Face the fears! เปลี่ยนหนูน้อยขี้กลัวให้เป็นคน 'กล้า' เด็กทุกคนล้วนมีความกลัว เพราะเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาต้องพบเจอกับสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคยมากมาย การไปโรงเรียน และการอยู่ห่างจากพ่อแม่ครั้งแรก หากปล่อยให้เด็กรู้สึกเครียดและวิตกกังวลกับความกลัวเหล่านี้บ่อย ๆ อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้ บทบาทของพ่อแม่อย่างเรา มาช่วยกันเปลี่ยนหนูน้อย 'ขี้กลัว' ให้เป็น 'คนกล้า' กันเถอะ!
คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกสังเกตตัวเองเมื่อรู้สึกกลัว เช่น เมื่อเรากลัว หัวใจของเราจะเต้นเร็วขึ้น หายใจเข้าออกถี่ขึ้น และบางครั้งเราอาจจะมีอาการมือสั่นได้ การอธิบายให้ลูกรู้จักอาการที่เกิดขึ้นจากความกลัวเป็นตัวช่วยสำคัญที่นอกจะทำให้เขารับมือกับความกลัวที่เกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้และเข้าใจกับความกลัวมากขึ้น
โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถบอกลูกได้ว่าการที่หนูกลัวสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้นะ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็กลัวสิ่งเหล่านี้เช่นกัน และยกตัวอย่างว่าเมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้สึกกลัวแล้วมีวิธีจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร
การเปิดโอกาสให้ลูกได้ระบายความกลัวของตัวเองออกมาก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าจะยิ่งทำให้ลูกกลัว หรือยิ่งวิตกกังวลเมื่อพูดมันออกมา แต่การให้เด็กได้ระบายหรือแสดงออก จะทำให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจให้ความช่วยเหลือด้วยการใช้คำถาม เช่น ทำไมหนูถึงกลัวสิ่งนั้นเหรอคะ แล้วกอดหรือปลอบลูกด้วยความเข้าใจ และบอกให้ลูกมั่นใจว่าไม่ว่าจะอย่างไรพ่อแม่จะคอยช่วยเหลือหนูอยู่ตรงนี้เอง การทำแบบนี้จะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น และมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะอยู่กับเขาและเอาชนะความกลัวไปด้วยกัน
เมื่อลูกแสดงออกถึงความหวาดกลัว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงอาการโมโห หงุดหงิด หรือต่อว่าความกลัวของลูกเป็นเรื่องไร้สาระ การพูดลักษณะแบบนี้จะทำให้เด็กรู้สึกว่าความกลัวเป็นเรื่องผิดในสายตาคุณพ่อคุณแม่ อาจทำให้ลูกเลือกที่จะเก็บเรื่องต่างๆ ไว้ในใจ ไม่กล้าบอก และไม่แสดงออกต่อหน้าคุณพ่อคุณแม่อีก
แน่นอนว่าเราอาจจะช่วยให้ลูกหลีกหนีจากความกลัวไปตลอดไม่ได้ ดังนั้นการค่อยๆ ให้ลูกได้ลองเผชิญหน้ากับความกลัวของตัวเองก็เป็นอีกวิธีที่ดีไม่น้อย โดยจะต้องเริ่มจากการเจออย่างผิวเผิน เช่น หากลูกกลัวการลงสระว่ายน้ำ อาจเริ่มจากการให้ลูกค่อยๆ เดินเล่นในสระน้ำตื้นที่ยืนได้ด้วยตัวเองก่อน
สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องระวังที่จะไม่นำสิ่งที่ลูกกลัวมาขู่ซ้ำ ๆ เช่น “ถ้าไม่ไปอาบน้ำหมาจะมากัดนะ” หรือ “ไม่ยอมกินข้าวจะจับไปฉีดยา” เพราะนอกจากไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้ว ยังทำให้ระดับความกังวลของลูกเพิ่มขึ้นไปอีก
วัยเด็กเป็นวัยที่ไวต่อความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ หรือความกลัว การช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ และปลอดภัย เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรมอบให้แก่ลูกเพื่อบรรเทาความกลัวต่าง ๆ ให้ลดลง เพราะเมื่อเด็กมีที่พึ่งทางจิตใจ เขาก็จะมีสภาพจิตใจที่มั่นคงตามไปด้วย ไม่ว่าจะเจอความกลัวรูปแบบใดก็จะสามารถผ่านมันไปได้ด้วยดี แต่ทั้งนี้ควรค่อยเป็นค่อยไป ไม่บังคับและกดดันเด็ก และเมื่อเวลาผ่านไปลูกจะรับมือกับความกลัวได้ดีขึ้นเองค่ะ
ที่มา :