คำถามหนึ่งที่หมอได้รับบ่อยๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมเด็กก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับความกังวลว่าลูกจะเป็นโรคซนสมาธิสั้น หรือเปล่า และจะต้องกินยาไหม ดังนั้น เราจึงควรมาทำความรู้จักเจ้าโรคนี้กันดีกว่า เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้เข้าใจตัวโรคอย่างถูกต้อง
โรคซนสมาธิสั้น เป็นโรคพัฒนาการล่าช้าแบบหนึ่ง พอคุณพ่อคุณแม่อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงเกิดเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ในหัวว่า เอ๊ะ! แต่เด็กโรคซนสมาธิสั้นก็พูดได้ปกติ วิ่งเล่นได้ปกตินี่นา ทำให้หมอถึงบอกว่าโรคนี้เป็นโรคพัฒนาการช้าล่ะ คือแบบนี้ครับ
โรคซนสมาธิสั้นเป็นโรคพัฒนาการล่าช้าเฉพาะในส่วนของการควบคุมตัวเอง ซึ่งอยู่ภายใต้การทำงานของสมองส่วนหน้า (สมองส่วนฟรอนทัล) ดังนั้น เด็กที่เป็นโรคซนสมาธิสั้นจะมีพัฒนาการโดยรวมปกติดี บางรายอาจจะดีกว่าเกณฑ์ด้วยซ้ำ แต่ปัญหาจะอยู่ตรงคือ การที่ความสามารถในการควบคุมตัวเองยังพัฒนาได้ไม่ดี ทำให้...
เด็กซนสมาธิสั้น จะอดทนรอคอยไม่ได้ ชอบพูดแทรก ไม่ชอบเข้าคิว (หุนหันพลันแล่น)
เด็กซนสมาธิสั้น จะชอบเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง (ซน ไม่นิ่ง)
เด็กซนสมาธิสั้น จะสนใจหรือจดจ่อกับสิ่งกระตุ้นทั่วๆ ไป (ยกเว้นเล่มเกมส์) ได้ไม่นาน (สมาธิไม่ดี)
โดยการพัฒนาสมองส่วนหน้าจะเห็นได้ชัดในช่วงวัย 3-6 ปี ดังนั้นเราจึงมักจะเริ่มเห็นอาการของโรคซนสมาธิสั้นในช่วงนี้ และจะเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงวัยเรียน (6-12 ปี) ซึ่งเด็กส่วนใหญ่สามารถคุมตัวเองให้นั่งนิ่งๆ ที่โต๊ะเรียนและเรียนหนังสือได้ แต่เด็กที่เป็นโรคซนสมาธิสั้น จะทำไม่ได้ จึงมักจะแหย่เพื่อน นั่งเหม่อ หรือเดินไปมา ส่งผลให้ผลการเรียนไม่ดี เพราะไม่สามารถจดจ่อกับบทเรียนได้
คำถามสำคัญคือ แล้วเราจะบอกว่า เด็กคนไหนเป็นเด็กซนปกติหรือเป็น เด็กที่เป็นโรคซนสมาธิสั้น ได้อย่างไร คำตอบคือ มันมีประเด็นสำคัญในการแยก 2 ภาวะนี้อยู่ครับ
ประเด็นแรก คือ เด็กซนสมาธิสั้นเป็นปัญหาในการควบคุมตัวเอง ซึ่งเกิดจากสมอง ดังนั้นจะซนทุกที่ แต่เด็กซนปกติจะรู้ว่า ตรงไหนซนได้ ตรงไหนซนไม่ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เด็กซนปกติจะอยู่นิ่งๆ ก่อน แล้วค่อยซน แสดงว่าเค้าพอจะคุมตัวเองได้ระดับหนึ่ง
ประเด็นที่สอง คือ เด็กซนปกติแม้จะซน แต่พอคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูดุอย่างจริงจัง ก็มักจะควบคุมตัวเองได้ อย่างน้อยก็สักพักใหญ่ๆ แต่เด็กซนสมาธิสั้นจะคุมตัวเองได้น้อย จึงมักจะซนอีกหลังจากถูกดุไม่นาน
ประเด็นที่สาม เด็กซนสมาธิสั้นมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับสมาธิด้วย คือไม่สามารถจดจ่อกับบทเรียน หรือทำการบ้านให้เสร็จตามกำหนดได้ จึงส่งผลต่อผลการเรียน แต่เด็กซนปกติ จะยังสามารถจดจ่อกับงานที่ได้รับได้
ประเด็นที่สี่ โรคซนสมาธิสั้นเป็นโรคพัฒนาการล่าช้าในส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม ดังนั้นเด็กซนสมาธิสั้นจึงมีอาการซน ไม่นิ่ง ที่สังเกตเห็นได้ตั้งแต่เล็กๆ ไม่ใช่เป็นเด็กเรียบร้อยมาก่อนแล้วค่อยมามีปัญหาซน ไม่นิ่ง สมาธิไม่ดีตอนโต ซึ่งมักเกิดจากปัญหาในการเรียนหรือการเลี้ยงดูมากกว่า (เพียงแต่การบอกว่าเป็นโรคซนสมาธิสั้นในช่วงวัยเด็กเล็กจะทำได้ยาก เพราะโดยธรรมชาติของวัยนี้สมองส่วนหน้าจะยังพัฒนาไม่มาก เด็กทั่วๆ ไปจึงมักจะซนเหมือนๆ กัน ทำให้สังเกตความแตกต่างได้ยาก ยกเว้นผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็กจริงๆ อาจจะพอแยกได้)
ประเด็นสุดท้าย อาการของเด็กซนสมาธิสั้นจะมีเรื่องของ “ความหุนหันพลันแล่น” เข้ามาด้วย กล่าวคือเด็กกลุ่มนี้มักจะใจร้อน จึงมีปัญหากับเพื่อนๆ และครูได้บ่อย เช่น การแซงคิว ปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ฯลฯ โดยประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะเป็นจุดสำคัญที่เหล่าคุณหมอเด็กจะใช้ในการแยกเด็กซนสมาธิสั้น จากเด็กซนปกติครับ
กล่าวโดยสรุปคือ เด็กซนไม่ใช่เด็กซนสมาธิสั้นเสมอไป เพราะการซนถือเป็นธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็ก เพียงแต่การที่ความสามารถในการคุมตัวเอง หรือติดเบรคให้กับพฤติกรรมที่พัฒนาช้ากว่าเกณฑ์ จะทำให้เด็กซนสมาธิสั้น ไม่สามารถคุมตัวเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ จึงเกิดอาการซนในทุกที่ ซนในทุกสถานการณ์ ซนจนไม่สามารถทำงานต่างๆ ให้เสร็จตามเวลา ซนจนลืมสิ่งที่ได้มอบหมาย หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าบุตรหลานมีอาการดังกล่าว หมอแนะนำให้ไปพบคุณหมอที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนต่อไปครับ
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง