ทักษะสมอง EF พัฒนาได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นค่ะ และจะพัฒนาได้ดียิ่งขึ้นหากได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยชี้ว่า EF เริ่มพัฒนาขึ้นในเวลาไม่นานหลังปฏิสนธิ กลไกของการพัฒนาทักษะ EF ด้านต่างๆ ในแต่ละช่วงวัย เช่น Working Memory จะพัฒนาตอนอายุ 6 เดือน ส่วน Inhibition พัฒนาช่วงขวบปีที่สอง และจะพัฒนาได้มากขึ้นในช่วง 3-6 ปี
คุณพ่อคุณแม่ควรเน้นฝึกทักษะเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงขวบปีแรก ผ่านการเล่น การเลี้ยงดู การจัดสิ่งแวดล้อม รวมถึงกิจกรรมต่างๆ จึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาส่งเสริมทักษะ EF ให้เจ้าตัวเล็กวัยขวบปีแรก
1.กินดี จุดเริ่มต้นพัฒนาการสมอง
การพัฒนาสมองของทารกในวันแรกของชีวิตนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงต้องอาศัยสารอาหาร ร่วมไปกับการเรียนรู้ในการพัฒนาโครงสร้างและการทำงานของสมองให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งสารอาหารที่ครบถ้วนเหมาะสมตามช่วงวัย มีช่วยให้สมองและร่างกายของลูกได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นฐานสำคัญเพื่อต่อยอดการฝึกฝนทักษะ EF ให้มีศักยภาพมากขึ้น
ดื่มนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และหลังอายุ 7 เดือนสามารถกินนมแม่กับอาหารเสริมตามวัยจนถึง 2 ขวบ โดยเริ่มด้วยข้าวบดทีละน้อย จากนั้นค่อยเป็นอาหารหยาบและหลากหลายขึ้น เช่น ข้าวบดหยาบ ผักบดและผลไม้บด
กินอาหารที่ครบถ้วน 5 หมู่ เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการร่างกายและพัฒนาการสมอง ทั้งโปรตีน วิตามิน ดีเอชเอ โอเมาก้า ธาตุเหล็ก แคลเซียม ไอโอดิน และแร่ธาตุต่างๆ ที่ดี ซึ่งกระบวนการพัฒนาสมองและการพัฒนาทักษะ EF ที่ดีขึ้นอยู่กับโภชนาการที่เหมาะสมด้วยค่ะ
สัมผัสและสัมพันธ์ระหว่างกินนม ให้คุณแม่อุ้มลูกแนบชิดตัว สบตา พูดคุย เห่กล่อมด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน ลูกจะรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาทักษะ EF ที่ดีเมื่อโตขึ้น
ฝึกลูกรอคอยระหว่างกิน เมื่อถึงวัยอาหารเสริมให้ลูกได้ลองกลืนอาหารจากช้อน คุณพ่อคุณแม่ร่วมกินอาหารกับลูก ฝึกให้ลูกรู้จักรอคอยบ้างระหว่างการกิน เพื่อฝึกการยับยั้งชั่งใจ
หยิบอาหารด้วยตัวเอง เมื่อเข้าสู่วัย 10-12 เดือน คุณพ่อคุณแม่ใช้โอกาสนี้ฝึกลูกให้หยิบอาหารใส่ปากเอง หรือให้ดื่มน้ำจากถ้วย นอกจากช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้รู้จักทักษะการช่วยเหลือตัวเองด้วยค่ะ
2.นอนเพียงพอ เพิ่มพลังสมอง
ช่วงที่ลูกนอนหลับสนิทตลอดคืน คือช่วงเวลาที่สมองจะพัฒนาเต็มที่ เมื่อสมองพร้อมลูกก็สามารถต่อยอดการเรียนรู้ในทุกๆ วันได้ดียิ่งขึ้น
นอนเพียงพอตามวัย ช่วงวัย 0-3 เดือนลูกควรได้นอนอย่างเพียงพอ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน และตั้งแต่ 4 เดือน- 12 เดือน ควรเริ่มฝึกให้ลูกงดนมมื้อดึก เพื่อให้นอนตอนกลางคืนได้นานขึ้นรวมวันละ 12- 15 ชั่วโมง และนอนกลางวัน 2 ครั้งต่อวัน
จัดที่นอนของลูกให้เป็นสัดส่วน แต่ยังอยู่ในห้องเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ได้ ห้องนอนควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก ป้องกันการเกิดภูมิแพ้จากอากาศและฝุ่นละออง ไม่เปิดไฟให้แสงไฟสว่างเกินไป เพราะการนอนหลับสนิมตลอดคืน เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสร้างฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (Growth Hormone)
แยกห้องนอน วัย10-12 เดือน หากคุณแม่จะแยกห้องนอนลูก ควรอยู่เป็นเพื่อนลูกในห้องนอนก่อน ชวนพูดคุย อยู่เพื่อสร้างความคุ้นเคย สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ให้ลูกค่อยๆ ปรับได้ในที่สุด
หลับลึก กระตุ้น EF การนอนกลางคืนเป็นช่วงที่สำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตทางสมอง เพราะร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมองในการเรียนรู้ จดจำ เป็นรากฐานเพื่อพัฒนาและฝึกฝนทักษะ EF ต่อไป
3.กอดสร้างรักและผูกพัน
ความใกล้ชิดและอ้อมกอดของแม่คือความทรงจำแรกที่บันทึกไว้ในสมองของลูกค่ะ ทักษะ Working memory จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วัยทารก และจะพัฒนาเป็นความผูกพัน(attachment) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทักษะ EF
อุ้ม-กอดสร้าง attachment วัยนี้คุณแม่ควรหมั่นอุ้มกอด สัมผัสลูกอย่างอ่อนโยน หรือสบตาระหว่างให้นม เพราะสมองลูกจะรับรู้ข้อมูลที่คุ้นเคย จนเกิดการเรียนรู้อารมณ์ต่างๆ ผ่านความใกล้ชิดและการตอบสนองจากแม่ ซึ่งความผูกพันนี้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะ EF อย่างได้ผลในอนาคนต
ตอบสนองลูกไว ทำเสียงหรือทำหน้าตาให้ลูกสนใจ ตอบสนองต่อท่าทางที่แสดงถึงความต้องการของลูก จะช่วยให้เด็กมีฐาน ความมั่นคงในจิตใจ ในการจะก้าวต่อไป สู่การพัฒนา EF ในระดับสูงขึ้นไป
สังเกตพฤติกกรรมลูก คอยสังเกตพฤติกกรรมที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของทักษะสมอง EF เช่น ลูกมีการหยุดคิดและตอบสนองหน้าตาหรือน้ำเสียงแม่ เริ่มมองดูผู้คนที่รู้จัก ไม่สนใจสิ่งที่ทำให้เสียสมาธิ
4.เล่น = เรียนรู้
การเล่นคือการสร้าง EF ให้เด็กที่ได้ผลดี โดยผ่านกระบวนการเล่นแบบมีอุปกรณ์และไม่มีอุปกรณ์ โดยเฉพาะวัยขวบปีแรก ไม่ต้องพึ่งของเล่นราคาแสนแพง แค่ได้เล่นกับพ่อและแม่ ทักษะ EF ก็เกิดตั้งแต่เริ่มเล่นแล้วค่ะ
ใช้ใบหน้าเล่นกับลูก พูดคุยหยอกล้อและเล่นกับลูก ให้มองตามหน้าพ่อแม่ หรือเคลื่อนของเล่นสีสดใสไปมา กระตุ้นการใช้สายตา รู้จักแยกแยะสี สามารถจดจำใบหน้าและเสียงของพ่อแม่ได้
ให้ลูกได้เล่นคนเดียวบ้าง ให้ลูกพลิกตัวคว่ำ-หงาย ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย หรือใช้ของเล่นชิ้นใหญ่ ล่อให้ลูกขยับคว้า ให้ได้ใช้มือคว้า หยิบจับ และปล่อยของเล่น
ฝึกเล่นแก้ปัญหา ฝึกให้ลูกเล่นนิ้วมือ เช่น จับปูดำ แมงมุมลาย
ให้ลูกมีโอกาสเลือกเล่นเอง จัดวางของเล่นให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ลูกได้ฝึกหยิบและฝึกการเก็บของเล่นเอง
5.เล่าสนุก กระตุก EF
การเล่านิทานหรือร้องเพลงกับเด็กๆ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยพัฒนาอารมณ์ จิตใจให้ร่าเริง มีสมาธิ ซึ่งถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ดีในการพัฒนา EF ที่ได้ผล
ใช้เสียงสูงเสียงต่ำ วัย 0-3 เดือน ยิ้มสื่อสาร พูดคุย ท่องโคลง กลอน เล่าหรืออ่าน นิทานกับลูกโดย พูดคุยช้าๆ ชัดๆ ใช้เสียงสูงเสียงต่ำ มีจังหวะหยุดให้ลูก ยิ้มหรือส่งเสียงตอบ
ชวนเล่าชวนคุยถึงสิ่งรอบตัว เพื่อให้รู้จักคำศัพท์จากสิ่งรอบตัว และให้รู้จักคำศัพท์ที่แสดงความต้องการของตนเอง เพราะช่วง 4-12 เดือน เป็นช่วงที่สมองเด็กสามารถเรียนรู้ได้ หลายภาษา รวมถึงภาษาถิ่นด้วย
เล่านิทาน สร้าง EF การอ่านช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษา ฝึกการได้ยิน ลูกจะได้รู้จักภาษาและจดจำคำศัพท์ใหม่ๆ ขณะที่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ให้ลูกนั่งบนตัก จับมือลูกชี้ไปตามรูปภาพ ฝึกความเชื่อมโยงรูปภาพกับวิธีเล่า รวมถึงน้ำเสียงและท่าทีมีส่วนทำให้ลูกมีสมาธิจดจ่อกับเสียงกับเรื่องราวในนิทานที่แม่กำลังเล่า
ร้องเพลง ร้องเพลงเป็นวิธีหนึ่งค่ะที่คล้ายการเล่านิทาน แต่จะสนุกและทำให้ลูกจดจำได้ง่ายขึ้น ด้วยจังหวะของทำนองเพลง เสียงสูงเสียงต่ำของแม่ ส่งเสริมเรื่องคำศัพท์จากคำคล้องจองในเนื้อเพลง ช่วยให้จดจำเพลงได้ง่าย
กระบวนการสร้าง EF จำเป็นต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ ซึ่งในช่วงแรกบทบาทของพ่อแม่จึงสำคัญที่สุดที่จะดูแลให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ และมั่นคงทางจิตใจ รวมถึงได้รับโภชนาการที่ดี ได้นอนอย่างเพียงพอและได้เล่นสนุกตามวัย เมื่อพัฒนาทักษะ EF อย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นและสร้างประสบการณ์ที่ท้าทายมากขึ้น จากประสบการณ์ก็จะกลายเป็นนิสัย เป็นบุคลิก สามารถคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่รวมกับคนอื่นเป็น ตลอดจนสามารถนำพาชีวิตให้บรรลุตามเป้าหมายได้สำเร็จ