แม้การรักษาเด็กพิเศษในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่จะยังไปไม่ถึงระดับการรักษาให้หายขาดจากตัวโรค แต่ก็มีความพยายามของแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ เภสัชกร นักวิจัย รวมไปถึงวิศวกร ในการคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ในการรักษาเด็กพิเศษให้อาการดีขึ้นหรือแม้แต่ทำให้หายจากอาการที่เป็นอยู่
แม้การรักษาเหล่านี้โดยส่วนมากจะยังไม่ใช่การรักษามาตรฐาน แต่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองก็อาจจะพอเคยได้ยินชื่อมาบ้าง บทความนี้หมอก็เลยจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการรักษาใหม่ ๆ ที่อาจจะนำมาใช้กับเด็กพิเศษในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นอีกไม่นานก็เป็นได้
ปัจจุบันมีความพยายามในการผลิตยารุ่นใหม่ที่ให้ผลการรักษาที่ดีขึ้นและผลข้างเคียงน้อยลงอยู่พอสมควร แม้ในปัจจุบันจะมียารักษาเด็กพิเศษอยู่หลายชนิด แต่ก็ยังมีปัญหาในการใช้งานอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วง หรือผลข้างเคียงที่ทำให้เบื่ออาหารในยาบางชนิด รวมไปถึงกลไกการออกฤทธิ์ที่อาจจะไม่ตรงกับพยาธิสภาพของตัวโรคเท่าใดนัก เนื่องจากต้องยอมรับว่ายาที่ใช้กับเด็กพิเศษ ส่วนหนึ่งก็เป็นยาที่ผลิตโดยมีจุดมุ่งหมายในเบื้องต้นเพื่อรักษาโรคของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรคจิตเภทหรือโรคซึมเศร้า ไม่ได้เจาะจงมาใช้กับเด็กโดยตรง
อย่างไรก็ดี ได้มีความพยายามในการผลิตยาใหม่ ๆ ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ในตำแหน่งของสมองที่แตกต่างจากเดิม และมีความจำเพาะต่อตัวโรคของเด็กพิเศษมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีผลข้างเคียงน้อยลงด้วย ก็หวังว่ายาเหล่านั้นจะออกมาสู่ท้องตลาดให้คุณหมอทั้งหลายได้ใช้กันในอีกไม่ช้า และมีราคาไม่แพงจนเกินไปนัก
หลายท่านคงจะเคยได้ยินเรื่องของเซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคต่าง ๆ กันมาบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของความสวยงามและการป้องกันริ้วรอยความชรา แต่ในบทความนี้จะขอเน้นที่ การรักษาในกลุ่มเด็กพิเศษ ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดสามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคทางพันธุกรรมให้หายขาดแล้วหลายโรค เช่น โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคขาดเอนไซม์บางอย่าง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การรักษาดังกล่าวในกลุ่มเด็กพิเศษโดยทั่วไปยังคงมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากตัวโรคของเด็กพิเศษมักจะไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของยีนใดยีนหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลร่วมระหว่างการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งอาจจะมีได้หลายชนิดกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดู สภาพสังคม เป็นต้น การจะแก้ไขยีนที่กลายพันธุ์เพียงอย่างเดียวโดยหวังผลให้อาการหายจึงเป็นเรื่องยาก เพราะมีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดในเด็กพิเศษยังมีข้อจำกัดในด้านเทคนิคเกี่ยวกับสมองส่วน ที่เป็นเป้าหมายและระยะของเซลล์ที่ควรจะฉีดในแต่ละโรคอีกด้วย เพราะกลไกการเกิดโรคในกลุ่มเด็กพิเศษยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างชัดเจน
รวมไปถึงเรื่องความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้ ที่อาจจะทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านของร่างกายอย่างรุนแรงหรือในกรณีที่น่ากลัวที่สุด คือ การที่เซลล์เหล่านี้กลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งไป ที่กล่าวมานี้ไม่ได้จะบอกว่าการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเป็นเรื่องอันตรายนะครับ เพียงแต่การนำเทคนิคนี้มาใช้ในเด็กพิเศษยังคงเร็วเกินไป ต้องอาศัยข้อมูลการวิจัยมากกว่านี้อีกมากพอสมควรจึงจะสามารถนำมาใช้ได้ครับ
brain-computer interface หรือเรียกสั้นๆ ว่า BCI หมายถึง การนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยอาศัยการควบคุมจากสมองหรือร่างกายของเราแทนการกดปุ่มคำสั่งตามปกติ เช่น การสั่งเปิดปิดโทรทัศน์ผ่านการกระพริบตา การควบคุมการเคลื่อนที่ของรถเข็นด้วยสมองโดยตรงโดยอาศัยการที่คอมพิวเตอร์จะไปอ่านและทำความเข้าใจรูปแบบคลื่นไฟฟ้าสมองที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปแปลผล ซึ่งในกรณีนี้คือการควบคุมการเคลื่อนที่ของรถเข็น
เทคนิคทางคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะสามารถช่วยบุคคลที่ป่วยด้วยโรคทางระบบประสาท เช่น น้องเด็กพิเศษที่เป็นโรคซีพีในการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือ ในผู้ป่วยโรคความเสื่อมของระบบประสาทสั่งการ ก็จะได้รับประโยชน์โดยตรงในการช่วยด้านการเคลื่อนไหวครับ เพียงแต่เทคโนโลยีดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับการวิจัยหรือใช้ในการรักษาเป็นราย ๆ ไป มากกว่าจะใช้เป็นการรักษามาตรฐาน ซึ่งคงต้องอาศัยเวลา รวมไปถึงการกำหนดนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการรักษาอีกสักพักครับ
เป็นเทคนิคที่ต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อใส่เครื่องไว้ในส่วนของเนื้อสมอง เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองโดยตรง ซึ่งมีการใช้เป็นอย่างมากในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งได้ผลการรักษาที่ดีพอสมควร
การนำเทคนิคนี้มาใช้ในการรักษาเด็กพิเศษอาจจะต้องการข้อมูลการวิจัยอีกเป็นจำนวนมาก เพราะพยาธิสภาพในสมองของเด็กพิเศษเกิดจากสมองที่มีการพัฒนาล่าช้า ไม่ได้เกิดจากสมองโดนทำลายเหมือนในโรคพาร์กินสัน รวมไปถึงต้องอาศัยการผ่าตัดสมอง จึงไม่น่าจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ในกลุ่มผู้ป่วยวัยเด็ก อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการกระตุ้นสมองผ่านกะโหลกศีรษะ คือ ปล่อยกระแสไฟฟ้าหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบนหนังศีรษะโดยไม่ต้องผ่าตัด เพื่อไปกระตุ้นหรือยับยั้งการทำงานของเซลล์ประสาทในส่วนของสมองใหญ่โดยตรง วิธีการดังกล่าวประกอบไปด้วย
การรักษาอาการเด็กพิเศษด้วยการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้ากระแสตรงผ่านกะโหลกศีรษะ (transcranial direct current stimulation หรือ tDCS) และ การกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็กผ่านกะโหลกศีรษะ (transcranial magnetic stimulation หรือ TMS) มีรายงานผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นผลดีของการรักษาด้วยเทคนิคดังกล่าวในกลุ่มเด็กพิเศษอยู่บ้าง แต่การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองผ่านกะโหลกศีรษะเหล่านี้ยังไม่ได้เป็นการรักษามาตรฐาน และอาจจะมีผลแทรกซ้อน เช่น อาการชักเกิดขึ้นได้ จึงต้องอาศัยการวิจัยอีกสักระยะ ซึ่งก็มีหลายหน่วยงานในประเทศของเราที่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเครื่องมือเหล่านี้อยู่ครับ
กล่าวโดยสรุป ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการรักษาใหม่ ๆ เพื่อช่วยเหลือน้องเด็กพิเศษให้มีอาการดีขึ้น หรือการหายจากตัวโรคอยู่ แต่การรักษาเหล่านี้จะยังต้องอาศัยข้อมูลการวิจัยอีกพอสมควร จึงสามารถนำมาใช้งานได้จริงในการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพ แต่ก็ถือเป็นความหวังใหม่ในการรักษา
อย่างไรก็ดี แม้จะมีเทคนิคการรักษาใหม่ ๆ มาใช้ร่วมในการรักษา แต่การฝึกกระตุ้นพัฒนาการและการรักษาด้วยยา (ในเด็กบางราย) ก็ยังคงเป็นวิธีการหลักในช่วยเหลือน้องๆ เด็กพิเศษให้มีพัฒนาการดีขึ้นอยู่ครับ เพราะหากอยากให้สมองฟื้นฟูตรงไหน ก็ต้องใช้งานในส่วนนั้นให้มากขึ้นครับ
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง