ที่ช่วยส่งเสริมการอยู่ร่วมกับคนอื่น เริ่มจากกิจวัตรประจำวันของลูก เช่น ช่วยพ่อแม่เข้าครัวถือของ ช่วยจ่ายตลาดซื้อของ ช่วยงานบ้าน หรือสอนเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหารเมื่อต้องกินร่วมกับคนอื่นๆ
3. สอนลูกให้พึ่งพาตนเอง เป็นการปลูกฝังความรับผิดชอบไปในตัว ตั้งแต่การการฝึกให้ลูกอาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว และเก็บของเล่นเองอย่างสม่ำเสมอ เมื่อลูกทำบ่อยๆ ก็จะทำได้ดียิ่งขึ้น และพัฒนาเป็นทักษะอื่นๆ ที่เป็นส่วนรวมได้ดีมากขึ้น
4. ให้ลูกทำงานบ้าน งานบ้านเป็นสิทธิหน้าที่เบื้องต้นที่ลูกต้องรับผิดชอบ แถมยังฝึกการควบคุมอารมณ์ และความอดทนต่อภาระหน้าที่
5. ทำโทษเมื่อลูกทำผิด พ่อแม่ต้องคอยห้ามปรามสั่งสอนเมื่อลูกทำผิด ต้องแยกแยะถูกผิดดีชั่วได้ โดยการทำโทษต้องไม่ใช้ความรุนแรง แต่อาจเป็นการสอน พุดคุย อธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุผล
6. ปลูกฝังลูกเป็นผู้ให้ ผู้ให้ย่อมเป็นผู้ที่ถูกรัก การให้เป็นการส่งความสุข ซึ่งลูกไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของหรือเงินทอง เพียงแค่มีความรู้สึกปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังและความสามารถของตนก็เป็นผู้ให้ได้
7. พูดขอบคุณและขอโทษบ่อยๆ การขอบคุณเมื่อมีผู้อื่นหยิบยื่นไมตรีให้เราเป็นเรื่องที่พึงกระทำ และการขอโทษกับสิ่งที่ผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย นอกจากสอนลูกให้พูดขอบคุณและขอโทษในโอกาสที่เหมาะสมแล้ว พ่อแม่เองก็ควรพูดขอบคุณลูกที่ช่วยทำงานบ้าน และควรกล่าวขอโทษเมื่อทำผิดต่อลูกเช่นกัน
8. นั่งสมาธิฝึกสติ การนั่งสมาธินอกจากจะฝึกจิตใจให้สงบแล้ว สมาธิยังช่วยควบคุมความคิดและอารมณ์ของเด็กๆ ได้อีกด้วย
9. สอนลูกให้รู้จักควบคุมอารมณ์ อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ แต่การเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น ไม่ใช้อารมณ์ในทุกๆ เรื่อง รู้จักจัดการอารมณ์โกรธของตนเอง ของลูก โอบกอดกันบ่อยๆ หาวิธีระบายความโกรธ พูดถึงความรู้สึกลูกทุกครั้งที่ลูกโกรธ โมโห ก็ช่วยฝึกให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ได้ค่ะ
10. ให้คำชมลูก การชมเชยในสิ่งที่ลูกทำได้ดีด้วยช่วยให้ลูกมีกำลังใจ และเกิดแรงจูงใจที่อยากจะทำดี และบ่มเพาะลักษณะนิสัยที่น่ารักไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ค่ะ
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF" ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG
การเลี้ยงลูกชายให้ดี ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งปัจจุบันมีสิ่งยั่วยุต่างๆ มากมาย การประคับคองลูกให้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีคุณภาพ ไม่ก่อความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น ให้เกียรติผู้หญิง และไม่ทำร้ายคนที่อ่อนแอกว่า คือคุณสมบัติเบื้องต้นที่สุภาพบุรุษทุกคนพึงมี
ซึ่งการเลี้ยงดูที่ดี เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกตั้งแต่เล็กๆ เป็นการสร้างลูกชาย ให้เป็นลูกผู้ชายที่มีความเป็นสุภาพบุรุษด้วย
10 วิธีเลี้ยงลูกชายให้เป็นสุภาพบุรุษ
1. เลี้ยงลูกเอง การที่พ่อแม่ให้ความรักความอบอุ่นอย่างสม่ำเสมอ แสดงออกให้ลูกรู้ว่ารัก ผ่านการพูด กอดหอม ชมเชย เป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเป็นที่รัก เป็นคนมีคุณค่า และภูมิใจในตนเอง
2. สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ บรรยากาศที่ดีในครอบครัวจะช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัย เป็นคนอารมณ์ดี มีความสุขได้ง่าย ไม่ขี้หงุดหงิดหรือวิตกกังวล ต่างจากครอบครัวที่ทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยๆ
3. ยอมรับและรักในแบบที่ลูกเป็นเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านพื้นฐานอารมณ์ นิสัยใจคอ ความสามารถด้านต่างๆ การยอมรับและรักลูกในแบบที่ลูกเป็นนั้นสำคัญ พ่อแม่ไม่ควรเปรียบเทียบลูกระหว่างพี่น้องหรือเด็กคนอื่น
4. การอบรมอย่างเหมาะสมเลี้ยงดูอย่างมีกรอบกติกา ไม่ตามใจเด็กเกินไป เช่น เด็กจะได้ของเล่นไม่เกินกี่ชิ้นต่อสัปดาห์ เวลาโมโหห้ามทำร้ายตนเองและผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของ ความรักที่ตามใจอย่างไร้ขอบเขต จะทำให้เด็กเอาแต่ใจ ทำอะไรไม่เป็น เพราะขาดการฝึกฝนอบรม
5. ปลูกฝังคุณธรรมตั้งแต่เด็ก
- สามารถควบคุมตนเอง อดทนรอคอยได้ตามพัฒนาการของเด็กวัยเตาะแตะมักงอแงเอาแต่ใจ ไม่รู้จักรั้งรอ หงุดหงิดโมโหง่าย หากพ่อแม่ตามใจหยิบยื่นทุกอย่างให้เวลาที่งอแง เด็กจะเอาแต่ใจแบบไร้ขอบเขต พ่อแม่จึงควรสอนให้เด็กรู้จักรอคอย และควบคุมอารมณ์ได้
- เข้าใจกติกาสังคมและศีลธรรม เช่น เมื่อเด็กโกรธสามารถแสดงอารมณ์โกรธได้ แต่ไม่ควรแสดงออกด้วยการทำร้ายผู้อื่น หรือทำลายข้าวของ เวลาอยากได้อะไรให้บอก แต่ห้ามแย่งของคนอื่น หรือหยิบโดยไม่ได้รับอนุญาต
- รู้จักแบ่งปันและอยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่น รู้จักแบ่งขนม หรือของเล่นให้เพื่อน
6. ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้พ่อแม่ควรปล่อยวางบ้าง และทำหน้าที่เป็นคนสอนให้เด็กฝึกทำอะไรด้วยตัวเอง โดยไม่เข้าไปทำแทนทุกอย่าง จนเด็กทำอะไรไม่เป็น
7. ชมเชยเมื่อลูกทำดีเช่น เมื่อรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง และทำตามกรอบกติกาได้ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าการควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ชอบ และเมื่อเด็กทำอะไรดีๆ ได้สำเร็จก็ควรชื่นชมให้เด็กรู้และภูมิใจว่าเขามีดี มีความสามารถ เด็กจะกล้าริเริ่มทำในสิ่งดีๆ ต่อไป
8. เมื่อลูกทำผิดพลาด ควรสอนว่าที่ถูกคืออะไร อธิบายด้วยเหตุผล แต่ไม่ควรตำหนิหรือลงโทษรุนแรง เพราะจะทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าเขาไม่ดี และไม่เป็นที่รักของพ่อแม่
9. สอนให้ลูกรู้จักยอมรับความผิดหวัง เมื่อไม่ได้อะไรดังใจ หรือทำอะไรไม่สำเร็จ เด็กที่เข้าใจตนเอง ควบคุมอารมณ์เมื่อผิดหวังได้ จะเป็นเด็กที่มี EF ดี
10. เป็นที่ปรึกษาที่ดีเพื่อช่วยฝึกลูกให้แก้ปัญหาง่ายๆ ตามวัยได้ เมื่อลูกแก้ปัญหาสำเร็จก็ควรชื่นชม เด็กที่สามารถแก้ปัญหาและทำอะไรสำเร็จด้วยตนเองได้ จะเกิดความภูมิใจในตัวเอง
ไม่ใช่แค่เด็กผู้ชาย แต่เด็กทุกคนที่ได้รับความรัก ความอบอุ่น การอบรมที่เหมาะสม ถูกปลูกฝังให้รู้จักช่วยเหลือและแก้ปัญหาเองได้ จะมีภูมิคุ้มกันที่ดี มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นโดยไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใคร เป็นคนที่ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งเป็นคนดีที่มีความสุขค่ะ
วิธีเลี้ยงลูกสาวให้อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ
ลูกสาวอาจมีอะไรให้ห่วงมากกว่าลูกชาย แต่เชื่อเถอะค่ะ ถ้าเลี้ยงให้ดี คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลเลยว่าโตขึ้นเขาจะมีอะไรให้ห่วง เพราะตั้งแต่เด็กจนโต เราสร้างเขาให้เป็นคนเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันใจอยู่แล้ว
10 วิธีเลี้ยงลูกสาวให้อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ
-
โอบกอดลูกเสมอ ไม่ว่าจะทุกข์ สุข เศร้า การกอดจะช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ลูกรู้สึกมีตัวตน มีภูมิต้านทาน และรู้สึกเข้มแข็ง
-
พูดกับลูกดีๆ โดยเฉพาะการพูดชมเชย ให้กำลังใจลูกบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกมีพลังบวก คิดและทำแต่สิ่งดีๆ
-
สอนลูกให้รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง เด็กผู้หญิงที่ชอบกรี๊ดกร๊าด ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ใครๆ ก็มองว่าไม่น่ารักนัก เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องคอยบอกลูกเสมอว่าตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร ให้ลูกเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้น คอยเตือนลูกว่าการทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่นเป็นสิ่งที่ไม่ควร ลูกต้องรู้จักคลี่คลายอารมณ์ เช่นนับ 1-10 ออกกำลังกาย หรือระบายออกทางอื่น เช่น พูดคุยกับพ่อแม่ เล่าความอึดอัดคับข้องใจ
-
ให้ลูกทำกิจกรรมที่ท้าทาย เด็กผู้หญิงก็เล่นเหมือนเด็กผู้ชายได้ เช่น เล่นปีนป่าย ขี่ม้า แข่งรถ หรือเล่นกีฬาแบบเด็กผู้ชาย เพื่อเพิ่มทักษะความสามารถและเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย และฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้ลูกมีปฏิภาณไหวพริบ
-
สอนลูกให้รู้จักยืดหยุ่น นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การยืดหยุ่นทางความคิด การปรับตัวเข้ากับเพื่อน และการปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ช่วยให้ลูกมีเกราะคุ้มกัน ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร ลูกก็จะรับมือและแก้ไขสถานการณ์ได้ค่ะ
-
ให้ลูกทำกิจกรรมจิตอาสา การแบ่งปันง่ายๆ จะช่วยให้ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การมีเมตตา และการให้จะช่วยขัดเกลาจิตใจลูกให้อ่อนโยน และมีน้ำใจต่อเพื่อนรอบข้าง
-
สอนให้ลูกรู้จักสิทธิของตนเองและผู้อื่น การรู้จักสิทธิ์ของตนเองคือการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น การรู้จักสิทธิ์ของตนเองช่วยปกป้องลูกให้ไกลจากการถูกล่วงละเมิดด้วย พ่อแม่ต้องสอนลูกว่าส่วนไหนในร่างกายที่ห้ามผู้อื่นจับต้อง ขณะเดียวกัน ลูกก็ต้องไม่ล่วงละเมิดผู้อื่นเช่นกัน นอกจากการสัมผัสร่างกายแล้ว คำพูดไม่ดี ก็ทำร้ายผู้อื่นเช่นกัน เพราะฉะนั้นต้องสอนให้ลูกพูดดีคิดดีทำดีด้วยค่ะ
-
สอนให้ลูกรู้คุณค่าของสิ่งของรอบตัว เพราะเด็กที่รู้จักคุณค่าของสิ่งต่างๆ รอบตัว จะเป็นคนที่รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความอ่อนโยน ซึ่งพ่อแม่สอนลูกสาวได้ง่ายๆ โดย การพูดคุย ชื่นชม ทำให้ดู หรือแม่แต่การให้สิ่งของต่างๆ อย่าให้ลูกง่ายเกินไป แต่ต้องมีเงื่อนไขหรือข้อแลกเปลี่ยน เพื่อให้ลูกตระหนักรู้ว่ากว่าที่จะได้ของเล่นมา 1 ชิ้น ต้องใช้ความพยายามมากแค่ไหน และต้องรักษาสิ่งนั้นไว้
-
ให้ลูกใช้สื่ออย่างเหมาะสม การให้ลูกเล่นมือถือ ดูโทรศัพท์ เล่นเกม ไม่ใช่เรื่องผิดค่ะ ตราบใดที่พ่อแม่คอยควบคุมจำกัดเวลา คอยอธิบายอยู่ใกล้ๆ เพื่อป้องกันลูกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
-
พ่อแม่เป็นตัวอย่างให้ลูก ไม่ว่าจะลูกสาวหรือลูกชาย ถ้าอยากอยากให้ลูกจิตใจดี มีเมตตา อ่อนโยน พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกดูก่อนเลยค่ะ เพราะลูกจะจำและทำตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะติดตัวลูกไปจนโต
สนใจสั่งซื้อหนังสือ Raising Girl ลูกสาวเลี้ยงอย่างไรให้ดี
คลิก http://bit.ly/2UKvPy8
วัย 2-3 ปี เป็นวัยที่เริ่มเข้าโรงเรียน มีการปรับตัวหลายอย่าง เจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เจอผู้คนใหม่ๆ ลูกจะรู้จักควบคุมตัวเองได้มากขึ้น รู้จักรับผิดชอบงานที่ครูมอบหมาย และรู้จักคิดยืดหยุ่นเพื่อที่จะแก้ปัญหาได้
พ่อแม่สร้าง Self-Monitoring ให้ลูกได้
1. เล่นดนตรีกับลูก นอกจากเป็นการฝึกสมาธิแล้ว ยังช่วยฝึกทักษะการฟัง การพูดและภาษาของลูกด้วย
พัฒนา EF...Working Memory Focus/Attention และ Shift Cognitive Flexibility
2. อ่านซ้ำๆ ทำบ่อยๆ การอ่านหนังสือนิทาน โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัวให้ลูกฟังบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกเกิดการจดจำและเกิดสมาธิ เพราะเด็กๆ จะชอบมองรูปในหนังสือและตั้งใจฟังพร้อมกับสนอกสนใจเรื่องนั้นๆ
พัฒนา EF...Working Memory และ Focus/Attention
3. วาดภาพตามใจปรารถนา ให้ลูกได้จดจ้องกับผลงานการสร้างสรรค์ของตนเอง ด้วยการแปะติดผนังหรือกำแพงบ้าน เพื่อให้ลูกเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ เกิดเป้าหมายและการจดจ่อ ซึ่งเด็กๆ อาจจะอยากวาดรูปมาติดเพิ่มอีก หรือมีการพัฒนาฝีมือการวาดให้ดีขึ้นอีก
พัฒนา EF... Working Memory Focus/Attention Planning/Organizing Initiating และ Goal-directed Persistence
4. ต่อบล็อกไม้ ได้สมาธิ และยังได้เรียนรู้เรื่องของรูปทรง สี และจำนวน เป็นการฝึกพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ด้วย
พัฒนา EF...Working Memory Focus/Attention Planning/Organizing Initiating และ Goal- directed Persistence
5. สอนให้ลูกรู้จักรอคอย เมื่อต้องต่อคิว เข้าแถว หรือทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ทันที พ่อแม่ห้ามแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้ลูกเห็น เช่น การแซงคิว แต่ควรปลูกฝังความมีระเบียบ รู้จักรอคอยให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อเสริมสร้างระเบียบวินัยให้ลูกไปในตัว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อไปในอนาคตของลูก
พัฒนาEF... Working Memory Inhibit Shift Cognitive Flexibility และ Emotional Control
6. เล่นบทบาทสมมติ ให้ลูกทำท่าทางตามที่พ่อแม่บอก เช่น หนูทำท่าหมีให้แม่ดูสิคะ หรือสั่งให้เขาจับอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย กิจกรรมนี้ช่วยฝึกเรื่องไหวพริบ การแยะแยะ และเรียนรู้เรื่องกิริยา การแสดงออกในท่าทางและอารมณ์ต่างๆ และฝึกความยืดหยุ่นทางความคิด
พัฒนา EF... Working Memory Inhibit Shift Cognitive Flexibility
7. ชวนลูกทำกับข้าวนอกจากจะได้เรียนรู้คำศัพท์ ฝึกลูกให้รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบแล้ว การให้ลูกเข้าครัวพร้อมพ่อแม่ ให้ล้างผัก เด็ดผัก ยังเป็นการฝึกสมาธิและการจดจ่อให้กับลูก
พัฒนา EF...Working Memory Focus/Attention และ Planning/Organizing
8. นักสำรวจน้อย ชวนลูกสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว เพื่อกระตุ้นความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ เพราะสิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับลูก พ่อแม่ควรเข้าใจและสนับสนุนการสำรวจของลูก ซึ่งอาจเป็นไปตามสิ่งที่เขาคิดหรือสงสัย โดยช่วยให้ลูกได้ค้นพบและสำรวจด้วยตัวเอง ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่มีเหตุผล พ่อแม่แค่เพียงตอบคำถามลูก พร้อมกับกระตุ้นให้ลูกได้คิดต่ออย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญต้องเป็นไปอย่างสบายๆ ไม่ใช่ออกคำสั่งกับลูก
พัฒนา EF...Working Memory Focus/Attention Initiating Inhibit และ Planning/Organizing
9. ชวนลูกแยกแยะและจับคู่สิ่งของเช่น เสื้อผ้าของเขาเอง เวลาซักและตากแห้งแล้วให้ลูกช่วยแยกเสื้อผ้าและกางเกงออกจากกัน หรือเวลาล้างจานก็ให้ลูกช่วยแยกช้อนกับส้อมออกจากกัน ถ้าลูกรู้จักสีแล้วก็ให้แยกชุดหรือสิ่งของเป็นสีๆ ไป
พัฒนา EF...Working Memory Focus/Attention
10. ซ่อนของ 2 มือ ให้แม่ถือของเล่นชิ้นเล็กๆ ไว้ในมือ แล้วกำมือให้ลูกเห็นว่ามีของเล่นในมือไหนบ้าง แล้วส่งไปมาระหว่างมือซ้ายกับมือขวา เพื่อฝึกสายตา การสังเกต และจดจ่อของลูก
พัฒนา EF... Working Memory Focus/Attention และ Shift Cognitive Flexibility
11. ให้ลูกเล่นแป้งโดว์หรือดินน้ำมัน พ่อแม่อาจปั้นผลไม้หรือขนมสีคล้ายของจริง แต่ควรปล่อยให้ลูกปั้นตามจินตนาการ อาจหลากสีหลายรูปแบบได้ เช่น แอปเปิ้ลลูกหนึ่งมีทั้งสีแดง ม่วง เขียว เป็นต้น
พัฒนา EF...Working Memory Focus/Attention Initiating และ Shift Cognitive Flexibility
12. ทำทุกวันให้เป็นกิจวัตร พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี มีความสม่ำเสมอ จัดเก็บของให้เป็นระเบียบ และเมื่อลูกทำงานสำเร็จ ก็สร้างแรงใจด้วยรางวัลเล็กๆ น้อย หรือคำชื่นชม
พัฒนา EF...Working Memory และ Inhibit
3 วิธีสอนลูกให้มั่นคง ไม่อ่อนไหว พัฒนา ef ให้จิตใจเข้มแข็ง EF สำหรับพ่อแม่
เป็นเรื่องปกติที่เด็ก ๆ วัย 3-4 ปีจะมีอารมณ์แปรปรวน อ่อนไหว หรือฉุนเฉียวได้ง่าย แล้วถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ลูกอาจต่อต้านหรือท้าทายผู้ใหญ่ ดังนั้นพ่อแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจ และไม่ควรตอบสนองลูกทุกครั้ง เพราะถ้าลูกสามารถทำกับพ่อแม่ได้ เขามีแนวโน้มที่จะไปทำกับคนอื่นได้เช่นกัน
ป้องกันก่อนแก้ โดยพ่อแม่สามารถทำได้ดังนี้
1. หาขอบเขตที่เหมาะสมให้ลูก
อาจไม่ใช่การสร้างกฎข้อบังคับเสียทีเดียว แต่เป็นการทำข้อตกลงหรือต่อรองซึ่งกันและกัน ว่าสิ่งไหนที่ลูกสามารถทำได้ สิ่งไหนที่ทำไม่ได้ และถ้าหากลูกไม่หยุดหรือไม่ยอมเชื่อฟัง เขาก็ต้องได้รับบทลงโทษ แต่ทั้งนี้พ่อกับแม่ต้องไม่ใช้อารมณ์หรือความรุนแรงกับลูก เพราะการใช้อารมณ์ ใช้ไม้เรียว หรือแม้แต่คำพูดที่รุนแรงจะทำให้ลูกรู้สึกแย่และเห็นเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีได้ ซึ่งเขาก็อาจนำไปใช้กับผู้อื่น หรือมีการต่อต้านคุณพ่อคุณแม่เกิดขึ้น
แม้ว่าในบางครั้งที่ลูกอาจจะก้าวร้าว เกเร ดื้อ ซน แต่ถ้าเขาไม่ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของให้เสียหาย เขาก็ยังสามารถแสดงอาการเหวี่ยงวีนออกมาได้ ตราบใดที่เขาไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะธรรมชาติของลูกเป็นแบบนั้นค่ะ
2. อย่าช่วยลูกมากจนเกินไป
ควรให้ลูกได้ช่วยเหลือตนเองบ้าง ให้เขาได้แสดงความคิดตามขอบเขตของเขา และไม่ว่าจะผิดหรือถูก ลูกมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นค่ะ เพียงแต่พ่อกับแม่ต้องคอยสอนว่าอะไรควรไม่ควร อาจจะให้คำแนะนำ หรือใช้คำถามในลักษณะที่เกิดการต่อยอดหรือเกิดความคิดในการแก้ไขปัญหา
3. ไม่ควรห้ามความรู้สึกของลูก
เพราะเรื่องของความรู้สึกเราห้ามกันไม่ได้ค่ะ ยิ่งเด็ก ๆ ที่มักจะอารมณ์อ่อนไหวง่าย ในยามโกรธ เสียใจ ทุกข์ใจ พ่อแม่ต้องไม่ปิดกั้นอารมณ์ของลูกค่ะ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ลูกมีปัญหาได้ เขาจะไม่เชื่อใจตนเอง ในขณะที่เด็กบางคนอาจจะก้าวร้าวรุนแรง หรือบางคน ก็เป็นเด็กขี้วิตกกังวล ขณะเดียวกันถ้าเด็กคนไหนที่ได้รับการฝึกฝนมาบ่อย ๆ ฝึกมาแล้วจากที่บ้าน เขาก็จะสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้
เด็กวัย 3-6 ปี เป็นวัยที่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้แล้ว โดยเฉพาะช่วงอายุ 5 ปีนั้น เป็นวัยที่สามารถพูดคุยรู้เรื่อง เชื่อมโยงความคิด รู้จักยืดหยุ่น คุยกับผู้ใหญ่รู้เรื่อง และรับมือกับอะไรได้อย่างมากมาย ดังนั้น พ่อแม่จึงควรสอนลูกให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองได้ตั้งแต่ช่วงวัยนี้ เพราะเด็กจะพูดคุยได้ง่ายขึ้น ให้ความร่วมมือมาก หรือสอนง่ายขึ้นนั่นเองค่ะ
ทักษะการริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) คือความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำงานตามที่คิด มีทักษะในการริเริ่มสร้างสรรค์แนวทางในการทำสิ่งต่างๆ เมื่อคิดแล้วก็ลงมือทำให้ความคิดของตนปรากฏขึ้นจริง โดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
ฝึกลูกให้เป็นเด็กรู้จักคิดริเริ่มลงมือทำด้วยกิจกรรมง่ายๆ
1. ต่อคำ คิดศัพท์ลองคิดคำศัพท์ง่ายๆ แล้วให้ลูกนึกคำที่เหมือนกับคำลงท้ายที่คุณพ่อคุณแม่พูด เช่น คำว่า นาฬิกา ลงท้ายด้วย ก.ไก่ หนูลองหาซิมีคำไหนขึ้นต้นด้วย ก.ไก่บ้าง ลูกอาจจะยังผสมคำไม่เป็น แต่ลูกจะได้เรียนรู้เสียงและคำศัพท์หรือคำที่คล้องจองกัน จากนั้นก็ลองสลับกันเล่นให้ลูกเป็นคนคิดคำขึ้นมาแล้วให้คุณพ่อคุณแม่เป็นคนทาย ช่วยฝึกการคิดริเริ่ม และทำให้สนุกมากขึ้นด้วย
2. DIY ริเริ่มสร้างสรรค์เกมนี้สามารถสอนให้ลูกเห็นคุณค่าของสิ่งของ ปลูกฝังค่านิยมเรื่องการประหยัดอดออมได้ ที่สำคัญเป็นเกมที่ให้ลูกได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ค่ะ เช่น แม่อาจหาอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล่อง พลาสติก ขวดที่ใช้แล้ว จากนั้นก็ชวนลูกมาประดิษฐ์สิ่งของ ให้ลูกคิดว่าอยากทำอะไร ซึ่งพ่อแม่แนะนำเขาได้ เช่น วันนี้เราทำกระปุกออมสินกันดีมั้ย หนูคิดว่าเราจะใช้อะไรดีนะ ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ลงมือทำให้เต็มที่ ให้เขาได้สร้างสรรค์ด้วยตัวเองมากที่สุด
3.ทำงานบ้าน ลูกวัย 3-6 สามารถช่วยงานบ้านง่ายๆ ได้ หากทุกคนในบ้านทำร่วมกันได้ เปลี่ยนจากการสั่งให้เขาทำ มาเป็นเกมสนุกๆ แทน ลูกก็จะสนุกมากขึ้น เช่น ลองชวนเข้าครัว ให้ลูกเป็นคนคิดเมนูว่าอยากทำอะไร แล้วก็หาของที่มีอยู่ในตู้เย็น แม่อาจบอกว่าในตู้เย็นเรามีอะไรบ้าง เราลองมาคิดกันซิว่าจะทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะลูกวัย 5- 6 ขวบ จะเริ่มมีไอเดียแล้วว่าของสิ่งนี้เอามาทำอะไรบ้าง เกมนี้ได้ทั้งออกกำลังกาย และฝึกความคิดสร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กันค่ะ
4. ปลูกต้นไม้ด้วยตัวเองลูกจะได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนของการปลูก เปิดโอกาสให้ลูกเลือกเมล็ดพันธุ์ ลูกจะได้รู้เรื่องคำศัพท์ ได้ลงมือปลูก รดน้ำ พรวนดิน ดูแลต้นไม้ด้วยตัวเอง ระหว่างการดูแลและรอให้ต้นไม้เติบโต พ่อแม่สามารถสอดแทรกเรื่องความอดทนรอคอย จนกระทั่งวันหนึ่งที่ต้นไม้ออกดอกออกผล ยิ่งมีผลมากินได้ด้วย ลูกจะรู้สึกภูมิใจเพราะได้ปลูกด้วยตัวเอง
5. ดนตรีและกิจกรรมเข้าจังหวะ ดนตรีและกิจกรรมเข้าจังหวะเป็นเป็นเกมที่สามารถทำร่วมกันในครอบครัวได้อย่างสนุกสนาน คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกหาเครื่องดนตรีจากสิ่งของในบ้าน เช่น ขวดแก้ว กระป๋องนม หรือเปิดเพลงจังหวะสนุกๆ ร่วมด้วย โดยให้ลูกคิดว่าของที่เลือกมาจะมาทำให้เกิดเป็นจังหวะหรือเสียงได้อย่างไร จากนั้นให้เขาลงมือเคาะ ตี เขย่า หรือให้ลูกเป็นคนคิดท่าท่างประกอบจังหวะ นอกจากฝึกให้ลูกรู้จักจังหวะ ได้เคลื่อนไหวร่างกายพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ผ่านการคิดเชื่อมโยงและลงมือทำด้วยตัวเอง
การได้ทำกิจกรรมง่ายๆ ร่วมกันในครอบครัว นอกจากไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ได้สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมทักษะการคิดริเริ่มและลงมือทำที่ได้ผลมากกว่าที่คิด
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF"
ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG
เด็กวัยอนุบาลเป็นวัยที่เริ่มรู้จักการใช้จ่ายเงินบ้างแล้ว แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจคุณค่าของเงิน เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายความสำคัญของเงินแบบง่ายๆ ให้ลูกได้เช่น เงินมีไว้ทำอะไร พ่อแม่หามาได้อย่างไร และเงินมีไว้ใช้สำหรับสิ่งจำเป็นอะไรบ้าง ที่สำคัญ ลูกต้องรู้จักออมเงินด้วยค่ะ
5 ข้อดีสอนลูกรู้จักออมเงิน
1. ลูกรู้จักตั้งเป้าหมายว่าจะออมเงินเพื่ออะไร เช่น ออมเงินไว้ซื้อของเล่นที่อยากได้ ออมเงินไว้สำหรับซื้อของให้พ่อแม่ เป็นต้น
2 ลูกได้เรียนรู้การวางแผน ลูกอยากได้ของเล่น ต้องเก็บเงินวันละเท่าไหร่ และต้องใช้ระยะเวลาในการเก็บกี่วัน จึงจะพอซื้อของเล่น 1 ชิ้น เป็นต้น
3. รู้จักอดทนรอคอย บางครั้งการออมเงินก็เป็นเรื่องสนุกที่เด็กๆ จะรู้สึกตื่นเต้นและเฝ้ารอวันที่กระปุกออมสินเต็ม หรือวันที่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อของที่เขาอยากได้
4. เกิดความยืดหยุ่น แม้จุดประสงค์หลักที่ลูกออมเง้นเพื่อซื้อของเล่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลูกอาจไม่อยากได้ของเล่นที่เขาเคยอยากเล่นแล้ว เด็กบางคน เมื่อเห็นจำนวนเงินที่ตนเองเก็บออมได้ หลายคนมักจะรู้สึกเสียดาย เพราะฉะนั้นทางที่ดีควรรีบใช้โอกาสนี้พาลูกไปเปิดบัญชีธนาคารค่ะ
5. เกิดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ หลังจากที่หยอดเงินเต็มกระปุกหมูและพ่อแม่พาไปเปิดบัญชีออมทรัพย์แล้ว เด็กหลายคนมักจะชอบบรรยากาศการฝากเงิน และรู้สึกดีใจเมื่อเห็นยอดเงินในบัญชีเพิ่มขึ้น (ซึ่งผู้ใหญ่อย่างพ่อกับแม่เองก็ชอบเช่นกัน)
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF"
ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG
5 วิธีปลูกฝังให้ลูกเป็นนักวางแผน
การสอนให้รู้จักวางแผน จะช่วยให้ลูกพัฒนาความสามารถในการคิด การแก้ปัญหา ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นทักษะในการจัดการชีวิตอย่างเป็นระบบได้ในอนาคต ซึ่งพ่อแม่สามารถชี้แนะ เป็นผู้ส่งเสริมให้เขาเข้าใจและฝึกฝนการวางแผนง่ายๆ ในชีวิตประจำวันได้
1. กิจวัตรประจำวันก่อนไปโรงเรียน โดยวันจันทร์-ศุกร์ให้จัดตารางสิ่งที่ลูกต้องทำให้เกิดเป็นความเคยชินและเป็นระบบระเบียบ เริ่มจากลูกต้องตื่นกี่โมง วางแผนการอาบน้ำแปรงฟัน ซึ่งสำหรับเด็กนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก
พ่อแม่อาจหากระดานติดไว้ในที่ที่เห็นได้ชัด เช่น ห้องนั่งเล่น เพื่อช่วยเตือนสิ่งที่ลูกต้องทำ โดยอาจให้ลูกมีส่วนร่วมในการคิดด้วย เช่น ให้เขาวาดการ์ตูน หรือหาการ์ตูนที่ชอบมาแปะตกแต่งและเขียนกิจวัตรที่ต้องทำในแต่ละวัน ก็จะช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำตามแผนได้มากขึ้น เพราะหากมีแรงจูงใจลูกก็จะอยากเตรียมตัว อยากทำด้วยตัวเองจนเกิดความเคยชินในที่สุด
2.ทบทวนแผนก่อนนอน พูดคุยกับลูกสักครึ่งชั่วโมงก่อนนอน เช่น วันนี้หนูเรียนอะไรมาบ้าง เพื่อนที่โรงเรียนน่ารักมั้ย เพื่อเป็นการสร้างความรักความผูกพันกันก่อนนอน
ที่สำคัญอย่าลืมชวนลูกทบทวนตารางเวลาที่เราต้องทำพรุ่งนี้ เช่น 7 โมง หนูต้องแปรงฟันใช่มั้ย แล้วหลังจากนั้นต้องทำอะไรต่อนะ ลองให้เขานึกภาพตามกระดานตารางที่เขามีส่วนร่วมในการกำหนดด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นแผนที่เราสอดแทรกเข้าไปในกิจวัตรประจำวัน เป็นการฝึกระเบียบวินัยให้ลูกได้ และลูกเองก็รู้สึกว่าได้ใช้เวลากับพ่อคุณแม่อย่างเต็มที่ด้วยค่ะ
3.ฝึกวางแผนง่ายๆ ในครัว ชวนลูกทำขนมที่เขาชอบด้วยกัน เช่น วุ้นสีสวย ลองให้เข้าคิดเองเลยว่าอยากให้วุ้นเป็นสีอะไร มีวิธีทำอย่างไร มีส่วนประกอบอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็มาลองดูว่าที่บ้านมีวัตถุดิบเหล่านั้นหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ชวนลูกออกไปซื้อด้วยกัน เป็นการวางแผนการจ่ายตลาด ลูกก็จะได้ฝึกจำคำทั้งศัพท์ และได้ฝึกกระบวนการคิดวางแผนว่ากว่าจะเป็นวุ้นเราต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง จะต้องมีขั้นตอนอย่างไร ที่สำคัญควรให้เขาได้ลงมือทำจริงด้วยตัวเองนะคะ
4.วางแผนการออมเงินวัยอนุบาลสามารถฝึกเรื่องการออมเงินได้ค่ะ โดยให้ลูกตั้งเป้าหมายในการออมเงินว่าจะออมเพื่ออะไร เช่น ให้ลูกเก็บเงินซื้อการ์ตูนเรื่องใหม่ด้วยตัวเอง เราก็จะได้ดูวิธีที่เขาใช้ในการเก็บเงิน ลูกอาจบอกว่าวันนี้จะไม่กินขนม ไม่ซื้อของเล่นอื่น เพื่อเป้าหมายใหญ่ หรือเป้าหมายที่ตัวเองต้องการในระยะยาว
เมื่อลูกวางแผนเสร็จแล้ว พ่อแม่จะต้องติดตามผลของการกระทำของลูกด้วยว่าเขาสามารถทำได้จริงหรือไม่ ถ้าได้ก็ให้ชมเชยตามสมควร แต่ถ้าลูกทำไม่ได้ก็อย่าเพิ่งไปตำหนิ แต่ควรให้กำลังใจเพื่อให้เขาอยากทำให้ได้จนสำเร็จ พอลูกเริ่มโตก็ลองให้โจทย์ที่ยากและท้าทายขึ้นเพื่อฝึกทักษะเชาว์ปัญญา การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น
5.แผนที่ดีก็ยืดหยุ่นได้หากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ตารางกิจวัตรประจำวันของลูกอาจยืดหยุ่นได้มากขึ้น เช่น ตื่นสายได้มากขึ้น หรือเข้านอนช้ากว่าวันที่ต้องไปโรงเรียนได้ นอกจากนี้เราอาจเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกาย เช่น การขี่จักรยาน หรือชวนกันออกไปข้างนอกเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนรู้ ซึ่งแผนเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความสนใจของลูก และตามความเหมาะสมค่ะ
การวางแผนสามารถช่วยพัฒนาทักษะสมองของลูก
1.พัฒนาทักษะการคิดและเชื่อมโยง การวางแผนจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้การแก้ปัญหา ฝึกความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ที่สำคัญช่วยพัฒนาทักษะความคิดที่เป็นระบบ แยกแยะหมวดหมู่ เชื่อมโยงเหตุการณ์และการใช้เหตุผลได้
2.เพิ่มพูนทักษะความจำ การพูดคุยกับลูกโดยเฉพาะในช่วงก่อนนอน จะช่วยเตือนความจำระยะสั้นในแต่ละช่วงวัน ก่อนจะเก็บเป็นความทรงจำได้ในระยะยาวค่ะ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ลูกมีความเชื่อมั่นในตัวเอง สามารถช่วยเหลือตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้
3.ส่งเสริมระเบียบและวินัยหากลูกสามารถวางแผนได้ดี ก็จะสามารถสื่อสารผ่านคำพูดและการกระทำอย่างเป็นระเบียบแบบแผนได้ดีไปด้วย ซึ่งเป็นพื้นฐานให้ลูกสามารถแยกแยะข้อเท็จจริงที่ได้รับ และวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลในเรื่องสำคัญต่างๆ เมื่อโตขึ้นได้
ทักษะสมอง EF พัฒนาได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นค่ะ และจะพัฒนาได้ดียิ่งขึ้นหากได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยชี้ว่า EF เริ่มพัฒนาขึ้นในเวลาไม่นานหลังปฏิสนธิ กลไกของการพัฒนาทักษะ EF ด้านต่างๆ ในแต่ละช่วงวัย เช่น Working Memory จะพัฒนาตอนอายุ 6 เดือน ส่วน Inhibition พัฒนาช่วงขวบปีที่สอง และจะพัฒนาได้มากขึ้นในช่วง 3-6 ปี
คุณพ่อคุณแม่ควรเน้นฝึกทักษะเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงขวบปีแรก ผ่านการเล่น การเลี้ยงดู การจัดสิ่งแวดล้อม รวมถึงกิจกรรมต่างๆ จึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาส่งเสริมทักษะ EF ให้เจ้าตัวเล็กวัยขวบปีแรก
5 วิธีง่ายๆ สร้าง EF ที่ได้ผล ซึ่งทำได้ทุกวันที่บ้าน
1.กินดี จุดเริ่มต้นพัฒนาการสมอง
การพัฒนาสมองของทารกในวันแรกของชีวิตนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงต้องอาศัยสารอาหาร ร่วมไปกับการเรียนรู้ในการพัฒนาโครงสร้างและการทำงานของสมองให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งสารอาหารที่ครบถ้วนเหมาะสมตามช่วงวัย มีช่วยให้สมองและร่างกายของลูกได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นฐานสำคัญเพื่อต่อยอดการฝึกฝนทักษะ EF ให้มีศักยภาพมากขึ้น
กินแบบไหนสร้าง EF
ดื่มนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และหลังอายุ 7 เดือนสามารถกินนมแม่กับอาหารเสริมตามวัยจนถึง 2 ขวบ โดยเริ่มด้วยข้าวบดทีละน้อย จากนั้นค่อยเป็นอาหารหยาบและหลากหลายขึ้น เช่น ข้าวบดหยาบ ผักบดและผลไม้บด
กินอาหารที่ครบถ้วน 5 หมู่ เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการร่างกายและพัฒนาการสมอง ทั้งโปรตีน วิตามิน ดีเอชเอ โอเมาก้า ธาตุเหล็ก แคลเซียม ไอโอดิน และแร่ธาตุต่างๆ ที่ดี ซึ่งกระบวนการพัฒนาสมองและการพัฒนาทักษะ EF ที่ดีขึ้นอยู่กับโภชนาการที่เหมาะสมด้วยค่ะ
สัมผัสและสัมพันธ์ระหว่างกินนม ให้คุณแม่อุ้มลูกแนบชิดตัว สบตา พูดคุย เห่กล่อมด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน ลูกจะรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาทักษะ EF ที่ดีเมื่อโตขึ้น
ฝึกลูกรอคอยระหว่างกินเมื่อถึงวัยอาหารเสริมให้ลูกได้ลองกลืนอาหารจากช้อน คุณพ่อคุณแม่ร่วมกินอาหารกับลูก ฝึกให้ลูกรู้จักรอคอยบ้างระหว่างการกิน เพื่อฝึกการยับยั้งชั่งใจ
หยิบอาหารด้วยตัวเอง เมื่อเข้าสู่วัย 10-12 เดือน คุณพ่อคุณแม่ใช้โอกาสนี้ฝึกลูกให้หยิบอาหารใส่ปากเอง หรือให้ดื่มน้ำจากถ้วย นอกจากช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้รู้จักทักษะการช่วยเหลือตัวเองด้วยค่ะ
2.นอนเพียงพอ เพิ่มพลังสมอง
ช่วงที่ลูกนอนหลับสนิทตลอดคืน คือช่วงเวลาที่สมองจะพัฒนาเต็มที่ เมื่อสมองพร้อมลูกก็สามารถต่อยอดการเรียนรู้ในทุกๆ วันได้ดียิ่งขึ้น
นอนแบบไหนสร้าง EF
นอนเพียงพอตามวัย ช่วงวัย 0-3 เดือนลูกควรได้นอนอย่างเพียงพอ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน และตั้งแต่ 4 เดือน- 12 เดือน ควรเริ่มฝึกให้ลูกงดนมมื้อดึก เพื่อให้นอนตอนกลางคืนได้นานขึ้นรวมวันละ 12- 15 ชั่วโมง และนอนกลางวัน 2 ครั้งต่อวัน
จัดที่นอนของลูกให้เป็นสัดส่วน แต่ยังอยู่ในห้องเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ได้ ห้องนอนควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก ป้องกันการเกิดภูมิแพ้จากอากาศและฝุ่นละออง ไม่เปิดไฟให้แสงไฟสว่างเกินไป เพราะการนอนหลับสนิมตลอดคืน เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสร้างฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (Growth Hormone)
แยกห้องนอนวัย10-12 เดือน หากคุณแม่จะแยกห้องนอนลูก ควรอยู่เป็นเพื่อนลูกในห้องนอนก่อน ชวนพูดคุย อยู่เพื่อสร้างความคุ้นเคย สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ให้ลูกค่อยๆ ปรับได้ในที่สุด
หลับลึก กระตุ้น EF การนอนกลางคืนเป็นช่วงที่สำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตทางสมอง เพราะร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมองในการเรียนรู้ จดจำ เป็นรากฐานเพื่อพัฒนาและฝึกฝนทักษะ EF ต่อไป
3.กอดสร้างรักและผูกพัน
ความใกล้ชิดและอ้อมกอดของแม่คือความทรงจำแรกที่บันทึกไว้ในสมองของลูกค่ะ ทักษะ Working memory จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วัยทารก และจะพัฒนาเป็นความผูกพัน(attachment) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทักษะ EF
นอนแบบไหนสร้าง EF
อุ้ม-กอดสร้าง attachmentวัยนี้คุณแม่ควรหมั่นอุ้มกอด สัมผัสลูกอย่างอ่อนโยน หรือสบตาระหว่างให้นม เพราะสมองลูกจะรับรู้ข้อมูลที่คุ้นเคย จนเกิดการเรียนรู้อารมณ์ต่างๆ ผ่านความใกล้ชิดและการตอบสนองจากแม่ ซึ่งความผูกพันนี้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะ EF อย่างได้ผลในอนาคนต
ตอบสนองลูกไว ทำเสียงหรือทำหน้าตาให้ลูกสนใจ ตอบสนองต่อท่าทางที่แสดงถึงความต้องการของลูก จะช่วยให้เด็กมีฐาน ความมั่นคงในจิตใจ ในการจะก้าวต่อไป สู่การพัฒนา EF ในระดับสูงขึ้นไป
สังเกตพฤติกกรรมลูก คอยสังเกตพฤติกกรรมที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของทักษะสมอง EF เช่น ลูกมีการหยุดคิดและตอบสนองหน้าตาหรือน้ำเสียงแม่ เริ่มมองดูผู้คนที่รู้จัก ไม่สนใจสิ่งที่ทำให้เสียสมาธิ
4.เล่น = เรียนรู้
การเล่นคือการสร้าง EF ให้เด็กที่ได้ผลดี โดยผ่านกระบวนการเล่นแบบมีอุปกรณ์และไม่มีอุปกรณ์ โดยเฉพาะวัยขวบปีแรก ไม่ต้องพึ่งของเล่นราคาแสนแพง แค่ได้เล่นกับพ่อและแม่ ทักษะ EF ก็เกิดตั้งแต่เริ่มเล่นแล้วค่ะ
เล่นแบบไหนสร้าง EF
ใช้ใบหน้าเล่นกับลูก พูดคุยหยอกล้อและเล่นกับลูก ให้มองตามหน้าพ่อแม่ หรือเคลื่อนของเล่นสีสดใสไปมา กระตุ้นการใช้สายตา รู้จักแยกแยะสี สามารถจดจำใบหน้าและเสียงของพ่อแม่ได้
ให้ลูกได้เล่นคนเดียวบ้าง ให้ลูกพลิกตัวคว่ำ-หงาย ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย หรือใช้ของเล่นชิ้นใหญ่ ล่อให้ลูกขยับคว้า ให้ได้ใช้มือคว้า หยิบจับ และปล่อยของเล่น
ฝึกเล่นแก้ปัญหา ฝึกให้ลูกเล่นนิ้วมือ เช่น จับปูดำ แมงมุมลาย
ให้ลูกมีโอกาสเลือกเล่นเองจัดวางของเล่นให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ลูกได้ฝึกหยิบและฝึกการเก็บของเล่นเอง
5.เล่าสนุก กระตุก EF
การเล่านิทานหรือร้องเพลงกับเด็กๆ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยพัฒนาอารมณ์ จิตใจให้ร่าเริง มีสมาธิ ซึ่งถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ดีในการพัฒนา EF ที่ได้ผล
เล่าแบบไหนสร้าง EF
ใช้เสียงสูงเสียงต่ำ วัย 0-3 เดือน ยิ้มสื่อสาร พูดคุย ท่องโคลง กลอน เล่าหรืออ่าน นิทานกับลูกโดย พูดคุยช้าๆ ชัดๆ ใช้เสียงสูงเสียงต่ำ มีจังหวะหยุดให้ลูก ยิ้มหรือส่งเสียงตอบ
ชวนเล่าชวนคุยถึงสิ่งรอบตัวเพื่อให้รู้จักคำศัพท์จากสิ่งรอบตัว และให้รู้จักคำศัพท์ที่แสดงความต้องการของตนเอง เพราะช่วง 4-12 เดือน เป็นช่วงที่สมองเด็กสามารถเรียนรู้ได้ หลายภาษา รวมถึงภาษาถิ่นด้วย
เล่านิทาน สร้าง EF การอ่านช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษา ฝึกการได้ยิน ลูกจะได้รู้จักภาษาและจดจำคำศัพท์ใหม่ๆ ขณะที่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ให้ลูกนั่งบนตัก จับมือลูกชี้ไปตามรูปภาพ ฝึกความเชื่อมโยงรูปภาพกับวิธีเล่า รวมถึงน้ำเสียงและท่าทีมีส่วนทำให้ลูกมีสมาธิจดจ่อกับเสียงกับเรื่องราวในนิทานที่แม่กำลังเล่า
ร้องเพลง ร้องเพลงเป็นวิธีหนึ่งค่ะที่คล้ายการเล่านิทาน แต่จะสนุกและทำให้ลูกจดจำได้ง่ายขึ้น ด้วยจังหวะของทำนองเพลง เสียงสูงเสียงต่ำของแม่ ส่งเสริมเรื่องคำศัพท์จากคำคล้องจองในเนื้อเพลง ช่วยให้จดจำเพลงได้ง่าย
กระบวนการสร้าง EF จำเป็นต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ ซึ่งในช่วงแรกบทบาทของพ่อแม่จึงสำคัญที่สุดที่จะดูแลให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ และมั่นคงทางจิตใจ รวมถึงได้รับโภชนาการที่ดี ได้นอนอย่างเพียงพอและได้เล่นสนุกตามวัย เมื่อพัฒนาทักษะ EF อย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นและสร้างประสบการณ์ที่ท้าทายมากขึ้น จากประสบการณ์ก็จะกลายเป็นนิสัย เป็นบุคลิก สามารถคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่รวมกับคนอื่นเป็น ตลอดจนสามารถนำพาชีวิตให้บรรลุตามเป้าหมายได้สำเร็จ
วัย 0-1 ปี เป็นวัยที่ต้องได้รับการตอบสนองทันที เมื่อได้รับการตอบสนองที่ดี ลูกจะมีอารมณ์มั่นคง เมื่อก้าวเข้าสู่วัย 1 ปี ก็จะเริ่มพัฒนาความสามารถเรื่องการตั้งเป้าหมาย พัฒนาความคิดได้ดี มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ และพัฒนาการใช้ภาษาได้ดีขึ้น ซึ่งการใช้คำพูด จะเป็นพื้นฐานให้เด็กๆ ได้คิดและฝึกการวางแผนที่ดีด้วย
กิจกรรมกระตุ้นทักษะ EF
1. ทำเสียงอ้อแอ้ลูกน้อยวัย 4 เดือน เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ ให้แม่ส่งเสียงโต้ตอบ พูดคุยกับลูก โดยทำเสียงแปลกๆ ให้ลูกสนใจฟัง และหันตามเสียงนั้น
พัฒนา EF: Working Memory ...การสนทนาโต้ตอบไปมา จะช่วยให้สมองสร้างเซลล์ประสาทเชื่อมต่อกันมากขึ้น เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ภาษาและการสื่อสารได้ดี
2. ขยับแข่งขยับขา พาเต้นรำ แม้ลูกจะยังพูดหรือเดินไม่ได้ ลองเปิดเพลงเบาๆ แล้วอุ้มลูกเต้นรำหมุนตัวไปมา หรือจับแขนลูกยกไปมาตามจังหวะเพลง จะช่วยให้ร่างกายลูกได้เคลื่อนไหว ได้บริหารกล้ามเนื้อไปด้วย
พัฒนา EF: Working Memory และ Focus/Attention...การที่ลูกได้เคลื่อนไหวร่างกาย มีความสนใจเสียง และจังหวะดนตรี จะเป็นพื้นฐานการฟังเสียง และส่งเสริมทักษะการอ่านในอนาคตได้ดี
3. จ๊ะเอ๋ ของอยู่นี่ลูกวัย 6-7 เดือน เริ่มนั่งและคืบคลานได้ ให้ลูกได้คว้าจับสิ่งของหรือของเล่นชิ้นโปรดด้วยตัวเอง หรือเล่นซ่อนของ โดยเอาของเล่น หรือใช้มือแม่ซ่อนใต้ผ้าห่ม ให้ลูกลองหา เมื่อลูกเจอก็พูดว่า “จ๊ะเอ๋” ลูกจะรู้สึกแปลกใจ และสนุก
พัฒนา EF:Working Memory และ Shift Cognitive Flexibility...การนำของไปซ่อน และหาเจอจะทำให้ลูกได้เรียนรู้ถึงการมีสิ่งของนั้น รับรู้ว่าสิ่งของนั้นมีอยู่จริง เป็นการพัฒนาความจำของ
4. พูดคุยถึงสภาพอากาศ ก่อนนอนชวนลูกพูดคุยถึงสภาพอากาศในวันนี้ และเรื่องราวต่างๆ ที่พ่อแม่เจอมาให้ลูกฟัง เช่น วันนี้ฝนตก อากาศเย็น แม่จะห่มผ้าให้นะจ๊ะ มีการสื่อสารโต้ตอบกัน ลูกจะสนใจฟังเสียงแม่
พัฒนา EF: Working Memory...การเล่าเรื่องราวต่างๆ ของแม่ จะทำให้ลูกเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ พัฒนาทักษะการสื่อสาร และช่วยให้สมองมีการจดจำที่ดีมากขึ้น
5. ต้องตอบสนองความต้องการของลูกได้ แม่ควรเตรียมของใช้ทุกอย่างของลูกให้พร้อม เวลาที่ลูกมองตาม หรือส่งเสียงร้องไห้ ต้องเข้าไปตอบสนองความต้องการ และสังเกตว่าลูกต้องการอะไร หรือคอยส่งเสียงเรียกอยู่ตลอด เพื่อให้ลูกรู้ว่าแม่ไม่ได้ไปไหน อยู่ใกล้ๆ นี่เอง
พัฒนา EF:Emotional Control...การตอบสนองความต้องการของลูก จะช่วยให้ลูกมีอารมณ์มั่นคง มั่นใจ อารมณ์ดี รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี รู้จักยั้งคิดและไตร่ตรองสิ่งต่างๆ ก่อนลงมือทำได้
6. ทำเสียงตลก ขบขัน ขณะที่เปลี่ยนผ้าอ้อม เปลี่ยนเสื้อให้ลูก หวีผม เช็ดตัว อาบน้ำ ขณะที่ทำนั้นลองทำเสียงตลกๆ หรือทำเสียงแปลก ให้ลูกได้ยิ้มและหัวเราะ โดยองหน้าและพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนไปด้วย
พัฒนา EF:Working Memory...การพูดคุย และมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันนั้น จะกระตุ้นให้เซลล์ประสาททำงานได้ดี พัฒนาความจำ และทักษะด้านภาษาได้ดี
กิจกรรมของลูกวัย 0-1 ปีนี้ จะกระตุ้นทักษะด้าน Working Memory ได้ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนา EF ด้านอื่นๆ ได้ดีต่อไปค่ะ
Working memory คือความจำที่นำมาใช้งาน หรือ ความสามารถในการเก็บประมวล และดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองออกมาใช้ตามสถานการณ์ที่ต้องการ เช่น การทำอาหาร การคิดเลขในใจ การเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ ฯลฯ
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึก Working Memory ให้ลูกได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
1. ทำอาหารร่วมกัน
สอนให้ลูกรู้จักวัตถุดิบต่าง เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ เครื่องปรุงต่างๆ พาลูกไปจ่ายตลาดเพื่อให้เห็นของที่หลากหลายและแยกเป็นหมวดหมู่ และรู้จักรอคอย เช่นรอจ่ายเงินหรือรอให้พ่อแม่ซื้อของให้เสร็จ จากนั้นคือขั้นตอนของการทำอาหาร ที่ลูกจะได้เห็นแต่ละขั้นตอน ทำอะไรก่อนหลัง และอดใจรอเมื่ออาหารเสร็จแล้ว
2. พาลูกไปเจอสัตว์เป็นๆ และอยู่กับธรรมชาติ
เด็กๆ มักจำสิ่งที่เป็นของจริงได้มากกว่าเห็นแค่รูปภาพหรือภาพในทีวี การให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์จริง จะทำให้เขาจำเรื่องเล็กน้อยๆ ลักษณะพิเศษของสิ่งๆ นั้นได้มากกว่า ทั้งจำได้ถึงประสบการณ์ร่วมของตัวเอง พ่อแม่ และสิ่งที่พบเจอได้ด้วย
3. เบี่ยงเบนความสนใจเวลาที่ลูกอารมณ์ไม่ดี
เช่น ขณะแม่ขับรถอยู่ และลูกนั่งในคาร์ซีท หากลูกอารมณ์ไม่ดีร้องไห้งอแงจะออกจากคาร์ซีท พ่อแม่อาจชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งต่างๆ รอบตัว ให้นับ 1 – 10 ให้นับเสาไฟ ให้นับนกที่บินผ่าน หรือแม้แต่บอกสีรถคันที่ขับผ่านมา จะช่วยให้ลูกเกิดความยับยั้งชั่งใจ ทั้งช่วยตอกย้ำความจำในเรื่องต่างๆ ได้ด้วย
4. ให้ลูกเรียนรู้จากความผิดพลาด
เช่น พ่อแม่ห้ามลูกไม่ให้กระโดดลงจากม้านั่ง เตือนแล้วว่าถ้ากระโดดลงมาแล้วล้ม เจ็บแล้วจะไม่มีคนโอ๋ หากลูกยังดึงดัน พ่อแม่ก็ต้องทำตามที่พูด ลูกจะเรียนรู้ด้วยตัวเองถึงผลของการกระทำของตัวเอง แต่ต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ
5. ปล่อยให้ลูกรู้จักการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
การขอร้องให้ลูกช่วยเรื่องต่างๆ หรือสร้างสถานการณ์ เพื่อสร้างโอกาสให้ลูกรู้จักและฝึกแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาของลูกในสถานการณ์ที่เหมือนกันนั้น อาจเหมือนหรือแตกต่างกันไปในแต่ละครั้งได้
6. ให้ลูกฝึกคิดเลขได้มากกว่าการคิดเลข
การซื้อของไปแจกเพื่อนๆ ในห้อง อาจจะได้มากกว่าแค่ถามลูกว่าเพื่อนมีกี่คน ต้องซื้อของกี่ชิ้นจึงจะพอ เช่น ขนมมีซองละ 5 ชิ้น ในห้องรวมลูกแล้วมี 21 คน ลูกจะมี 2 ทางเลือก ว่าจะซื้อ 4 ซอง 20 ชิ้น หรือ 5 ซอง 25 ชิ้น ลูกอาจจะบอกว่าซื้อแค่ 4 ซองพอ เขาไม่กินก็ได้ เสียสละให้เพื่อน นอกจากจะได้เรื่องคณิตศาสตร์ ยังแสดงให้เห็นว่าลูกคิดอะไรอยู่อีกด้วย
7. ฝึกความจำด้วยกิจกรรม 3 อย่าง
ให้ลูกลองทำภารกิจ เช่น ให้ลูกไปเอาน้ำในตู้เย็น ขนมในถุง และกระดาษทิชชู่ แล้วคอยดูว่าลูกจะเอามาให้ได้ทั้งหมดหรือไม่ นอกจากลูกจะต้องจำภารกิจให้ครบหมดแล้ว ยังต้องรู้จักวางแผนให้การเดินไปเอาด้วยว่า จะหยิบอะไรก่อนหลัง หรือถือแค่สองมือไม่พอ ต้องเอามาวางก่อนแล้วกลับไปเอาอีกที เป็นต้น
8. สร้างเงื่อนไขสร้างนิสัยดี
เด็กวัยนี้หากอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ดั่งใจ มักมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธ และโมโห พ่อแม่ควรสร้างเงื่อนไขที่แก้ไขอารมณ์ลูก และสร้างนิสัยดีไปพร้อมๆ กันได้ เช่น แม่กำลังล้างจานอยู่ แต่ลูกจะให้แม่หยิบขนมให้ แม่ยังหยิบไม่ได้ เลยบอกลูกว่าให้ลูกรอแม่ล้างจานเสร็จก่อน และต้องพูดเพราะๆ กับแม่ด้วย ถ้าลูกยังดื้อไม่ทำตาม แม่ก็ล้างจานต่อไป เมื่อไหร่ที่ลูกยอมทำตามเงื่อนไขของแม่แล้ว ลูกก็จะได้เรียนรู้จักหักห้ามใจตัวเอง และทำตามเงื่อนไขที่วางไว้ด้วย
ทักษะการยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง(Inhibitory Control) คือความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เด็กที่ขาดความยับยั้งชั่งใจจะเหมือน "รถที่ขาดเบรก" อาจทำสิ่งใดโดยไม่คิด มีปฏิกิริยาในทางที่ก่อให้เกิดปัญหาได้
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกให้รู้จักยับยั้งชั่งใจได้ง่ายๆ ผ่านกิจวัตรประจำวันดังนี้
1. สอนลูกเข้าคิว และรู้จักอดทนรอคอย การเข้าคิวเป็นพื้นฐานของระเบียบวินัย แถมยังฝึกให้ลูกรู้จักลำดับก่อนหลัง รู้จักสิทธิ์ของตนเองและเคารพในสิทธิ์ของผู้อื่น การเข้าคิวรอไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ ซื้อของ จ่ายเงิน รอรับของ รอเข้าสวนสนุก ฯลฯ เหล่านี้ล้วนฝึกความอดทนรอคอย ให้แก่ลูก
2. สอนลูกให้เคารพกฎกติกาลูกอาจจะยังเล็กเกินที่จะเรียนรู้กฎหมายบ้านเมือง แต่เรื่องใกล้ตัวเช่น กฎระเบียบในบ้าน กฎที่โรงเรียน หรือแม้แต่ข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นสิ่งสำคัญ ลูกจะละเมิดหรือเพิกเฉยไม่ได้ เช่น ถ้าลูกไม่ยอมกินข้าวตามเวลา หลังอาหารมื้อนั้นเสร็จแล้วพ่อแม่ต้องเก็บทุกอย่างไว้ และให้ลูกรอจนกว่าจะถึงเวลาอาหารมื้อต่อไป หรือถ้าไปเดินห้างสรรพสินค้า พ่อแม่ตกลงกับลูกว่าสามารถซื้อของเล่นได้เพียง 1 ชิ้น พ่อแม่ก็ต้องยืนยันกับลูกว่า 1 ชิ้นเท่านั้น ถ้าลูกร้องจะเอาเพิ่ม จะพากลับบ้านทันที ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกรู้จักระงับความรู้สึกของตนเอง
3. ให้ลูกช่วยทำงานบ้านการทำงานบ้านนอกจากจะฝึกความรับผิดชอบของเด็กแล้ว ยังช่วยฝึกความอดทน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการยับยั้งชั่งใจด้วย
4. ควบคุมการใช้โซเชียล โดยเฉพาะคลิปวิดีโอในชาแนลต่างๆ ที่อาจแฝงเรื่องความรุนแรง คำหยาบคาย หรือพฤติกรรมของผู้ใหญ่บางคนที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเด็กยังไม่มีวิจารณญาณ เพราะฉะนั้นการปล่อยให้ลูกใช้โซเชียลมีเดียตามลำพังอาจเกิดผลเสียได้ ซึ่งวิธีควบคุมการใช้สื่อโดยเฉพาะ YouTube เดี๋ยวนี้มี YouTube Kids แล้วค่ะ ช่วยให้การดูวิดีโอของเด็กปลอดภัยมากยิ่งขึ้น (ทำความรู้จัก YouTube Kids)
5. ปลูกฝังลูกเป็นผู้ให้ ผู้ให้ย่อมเป็นผู้ที่ถูกรัก การให้เป็นการส่งความสุข ซึ่งลูกไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของหรือเงินทอง เพียงแค่มีความรู้สึกปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังละความสามารถของตน
6. รู้จักคุณค่าในสิ่งต่างๆ เพราะทุกอย่างย่อมมีคุณค่าในตัวเอง ทั้งของเล่นของใช้พ่อแม่ไม่ควรซื้อให้ลูกมากจนพอดี เพราะอาจทำให้ลูกไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มี ในวันหยุดอาจจะชวนลูกรดน้ำต้นไม้รอบบ้าน แล้วอธิบายความสำคัญของต้นไม้ให้ลูกฟัง เช่น “ต้นไม้ต้นนี้ช่วยกันแดด ให้ร่มเงาทำให้หนูไม่ร้อน หนูต้องช่วยพ่อแม่ดูแลต้นไม้นะ” เป็นต้น
7. พูดขอบคุณและขอโทษบ่อยๆ การขอบคุณเมื่อมีผู้อื่นหยิบยื่นไมตรีให้เราเป็นเรื่องที่พึงกระทำ และการขอโทษกับสิ่งที่ผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย พ่อแม่ควรพูดขอบคุณลูกที่ช่วยทำงานบ้าน และควรกล่าวขอโทษเมื่อทำผิดต่อลูก เป็นต้น
8. นั่งสมาธิฝึกสติ การนั่งสมาธินอกจากจะฝึกจิตใจให้สงบแล้ว สมาธิยังช่วยควบคุมความคิดและอารมณ์ของเด็กๆ ได้อีกด้วย
การจะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดีมี EF โดยหลักแล้วพื้นฐานจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่มักจะส่งผลต่อลูกโดยตรง เพราะฉะนั้นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรให้ลูกตั้งแต่เด็กๆ และตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสม จะทำให้เขาเติบโตเป็นเด็กที่มองโลกในแง่ดี มีการยับยั้งชั่งใจ รู้จักคิดไตร่ตรอง (Inhibit Control) และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ค่ะ
ความคิดของคนเรามาจากสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมความคิด ที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของอารมณ์เชิงบวกและลบ โดยความคิดของเราจะเป็นแบบไหนนั้นไม่ได้มาจากพันธุกรรม เพราะคนเราไม่ได้คิดเป็นตั้งแต่เกิด แต่ต้องมีพัฒนาการด้านต่างๆ ก่อน แล้วจึงเกิดเป็นความคิดตามมาในภายหลัง
ความคิดเชิงบวก หรือ Positive Thinking มีความสำคัญกับชีวิตเพราะเด็กจะคิดเชิงบวกได้ต้องเอาชนะกับอารมณ์และความคิดเชิงลบที่ตนเองมีอยู่ให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องปลูกฝัง เพราะถ้าเด็กๆ มีความคิดเชิงบวก ก็จะทำให้อารมณ์และพฤติกรรมเป็นไปในทางบวกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อตนเอง คนรอบข้าง ครอบครัวและสังคมจากการลงมือปฏิบัติตามความคิดนั้นค่ะ
พ่อแม่สามารถปลูกฝังลูกให้มีความคิดเชิงบวกได้ดังนี้
1. สร้างครอบครัวให้อบอุ่นเมื่อพ่อแม่ให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ พร้อมเสมอที่จะโอบอุ้มและดูแลลูก ตอบสนองลูกอย่างถูกต้องและเพียงพอ โดยสามารถปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในวัยขวบแรก ซึ่งเป็นวัยที่ต้องปูพื้นฐานเรื่องความมั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึกว่าตนเองมีค่า มีความปลอดภัยในชีวิต
ลูกขวบแรกจะมีอารมณ์มากมาย พ่อแม่ต้องตอบสนองอารมณ์ต่างๆ ของลูกด้วยความคิดในเชิงบวก หรือความคิดที่เข้าใจลูก และต้องตอบสนองอย่างเหมาะสม เมื่อลูกมีความมั่นคงทางอารมณ์ มั่นใจในตัวเอง ก็สามารถต่อยอดได้ในเรื่องความคิดในเชิงบวกได้ง่ายขึ้นค่ะ
2. เล่นกับลูก ไม่ว่าจะเป็นลูกวัยไหน การที่พ่อแม่เข้าไปเล่นกับลูก จะเป็นการแสดงออกถึงความคิดบวกต่อการเล่นของลูก เพราะสีหน้าท่าทาง น้ำเสียงของพ่อแม่เวลาที่เล่นกับลูกจะเป็นบวก ทำให้ลูกรู้สึกได้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มีค่าและได้รับความสนใจจากพ่อแม่
และควรให้ลูกได้เล่นแบบ free play และเล่นตามจินตนาการ โดยมีการพบว่า เด็กที่มีความคิดยืดหยุ่นจะต้องผ่านการเล่นที่มีอิสระ เพราะในโลกของจินตนาการจะมีการลื่นไหลทางความคิด ทำให้สมองเด็กมีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดค่ะ
3. สอนบนพื้นฐานของความจริง คือ พยายามเน้นให้ลูกได้เห็นสภาพความเป็นจริง ถ้าใส่ความคิดที่เป็นบวกได้ ก็ใส่ไปด้วย แต่ต้องไม่ใช่การคิดบวกแบบโอเวอร์หรือไม่ใช่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะถ้าคิดบวกแบบเกินจากข้อเท็จจริงก็มีโอกาสที่จะผิดหวัง และมีโอกาสที่จะแย่กว่าเดิมก็ได้ค่ะ
4. ให้ความรักในแบบที่ถูกต้อง ไม่ใช่การเลี้ยงดูด้วยเงินหรือเลี้ยงแบบตามใจ แต่ต้องฝึกให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการชี้แนะของพ่อแม่ ให้ลูกได้เรียน รู้ถึงความผิดหวัง ในวันที่ยังมีพ่อแม่คอยชี้แนะ สอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะสร้างกำลังใจให้ตนเอง สร้างกำลังใจให้ผู้อื่น
5. ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น โดยต้องมีความอดทน ขยัน มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อกับอุปสรรค ตั้งแต่เล็กๆ ผ่านการซึบซับไปทีละเล็กทีละน้อย ตอนเล็กๆ อาจเริ่มสอนจากนิทานสำหรับเด็ก กระตุ้นให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเอง เช่น ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเอง ชวนมาทำงานบ้านง่ายๆ ด้วยกัน เพื่อให้ลูกรู้ว่าเขาสามารถทำได้
6. พยายามเต็มที่ & รู้จักปล่อยวาง สอน ให้ลูกพยายามทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ และถ้าตั้งใจทำก็จะทำสำเร็จ แต่อยู่บนพื้นฐานของการทำเท่าที่จะทำได้ตามความสามารถของลูก เพื่อเป็นการไม่กดดันลูกและไม่ให้ลูกรู้สึกเครียด
7. สอนให้เข้าใจคนอื่น เช่น ลูกวัยอนุบาลโดนเพื่อนแกล้ง ก็บอกลูกว่าเพื่อนอาจจะยังเด็กอยู่ยังไม่รู้เรื่อง หรือเพื่อนอาจจะไม่ได้ตั้งใจ หนูโตแล้วเข้าใจแล้วว่าเพื่อนกันต้องรักกัน ไม่แกล้งกัน ไม่ต้องโกรธเพื่อน
8. ไม่หนีปัญหา ให้ลูกได้เจอปัญหาและฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่คอยชี้แนะและสอนให้เข้าใจว่าทุกคนล้วนต้องเจอปัญหาทั้งนั้น แต่เราต้องอดทนและหาทางแก้ไขปัญหา ให้ลูกมองปัญหาเป็นเรื่องปกติ ที่จะต้องหาทางแก้ไข แล้วลุกขึ้นสู้ เช่น ยกตัวอย่างปัญหาที่พ่อแม่เจอ เพื่อให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง ว่าเวลามีปัญหาพ่อแม่ก็ต้องแก้ไขโดยไม่ย่อท้อเหมือนกัน เป็นต้น
9. ใช้คำพูดดีๆพ่อแม่ต้องเป็นผู้ให้พรอันประเสริฐกับลูกค่ะ ทุกคำที่พูดกับลูกต้องเป็นมงคลแก่ชีวิตลูก โดยเฉพาะการให้กำลังใจและให้ความคิดเชิงบวก เช่น “ลูกต้องทำได้” หรือ ”พ่อกับแม่เชื่อว่าถ้าลูกตั้งใจทำ อะไรก็สบายอยู่แล้ว” เป็นต้น
การปลูกฝังให้ลูกมีความคิดเชิงบวกสามารถทำได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ค่ะ โดยและพ่อแม่ก็ควรทำให้การคิดบวกนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน เพื่อให้ลูกเกิดความเคยชินค่ะ
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF" ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG