โรคซีพี (CP) เป็นตัวย่อภาษาอังกฤษมาจากคำว่า cerebral palsy อันเป็นโรคหรือภาวะทางสมองในลักษณะหนึ่ง โดยซีพีมักจะถูกแปลเป็นชื่อภาษาไทยว่า โรคสมองพิการ ทำให้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าคนที่เป็นโรคนี้จะมีภาวะปัญญาอ่อน หรือพิการรุนแรงจนไม่สามารถทำอะไรได้
อย่างไรก็ดี โรคซีพีก็เหมือนกับหลายๆ โรคที่มีความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละบุคคล เด็กที่เป็นโรคซีพีบางคนอาจจะมีอาการรุนแรงและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ก็มีเด็กซีพีหลายคนที่สามารถเรียนหนังสือได้ดี หรือสามารถทำงานได้ พูดคุยได้ปกติ เพียงแต่ต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือในการเคลื่อนไหวเท่านั้น ดังนั้นในวันนี้เราจะมาทำความรู้โรคซีพีกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจโรคนี้กันอย่างถูกต้องนะครับ
โรคซีพี เกิดจากอันตรายใดๆ ก็ได้ที่เกิดขึ้นกับสมองในช่วงแรกของชีวิต คือเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่ยังอยู่ในท้องแม่ เช่น การติดเชื้อโรคในแม่ แล้วเชื้อโรคเข้าไปทำลายสมองที่กำลังสร้างของลูก หรือการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์สมองบางส่วนตายไป หรือเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการคลอด โดยเฉพาะภาวะขาดออกซิเจนระหว่างการคลอด หรือเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นานหลังจากเกิด โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด จนส่งผลให้วงจรประสาทที่มีการพัฒนาในช่วงเวลานั้นของเด็กถูกทำลาย
ในช่วงแรกๆ ของชีวิต วงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (motor system) จะมีการพัฒนามาก ทำให้ปัญหาหลักของเด็กซีพีจะเกิดกับการควบคุมกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว ซึ่งโดยมากจะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง (spasticity) อันจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวที่กระทำได้ยากขึ้น
เด็กซีพีจึงมักมีปัญหาในการชันคอ การทรงตัว การคว้าของ หรือการเปลี่ยนจากท่านอนมาเป็นท่านั่ง แต่ในเด็กซีพีบางรายอาจจะเป็นแบบกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือมีการเคลื่อนไหวผิดปกติที่ควบคุมไม่ได้ ก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ เนื่องจากปัญหาของซีพีเกิดจากรอยโรคในตัวเนื้อสมอง เด็กซีพีจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทางสมองอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคลมชัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กกลุ่มนี้ หรือมีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ เป็นต้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอาการของโรคซีพีจะเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านการเคลื่อนไหวเป็นหลัก โดยเฉพาะในส่วนของแขนขา เช่น การชันคอ การคว่ำหงาย การนั่ง หรือการหยิบจับสิ่งของ เป็นต้น แต่นอกจากกล้ามเนื้อแขนขาที่มีอาการเกร็งแล้ว ผู้ป่วยซีพีมักจะมีปัญหาของกล้ามเนื้อเล็กๆ ที่ช่วยในการกลืนด้วย จึงมักมีปัญหาสำลักได้บ่อย โดยเฉพาะกับอาหารเหลว รวมถึงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปอดอักเสบจากการสำลักอาหารด้วย
ดังนั้น หากเด็กซีพีคนใดที่มีปัญหาสำลักบ่อยๆ หรือมีปัญหาในการจัดการเสมหะ จะต้องได้รับการประเมินเรื่องความสามารถในการกลืนด้วยโดยในรายที่มีปัญหาในการกลืน แพทย์จะแนะนำให้กินอาหารทางสายยางแทน เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อภาวะสำลักอาหารเข้าปอดครับ
โรคซีพีไม่ใช่ภาวะปัญญาอ่อนหรือมีความบกพร่องในการเรียนรู้ ตัวโรคซีพีเกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในวงจรประสาทของการเคลื่อนไหว ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเรียนรู้หรือสติปัญญา เพียงแต่ในรายที่สมองได้รับอันตรายรุนแรง อาจจะทำให้เนื้อสมองเสียหายในวงกว้าง ซึ่งอาจจะไปโดนสมองส่วนการเรียนรู้และสติปัญญาได้ ดังนั้น หากรอยโรคในสมองเกิดเฉพาะวงจรประสาทของการเคลื่อนไหว เด็กซีพีคนนั้นก็จะมีการเรียนรู้และสติปัญญาเป็นปกติ แต่หากสมองได้รับความเสียหายมาก ก็จะทำให้เกิดภาวะบกพร่องด้านการเรียนรู้ร่วมด้วยได้ แต่ทั้งสองภาวะนี้ไม่ใช่ภาวะเดียวกัน
การดูแลเด็กซีพี จะเน้นที่การช่วยเหลือด้านการเคลื่อนไหว เพราะเนื่องจากวิทยาการในปัจจุบันยังไม่สามารถไปซ่อมแซมเนื้อสมองและวงจรประสาทส่วนที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาเป็นปกติได้ การรักษาจึงเป็นการกระตุ้นให้เซลล์ประสาทที่ยังทำงานได้ มาช่วยทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวแทนส่วนที่เสียหายไป
ดังนั้นการทำกายภาพบำบัดและการทำกิจกรรมบำบัดจึงมีความสำคัญในการดูแลเด็กกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก เพราะทุกๆ ครั้งของการเคลื่อนไหวแขนขาจะมีการส่งสัญญาณป้อนกลับไปกระตุ้นให้เซลล์ในสมองมีการเจริญเติบโตเสมอเด็กซีพีจึงควรได้รับการฝึกทั้งด้านกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการรักษาด้วยยาจะมีส่วนช่วยในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเป็นอย่างมากจนไม่สามารถฝึกได้ หรือเด็กที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ดี ยาที่ช่วยลดอาการกล้ามเนื้อเกร็งมักจะมีผลข้างเคียงเรื่องง่วง และทำให้เสมหะมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลเสียหากผู้ป่วยมีปัญหาในการกลืนและการจัดการเสมหะ การให้ยาจึงควรต้องระวังในประเด็นนี้ส่วนในรายที่พอจะเคลื่อนไหวได้บ้าง การช่วยเหลือโดยการใช้กายอุปกรณ์ต่างๆ จะมีส่วนสำคัญในการทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น
การป้องกันภาวะซีพี คือการดูแลระหว่างการตั้งครรภ์อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ การนับจำนวนครั้งการดิ้นของลูก การหลีกเลี่ยงการไปในแหล่งชุมชนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรค รวมถึงการป้องกันภาวะการคลอดก่อนกำหนด และควรจะรีบไปโรงพยาบาลหากมีอาการเจ็บท้องคลอดหรือมีน้ำเดิน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอด
สำหรับในรายที่มีอาการของซีพีแล้ว การรักษาเร็วตั้งแต่ช่วงวัยทารกหรือเด็กเล็กจะช่วยให้การฟื้นฟูสมองเกิดขึ้นได้ดีกว่าการรักษาที่เริ่มเมื่อตอนโต นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีวิทยาการใหม่ๆ ในการช่วยเหลือด้านการเคลื่อนไหวให้ผู้ป่วยเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการเคลื่อนไหว หรือเทคนิคการผ่าตัดต่างๆ เพื่อช่วยในการกระตุ้นสมองโดยตรง ซึ่งวิทยาการเหล่านี้โดยส่วนใหญ่แม้จะยังอยู่ในระดับการวิจัย แต่มีแนวโน้มที่ดีในการนำมาประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยซีพีในอนาคตอันใกล้นี้ครับ
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง